.
ความจนทำให้คนโง่ลง
วลีฮิตที่ว่า “โง่ จน เจ็บ” อาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไร
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางการเงินกับประสิทธิภาพด้านอื่นๆ
ในการใช้ชีวิต เช่น คนจนมีแนวโน้มตัดสินใจช้าและผิดพลาดมากกว่าคนรวย,
คนจนมักมีปัญหาในการจดจ่อกับงานและการรักษาเวลา เป็นต้น แต่เราก็ไม่แน่ใจนักว่า “ความโง่” กับ “ความจน”
อะไรมาก่อน-มาหลัง อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์
จาก University of Warwick, Harvard University, Princeton University,
และ University of British Columbia ได้เสนอหลักฐานสนับสนุนว่าความจนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนใช้ความคิดได้แย่ลง…
หรือจะให้ถูกก็ต้องเปลี่ยนเป็นว่า “จน โง่ เจ็บ” ไม่ใช่ “โง่ จน เจ็บ”
ในการทดลองแรก นักวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นลูกค้าที่มาจับจ่ายซื้อของจำนวนราว 400 คน
กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจัดเป็นกลุ่มที่มีสถานะการเงินปานกลางค่อนไปทางต่ำ
มีรายได้ต่อปี 20,000-70,000 เหรียญสหรัฐฯ ในชั้นแรกนักวิจัยเอาแบบทดสอบวัด IQ
ให้กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนทำก่อนเลย จากนั้น นักวิจัยจะบรรยานนำเสนอสถานการณ์สมมติ
ที่กลุ่มตัวอย่างจะต้องตัดสินใจต่อเหตุการณ์เสียเงินเสียทองระดับ “เสียมาก” หรือ “เสียน้อย”
เช่น เสียค่าซ่อมรถ 150 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น
ระหว่างที่กลุ่มตัวอย่างกำลังตัดสินใจ นักวิจัยก็จะให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบวัดระดับ IQ อีกอันไปด้วย
ผลปรากฏว่าขณะที่เจอกับสถานการณ์เสียเงินสมมติ กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบ IQ ได้คะแนนลดลง
โดยเฉพาะในกรณีของกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำและเจอเข้ากับสถานการณ์ “เสียมาก”
ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าคะแนน IQ ของกลุ่มนี้ลดลงไปถึง 13 คะแนน
เทียบเท่ากับการอดนอนหนึ่งคืนเต็มๆ เลยทีเดียว
และในอีกการทดลอง นักวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นชาวไร่อ้อยในอินเดียจำนวน 464 คน
นักวิจัยเอาแบบทดสอบ IQ และแบบทดสอบประสิทธิภาพความคิดต่างๆ ไปให้ชาวไร่ทำ
ครั้งหนึ่งทำก่อนการเก็บเกี่ยว อีกครั้งทำหลังเก็บเกี่ยว เนื่องจากแหล่งที่มาเกือบสองในสามของชาวไร่อ้อย
ได้มาจากการขายอ้อยซึ่งเก็บเกี่ยวกันปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้นสถานะทางการเงินของชาวไร่อ้อย
ในช่วงเวลาก่อนเก็บเกี่ยวกับช่วงหลังเก็บเกี่ยวจึงแตกต่างกันอย่างมาก ช่วงหลังการเก็บเกี่ยวใหม่ๆ
เป็นช่วงที่ชาวไร่มีเงินเยอะที่สุดในรอบปี ผลการทดลองที่ได้ปรากฏว่าคะแนน IQ
หลังการเก็บเกี่ยวสูงกว่าคะแนน IQ ที่ทำได้ก่อนการเก็บเกี่ยวมากถึง 9-10 คะแนน
ความเร็วในการตอบปัญหาเชาวน์ก็เร็วขึ้นด้วย
นักวิจัยเชื่อว่าสาเหตุของผลการทดลองนี้น่าจะมีที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า “Mental bandwidth”
นั่นคือสมองคนเราจะมีแบนด์วิดธ์จำกัด ในขณะที่เราต้องครุ่นคิดเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินตลอดเวลา
สมองก็จะไปเบียดบังดึงเอาประสิทธิภาพการประมวลผลจากการคิดในด้านอื่นๆ มาใช้
ฉะนั้นคนที่มีสถานะทางการเงินไม่มั่นคงจึงมีแนวโน้มที่จะรีดประสิทธิภาพสมองมาใช้ในด้านอื่นๆ ได้น้อยลง
ส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาด, คิดช้าลง, และ IQ ต่ำลง พอมั่งคั่งอู้ฟู่ขึ้น
สมองก็ปลอดโปร่ง คิดอะไรทำอะไรก็ง่ายก็ดีไปหมดงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Science DOI: 10.1126/science.1238041