หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: อวกาศน่ารู้ ตอน อุปราคา  (อ่าน 1260 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 20 กุมภาพันธ์ 2562, 09:43:10 PM »

Permalink: อวกาศน่ารู้ ตอน อุปราคา
....วันนี้เรามาต่อกันด้วยเรื่อง อุปราคา ที่เราค้างคากันไว้ครับผม....

....อุปราคา หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ดวงดาวโคจรเข้าไปในเงาของดาวดวงอื่นทำให้เกิดเงามืดชั่วคราว
 อุปราคาที่เรามองเห็นได้มี ๒ แบบ คือ

๑.สุริยุปราคา (Solar Eclipse หรือ Eclipses of sun)หรือเรียกว่า "สุริยคราส"เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อโลก
  ดวงจันทร์  และดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน  โดยมีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก
  เงาของดวงจันทร์ จะทอดยาวมายังโลก  ทำให้คนบนโลก(บริเวณที่มีเงาของดวงจันทร์)
มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง  หรือบางแห่งเห็นดวงอาทิตย์มืดหมดทั้งดวง
 ช่วงเวลาที่เกิดสุริยุปราคาจะกินเวลาไม่นานนัก  เช่น  เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘
ประเทศไทยสามารถมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้นาน ๓ ชั่วโมง นับตั้งแต่ดวงจันทร์
เริ่มเคลื่อนเข้าจนเคลื่อนออก(หลายๆท่านน่าจะได้ชมกันนะครับ)

....สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในเวลากลางวันและตรงกับ วันแรม ๑๕ ค่ำ หรือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เท่านั้น
 ตำแหน่งบนพื้นโลกที่อยู่ในเขตใต้เงามืดของดวงจันทร์จะมองเห็นดวงอาทิตย์มืดมิด
ทั้งดวงเรียกว่า "สุริยุปราคาเต็มดวง" ท้องฟ้าจะมืดไปชั่วขณะ  ในขณะที่ตำแหน่งบนพื้นโลก
ที่อยู่ภายใต้เขตเงามัวจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังไปบางส่วนเรียกว่า"สุริยุปราคาบางส่วน"
สำหรับการเกิดสุริยุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากกว่าปกติ
ทำให้เงามืดของดวงจันท์ทอดตัวไปไม่ถึงพื้นโลก
 
แต่ถ้าต่อขอบของเงามืดออกไปจนสัมผัสกับพื้นผิวโลกจะเกิดเป็นเขตเงามัวขึ้น  
ตำแหน่งที่อยู่ภายใต้เขตเงามัวนี้จะมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวนดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก
 แต่ที่เรามองเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้มิด  ก็เพราะดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์

สาเหตุการเกิดสุริยุปราคา
....สุริยุปราคาเกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาพื้นโลก
ทำให้พื้นที่บนโลกบริเวณใต้เงาของดวงจันทร์มืดลง เรียกกันง่ายๆว่า สุริยุปราคา
คือการที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่มาบังดวงอาทิตย์นั้นเอง จะเกิดเมื่อ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์
 โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน บนพื้นระนาบ (พื้นราบ) เดียวกัน โดยดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์

ประเภทของสุริยุปราคา
....ลักษณะเงาของดวงจันทร์ เนื่องจากดวงจันทร์เป็นวัตถุทึบแสงและมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก
 เมื่อมันโคจรมาบังแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะทำให้เกิดเงา ๒ ลักษณะคือ เงามืด (Umbra)
ซึ่งเป็นอาณาเขตที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึงผู้ที่อยู่ใต้เงามืดจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มืด
ไปทั้งดวงก็จะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง และ เงามัว (Penumbra) ซึ่งเป็นอาณาเขตที่
แสงอาทิตย์ส่งออกไปถึงได้บ้าง ผู้ที่อยู่ใต้เงามัวจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน
ก็จะเห็นสุริยุปราคาบางส่วน แต่ถ้าดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากกว่าปกติเงามืดจะทอดไปไม่ถึงโลก
คงมีแต่เงามัวเท่านั้น ดวงจันทร์จึงบังดวงอาทิตย์ไม่มิด คนที่อยู่ใต้เงามัวส่วนในจะเห็นดวงอาทิตย์เป็น
 รูปวงแหวน มีดวงจันทร์อยู่กลาง ก็จะเห็นสุริยุปราคาเป็นรูปวงแหวน

ซึ่งเราแบ่งสุริยุปราคาออกตามลักษณะการเกิดได้ ๓ ประเภท คือ
๑.) ถ้าเงาของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เห็นมืดเป็นบางส่วน จะเรียกว่า สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse)
๒.) ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง ซึ่งจะเกิดให้เราได้เห็นไม่บ่อยนัก และเกิดให้เห็นในระยะอันสั้น
เราเรียกว่า สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) โอกาสที่จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง
ให้เห็นได้นานที่สุดเท่าที่มีมา ไม่เคยถึง ๘ นาทีเลยสักครั้งเดียว
๓.) ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เฉพาะตรงกลาง ทำให้เกิดขอบแสงสว่างปรากฏออก
โดยรอบดุจมีวงแหวนล้อมรอบ ก็เรียกว่า สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse)

ปรากฏการณ์ที่เกิดจากสุริยุปราคา
....ก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้น
จะทำปฏิกิริยากับพื้นผิวของดวงจันทร์เกิดเป็นประกายแวววาวในรูปแบบต่างๆคือ
• ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily"s Beads) จะเกิดก่อนที่ดวงจันทร์
จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้น
จะส่องลอดผ่านบริเวณที่ลุ่ม ที่ต่ำ หุบเขา หุบเหวลึกบนพื้นผิวดวงจันทร์อันขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ
 ปรากฏเป็นประกายแวววาวเหมือนลูกปัดสีสวยสดใสที่เรียงร้อยกันล้อมรอบดวงจันทร์สวยงามมาก
เราเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ
 คือ ฟรานซิส เบลีย์ (Francis Baily) ซึ่งเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างถูกต้องเป็นคนแรก
เมื่อเกิดสุริยุปราคาวงแหวนเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ปี พ.ศ.๒๓๗๙

• ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) จะเกิดก่อนดวงอาทิตย์มืดหมดดวง
 ซึ่งดวงอาทิตย์จะปรากฏเป็นเสี้ยวเล็กมากๆ บรรยากาศของโลกจะส่งผลให้แสงจากดวงอาทิตย์
ที่ส่องมาจากเสี้ยวเล็กๆ นั้นมีการกระเพื่อม ซึ่งช่วงนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นริ้วเป็นแถบของการกระเพื่อม
ของแสงอันเนื่องมาจากบรรยากาศของโลกรบกวน เป็นแถบเงารูปคลื่นสีดำซึ่งจะทอดเป็นริ้วๆทั่วไป
เหมือนแสงสะท้อนจากผิวน้ำที่สะท้อนขึ้นไปบนเรือดูแปลกตามาก
จะเห็นได้ชัดเจนหากปูพื้นด้วยผ้าสีขาวกลางแจ้ง ผู้สังเกตพบเป็นคนแรก
คือ เอช. โกลด์ชมิดท์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศโลก
ไม่ได้เกี่ยวกับดวงจันทร์

• ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The diamond ring effect)
จะเกิดขึ้นเมื่อลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ลอดผ่านหลุมอุกกาบาตใหญ่บนดวงจันทร์ลงมา
ซึ่งจะเกิดก่อนและหลังการบังมืดหมดดวงประมาณ ๑๐ วินาที ปรากฏการณ์เป็นดวงสว่างจ้า
อยู่เพียงดวงเดียวบนขอบเสี้ยวของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับไป เป็นรูปคล้ายแหวนเพชรส่องประกายสวยงามมาก

๒.จันทรุปราคา (เรียกได้หลายอย่าง เช่น จันทรคราส, จันทรคาธ, ราหูอมจันทร์
หรือ กบกินเดือน) คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี
จันทรุปราคา จะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ปรากฏการณ์จันทรุปราคา
แม้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อในหลายวัฒนธรรมมาช้านาน
 รวมทั้งของไทยด้วย ซึ่งลักษณะของจันทรุปราคาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์ที่เคลื่อนที่
ผ่านเงาของโลกในเวลานั้นๆ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์จันทรุปราคา ไม่สามารถเกิดขึ้นทุกเดือน
 เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก
ไม่ใช่ระนาบเดียวกัน หากตัดกันเป็นมุม ๕ องศา ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคา
จึงมีเพียงประมาณปีละ ๑-๒ ครั้ง โดยที่สามารถมองเห็นจากประเทศไทย เพียงปีละครั้ง

ประเภทของจันทรุปราคา
....ประเภทของจันทรุปราคา มี ๔ ประเภท คือ
๑.) จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวง
เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก บางครั้งจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง หรือที่เรียกว่า "พระจันทร์สีเลือด"
การที่เรามองเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงมีสีดังสีเลือดก็เนื่องมาจากโลกมีบรรยากาศห่อหุ้มอยู่
เมื่อเงาดำของโลกทอดไปทับดวงจันทร์ บรรยากาศบางส่วนที่ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์
จะสะท้อนแสงไปยังเงาดำนั้นบ้าง จึงทำให้เกิดแสงสลัวๆ ปรากฏขึ้น
๒.) จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อบางส่วนของดวงจันทร์เฉี่ยวผ่านเงามัว
๓.) จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจร
ผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยมิได้เฉี่ยวกายเข้าไปในเงามืดแม้แต่น้อย ดวงจันทร์จึงยังคงมองเห็นเต็มดวงอยู่
แต่ความสว่างลดน้อยลง สีออกส้มแดง จันทรุปราคาชนิดนี้หาโอกาสดูได้ยาก
เพราะโดยทั่วไปดวงจันทร์มักจะผ่านเข้าไปในเงามืดด้วย
๔.) จันทรุปราคาเงามัวเต็มดวง เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามัวของโลก
ทั้งดวงแต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์ด้านที่อยู่ใกล้เงามืดมากกว่าจะมืดกว่าด้านที่อยู่ไกลออกไป
 จันทรุปราคาลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ปัจจัยในการเกิดจันทรุปราคา
....จันทรุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนื่องจากระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และระนาบการ
โคจรของดวงจันทร์รอบโลกทำมุมกัน 5 องศา ในการเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์จะต้องอยู่บริเวณจุดตัด
ของระนาบวงโคจรทั้งสอง และต้องอยู่ใกล้จุดตัดนั้นมาก จึงจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงหรือจันทรุปราคาบางส่วนได้
 
ลำดับการเกิดจันทรุปราคา
....จันทรุปราคาเต็มดวงจะเริ่มต้นด้วยจันทรุปราคาบางส่วนก่อนเช่นเดียวกับการเกิดสุริยุปราคา
คือเมื่อดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง ก็เรียกว่าเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
เมื่อดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด ดวงจันทร์ก็จะสว่างขึ้นทีละน้อยจนสว่างดังเดิม
 เมื่อดวงจันทร์ผ่านพ้นเงามืดของโลก ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงก็สิ้นสุดลง
 การสัมผัสของดวงจันทร์กับโลกในขณะเกิดจันทรุปราคา มี ๔ จังหวะด้วยกันคือ
• สัมผัสที่ ๑ (First contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืดของโลกครั้งแรก
เมื่อขอบตะวันออกของดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกจะเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะแหว่งและลดความสว่างลง
• สัมผัสที่ ๒ (Second Contact) ดวงจันทร์จะสัมผัสเงามืดของโลกครั้งที่ ๒
เป็นจังหวะที่ขอบตะวันตกของดวงจันทร์สัมผัสเงาโลก ในตำแหน่งเช่นนี้ดวงจันทร์ทั้งดวงจะอยู่ในเงามืดของโลก
จึงเป็นการเริ่มต้นเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะมืดลงมาก แต่ไม่ดำสนิท
การสัมผัสครั้งนี้จะกินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงจะเต็มดวง
• สัมผัสที่ ๓ (Third Contact) เป็นจุดที่ดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกเป็นครั้งที่ ๓
 จะเป็นการสิ้นสุดการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มมองเห็นขอบตะวันออกของดวงจันทร์สว่างขึ้น
กลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วน
• สัมผัสที่ ๔ (Fouth Contact) เป็นจุดสิ้นสุดของการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน
ดวงจันทร์จะผ่านพ้นเงามืดของโลกหมดดวง ดวงจันทร์จะสว่างขึ้นดังเดิม
....ระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์มีผลต่อความเข้มของจันทรุปราคาด้วย
นอกจากนี้ หากดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากโลกมากที่สุด (apogee)
จะทำให้ระยะเวลาในการเกิดจันทรุปราคานานขึ้น ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ
- ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เพราะตำแน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ช้าที่สุดตลอดการโคจรรอบโลก
- ดวงจันทร์ที่มองเห็นจากโลกจะมีขนาดเล็ก จะเคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกไปทีละน้อย ทำให้อยู่ในเงามืดนานขึ้น
....ในทุกๆ ปีจะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง หากเก็บสถิติการเกิดจันทรุปราคาแล้ว
จะสามารถทำนายวันเวลาในการเกิดจันทรุปราคาครั้งต่อไปได้ การสังเกตจันทรุปราคาแตกต่างจากสุริยุปราคา
 จันทรุปราคาส่วนใหญ่จะสามารถสังเกตได้จากบริเวณใดๆ บนโลกที่อยู่ในช่วงเวลากลางคืนขณะนั้น
 ขณะที่สุริยุปราคาจะสามารถสังเกตได้เพียงบริเวณเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งถ้าหากขึ้นไปยืนอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์
ขณะที่เกิดจันทรุปราคาบนโลก ก็จะสามารถเห็นการเกิดสุริยุปราคาบนดวงจันทร์ได้ในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากการที่โลกกำลังบังดวงอาทิตย์อยู่ในเวลานั้น....

ครั้งหน้าเราจะออกไปนอกระบบสุริยะกันครับผม....สวัสดีขอรับ....
บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: