-/> ของนี้มีที่มา ตอนที่ 7.2 ภาพยนตร์ในไทย

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 7.2 ภาพยนตร์ในไทย  (อ่าน 2360 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1677
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 08 พฤศจิกายน 2561, 09:34:10 PM »

Permalink: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 7.2 ภาพยนตร์ในไทย
....หลังจากเมื่อวาน ได้เล่าเรื่องภาพยนตร์ในไทยไปสามยุคแล้ว วันนี้เรามาต่อกันอีกสามยุคเลยครับผม....

ยุคที่ ๔ ภาพยนตร์ไทยกับการสะท้อนภาพสังคม (๒๕๑๖ - ๒๕๒๙)

....ในภาวะที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขันไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นต้นมาจนถึงราวปี พ.ศ.๒๕๒๙ มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมืองและสังคม ในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๒๙ โดยเฉพาะในปีพ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๕ นั้น เป็นช่วงที่หนังสะท้อนสังคมโดดเด่นที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่านี่คือยุคทองของหนังสะท้อนสังคม
....เมื่อ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุในปี พ.ศ.๒๕๑๓ และส่งผลให้หนัง ๑๖ มม. ถึงจุดจบตามไปด้วย เป็นช่วงเวลาที่กิจการสร้างหนังไทยกำลังเปลี่ยนทั้งระบบ จากการสร้างภาพยนตร์ ๑๖ มม. แบบพากย์สด ไปเป็นการสร้างภาพยนตร์ ๓๕ มม. แบบเสียงในฟิล์ม อันเป็นผลจากการตั้งเงื่อนไขในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยของรัฐบาล ในช่วงนั้นได้มีผู้กำกับหัวก้าวหน้าอย่าง "เปี๊ยก โปสเตอร์" ที่สร้าง "โทน" ด้วยระบบ ๓๕ มม. แม้ว่าเนื้อหาจะเน้นความบันเทิงเป็นหลัก ทว่าแฝงแรงบันดาลใจให้คนหลายคน โดยเฉพาะ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย และสักกะ จารุจินดา ทำหนังเชิงวิพากษ์สังคมก่อนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖
....ภาพยนตร์เรื่อง "เขาชื่อกานต์" มีปัญหากับเซ็นเซอร์ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างขึ้นมาพูดถึงระบบการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตรงซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าแตะต้อง ในระยะไล่เลี่ยกัน สักกะ จารุจินดา ได้นำ "ตลาดพรหมจารี" ออกฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากทั้งนักวิจารณ์และคนดูอย่างมากในเวลานั้น
....ในภาพยนตร์เรื่อง "เทพธิดาโรงแรม" ได้มีภาพส่วนหนึ่งเป็นภาพเหตุการณ์จริงในการเดินขบวน เมื่อเข้าฉายในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๗ เทพธิดาโรงแรม ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย หลังจากนั้น ท่านมุ้ยได้สร้างหนังออกมาอีกหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นหนังรักและหนังวิพากษ์สังคม อย่างเช่น "เทวดาเดินดิน" เป็นหนังอีกเรื่องที่เรียกได้ว่าสร้างขึ้นมาด้วยเจตจำนงที่จะวิพากษ์วิจารณ์สังคมเมื่อประชาธิปไตยเบ่งบานจนเฟ้อ หลังจากโศกนาฏกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผ่านไป บ้านเมืองกลับเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง เมื่อ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองไม่ผิดแผกจากยุคเผด็จการทหาร คนทำหนังส่วนใหญ่จึงต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ผู้สร้างหนังจำต้องยุติบทบาททางการเมืองของตนเองลงโดยปริยาย หนังที่ผลิตออกมาในช่วงนี้กลับสู่ความบันเทิงเต็มรูปแบบอีกครั้ง ส่วนใหญ่เป็นหนังตลกที่ครองตลาด ไม่ว่าจะเป็น "รักอุตลุด" หรือ "เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง" ของสมพงษ์ ตรีบุปผา
....ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ มีมาตรการขึ้นภาษีการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ จากเมตรละ ๒.๒๐ บาท เป็นเมตรละ ๓๐ บาท ส่งผลทำให้ผู้สั่งหนังเทศต้องชะลอการสั่งหนังลงชั่วคราว ในทางตรงกันข้ามกลุ่มผู้สร้างหนังไทยได้รับความคึกคักขึ้น ในช่วงเวลานี้เองมีการผลิตหนังไทยเพิ่มถึงปีละ ๑๖๐ เรื่อง ปี พ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๒๓ หนังสะท้อนสังคมโดยกลุ่มผู้สร้างที่เป็นคลื่นลูกใหม่ได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างมากมาย อาทิ "ครูบ้านนอก" ,"เทพธิดาบาร์ ๒๑","น้ำค้างหยดเดียว","เมืองขอทาน" ฯลฯ ในจำนวนนี้ "ครูบ้านนอก" ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด แม้กลุ่มนักแสดงจะเป็นคนหน้าใหม่แทบทั้งสิ้น....

ยุคที่ ๕ ภาพยนตร์ไทยในทศวรรษที่สามสิบ (๒๕๓๐ - ๒๕๓๙)

....ในช่วงต้นทศวรรษ วัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของคนทำหนังไทยตั้งแต่ราวปี พ.ศ.๒๕๓๑-๒๕๓๒ หลังความสำเร็จของ ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย, ปลื้ม ,ฉลุย และบุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ.๒๕๓๑) เรื่องหลังเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับรุ่นเดียวกับยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ บัณฑิตก็กลายเป็นคนทำหนังร่วมสมัยที่มีหนังทำเงินและหนังคุณภาพมากที่สุด ระหว่างปี ๒๕๓๑-๒๕๓๘ บัณฑิตทำหนังชุดบุญชูถึง ๖ เรื่อง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ "ไทเอนเตอร์เทนเมนท์" ประสบความสำเร็จกับภาพยนตร์เรื่อง "กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้"
....นอกจากหนังประเภทวัยรุ่นแล้ว ยังมีหนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ (เป็นแนวพิเศษที่แยกออกมาจากหนังชีวิต นิยมสร้างกันในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๕ โดยมีตลาดวิดีโอเป็นเป้าหมายหลัก) ส่วนใหญ่เป็นหนังเกรดบี หรือ หนังลงทุนต่ำของผู้สร้างรายเล็กๆ หนังที่โดดเด่นในบรรดาหนังเกรดบี คือ หนังผีในชุด"บ้านผีปอบ" ซึ่งสร้างติดต่อกันมากว่า ๑๐ ภาคในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๗ เหตุเพราะเป็นหนังลงทุนต่ำที่ทำกำไรดี โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด
....ในช่วงปลายทศวรรษ คนทำหนังไทยได้ปรับปรุงคุณภาพของงานสร้าง จนกระทั่งหนังไทยชั้นดีมีรูปลักษณ์ไม่ห่างจากหนังระดับมาตรฐานของฮ่องกง หรือ ฮอลลีวูดแต่จำนวนการสร้างหนังก็ลดลง จากที่เคยออกฉายมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ลดลงเหลือเพียงราว ๓๐ เรื่องในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ทางด้านรายได้ จากเพดานรายได้ จากระดับ ๒๐-๓๐ ล้านบาท (ต่อเรื่อง) ในระหว่างปี ๒๕๓๑-๒๕๓๔ สู่ระดับ ๕๐-๗๐ ล้านบาท ในระหว่างปี ๒๕๓๗-๒๕๔๐ แต่ยังห่างจากความสำเร็จของหนังฮอลลีวูดที่พุ่งผ่าน ๑๐๐ ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๓๙
....การเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ไทยนั้น มีผลจากการเติบโตของตลาดวิดีโอ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของหนังฮอลลีวูดและการปรับเปลี่ยนรูปแบบโรงหนังในกรุงเทพฯ สู่ระบบมัลติเพล็กซ์ ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ.๒๕๓๗ โรงหนังขนาดย่อยในห้างที่มีระบบเสียงและระบบการฉายทันสมัยเหล่านี้ นอกจากจะถูกสร้างให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนเมืองแล้ว ยังมุ่งรองรับหนังฮอลลีวูดเป็นหลัก ทำให้หนังไทยถูกลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ

ยุคที่ ๖ ภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน

....เมื่อเริ่มต้นทศวรรษใหม่ในปีพ.ศ.๒๕๔๐ ก็มีปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการหนังไทยอีกครั้ง นั่นคือความสำเร็จชนิดทำลายสถิติหนังไทยทุกเรื่อง ด้วยรายได้มากกว่า ๗๐ ล้านบาทจากหนังของไทเอ็นเตอร์เทนเมนท์ เรื่อง "๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง"
....ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๘ ทางด้านการทำรายได้มีการสร้างสถิติอย่างต่อเนื่อง ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล ๒๐ อันดับแรกล้วนอยู่ในช่วงปี ๒๕๔๐-๒๕๔๘ มีภาพยนตร์ไทย ๙ เรื่องสามารถทำรายได้มากกว่า ๑๐๐ ล้านบาท โดยภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท" (๒๕๔๔) รายได้ภายในประเทศกว่า ๗๐๐ ล้านบาท เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด "นางนาก" ที่ออกฉายต้นปี ๒๕๔๒ กวาดรายได้ไปถึง ๑๕๐ ล้านบาท "บางระจัน" ของ ธนิตย์ จิตต์นุกูล กวาดรายได้ ๑๕๐.๔ ล้าน "มือปืน/โลก/พระ/จัน" ของผู้กำกับฯ ยุทธเลิศ สิปปภาค ๑๒๐ ล้านบาท และ "สตรีเหล็ก" ของ ยงยุทธ ทองกองทุน ๙๙ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ถือเป็นปีทองที่น่าจดจำของวงการภาพยนตร์ไทย
....อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังเข้าไปสู่ยุคการแข่งขันที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นเป็นเพราะกระแสโลกที่เป็นตัวกำหนดรสนิยมของการดูภาพยนตร์ของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป พร้อมๆกับการเข้ามาของกลุ่มผู้กำกับฯ คลื่นลูกใหม่ ที่มีศิลปะในการจัดการทางด้านธุรกิจ การใช้สื่อโฆษณาทุกรูปแบบกระตุ้นผู้บริโภค แนวภาพยนตร์มีทั้งแนวอิงประวัติศาสตร์,ภาพยนตร์ตลก,ภาพยนตร์สยองขวัญ,ภาพยนตร์ที่สร้างให้เกิดกระแสสังคม,ภาพยนตร์ที่สะท้อนอุดมคติของความเป็นไทย ภายหลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ผู้คนเริ่มหันกลับมาค้นหาคุณค่าของความเป็นไทยด้วยความรู้สึกชาตินิยมจึงถูกปลุกขึ้นมาในช่วงนี้
....นอกจากนี้ ภาพยนตร์ไทยยังได้การยอมรับในต่างประเทศ ภาพยนตร์เรื่อง"ต้มยำกุ้ง" หรือ "The Protector" ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถขึ้นไปอยู่บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้ตีตลาดต่างประเทศ อย่างภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมล้มโต๊ะ, สุริโยไท, จัน ดารา, บางระจัน, ขวัญเรียม, นางนาก, สตรีเหล็ก, ฟ้าทะลายโจร, บางกอกแดนเจอรัส และ ๑๔ ตุลา สงครามประชาชน และมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในเทศกาลภาพยนตร์อย่าง "บางกอกแดนเจอรัส" (๒๕๔๓) ไปเปิดตัวที่งานเทศกาลหนังที่โทรอนโต หรือ เรื่อง"รักน้อยนิดมหาศาล" ของเป็นเอก รัตนเรือง และในปี ๒๕๕๐ ภาพยนตร์ในรูปแบบชายรักชายเรื่อง "เพื่อน...กูรักมึงว่ะ" โดยผู้กำกับ พจน์ อานนท์ คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ประเทศเบลเยียมมาได้
...ภาพยนตร์เรื่อง "พี่มาก..พระโขนง" ที่ออกฉายใน พ.ศ.๒๕๕๖ ปัจจุบันเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศ โดยทางจีทีเอช ผู้ผลิต ประมาณว่าภาพยนตร์ทำรายได้ทั่วประเทศ ๑,๐๐๐ ล้านบาท(ซึ่งปัจจุบันนี้ จีทีเอช ได้แตกแยกย่อยออกเป็นสามสาขาเรียบร้อยแล้ว)

....ก็จบแล้วนะครับ สำหรับประวัติภาพยนตร์ในไทย ส่วนตัวผมนี้ชอบหนังยุคที่สามและสี่ที่สุดแล้ว เพราะเป็นหนังที่ดูแล้วหาสาระได้มากกว่าสมัยนี้ แล้วท่านๆละครับชอบหนังยุคไหน ลองมาเล่ากันบ้างนะครับ สำหรับคราวหน้าจะหยิบเรื่องอะไรมาก็รอติดตามนะครับ สวัสดีครับ....
บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
ผู้บริหารเว็บ
คะแนนน้ำใจ 65535
เหรียญรางวัล:
PJ ดีเด่นนักอ่านยอดเยี่ยมผู้ดูแลเว็บ
กระทู้: 18,135
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สาวหวาน กับ ความฝันไม่รู้จบ "
   
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2561, 07:48:34 AM »

Permalink: Re: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 7.2 ภาพยนตร์ในไทย
พี่ว่ายุคปัจจุบัน มันเว่อร์ไป 
ไม่ธรรมชาตินะ  น้องเป้ว่าไหม
บันทึกการเข้า


♪♪♪ รวมบทกลอนน้องจ๋า คลิกค่ะ ...

ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจากYouTube
คะแนนน้ำใจ 1677
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« ตอบ #2 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2561, 07:53:50 AM »

Permalink: Re: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 7.2 ภาพยนตร์ในไทย
ใช่ครับ ผมมองคล้ายพี่จ๋าเลยละ....
บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: