หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก  (อ่าน 1872 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ดูแลเรื่องกฏหมายของเว็บ
คะแนนน้ำใจ 1010
กระทู้: 130
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« เมื่อ: 08 ธันวาคม 2558, 10:56:27 PM »

Permalink: การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก


       ศาลแพ่งมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ในคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยจัดนิติกรบริการ
ให้คำปรึกษาและทำคำร้อง ทั้งนี้ศาลแพ่งได้จัดตั้งคณะจัดการพิเศษ เพื่อนำคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกรณีที่ไม่มี ผู้คัดค้าน
 หรือไม่มีข้อพิพาทแยกมาพิจารณา ไต่สวนเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว
โดยผู้ร้องสามารถรับคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ภายใน วันไต่สวน

ความหมายของมรดก
       มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตายรวมทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ
 เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รถยนต์ ห้องชุด สิทธิการเช่าซื้อ ทรัพย์สินต่างๆ เงินฝากในธนาคาร ส่วนเงินบำเหน็จบำนาญ
 เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินประกันชีวิตของผู้ตายไม่เป็นมรดก

ความหมายของผู้จัดการมรดก
        ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก เพื่อทำหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี
 และแบ่ง มรดกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย

เหตุที่ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
      ๑. เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมสูญหายหรืออยู่ต่างประเทศ หรือเป็นผู้เยาว์
      ๒. เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทโดยธรรม ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจจัดการมรดก หรือมีเหตุขัดข้องในการ
จัดการมรดกหรือแบ่งมรดก
      ๓. เมื่อข้อกำหนดตามพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไม่มีผลบังคับ

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
      ๑. ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม
      ๒. ผู้มีส่วนได้เสียในมรดก
      ๓. พนักงานอัยการ

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก
      ๑. บรรลุนิติภาวะ ( มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ )
      ๒. ไม่เป็นคนวิกลจริต
      ๓. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
      ๔. ไม่เป็นคนล้มละลาย

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
       ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและ มีหน้าที่รวบรวมมรดก
เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหน ี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและทำรายการ
 แสดงบัญชีการจัดการและแบ่ง มรดก โดยต้องจัดการไปในทาง ที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็น ปรปักษ์ต่อมรดกไม่ได้
       หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่ แบ่งมรดกให้ทายาท
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ ศาลมีคำสั่ง ถอนผู้จัดการมรดก
เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่าง อื่นที่สมควรก็ได้

เขตอำนาจที่ศาลแพ่งให้บริการ

       การบริการให้คำปรึกษาและทำคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของศาลแพ่ง ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตาย
 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งขณะถึงแก่ความตาย หรือกรณีที่ผู้ตายไม่มีภูมิลำเนา ในประเทศไทย
แต่มีมรดกอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง ดังนี้คือ
๑. เขตจตุจักร                      
๒. เขตดอนเมือง                
๓. เขตดินแดง                  
๔. เขตดุสิต                      
๕. เขตบางกะปิ                  
๖. เขตบางเขน ( เฉพาะแขวงอนุสาวรีย์ )      
๗. เขตบางซื่อ          
๘. เขตบึงกุ่ม ( เฉพาะแขวงคลองกุ่ม ,นวลจันทร์, นวมินทร์)  
๙. เขตพญาไท
๑๐. เขตพระนคร
๑๑. เขตราชเทวี
๑๒. เขตลาดพร้าว ( เฉพาะแขวงลาดพร้าว )
๑๔. เขตสายไหม ( เฉพาะแขวงคลองถนน )
๑๓. เขตวังทองหลาง
๑๕. เขตหลักสี่
๑๖. เขตห้วยขวาง

วิธีการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
      ๑. ยื่นโดยทนายความ
      ๒. ยื่นโดยพนักงานอัยการ
      ๓. ยื่นโดยผู้ร้องมาใช้บริการที่งานจัดการมรดกศาลแพ่ง

ระยะเวลาในการดำเนินการ
      เมื่อทำคำร้องและยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แล้วจะนัดไต่สวนคำร้องประมาณ ๕๐ วัน
 ในวันนัดไต่สวนคำร้องใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที หลังจากไต่สวนคำร้องเสร็จ
ผู้ร้องสามารถขอคัดสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกและรับคำ สั่งดังกล่าวไปดำเนินการตามความประสงค์ได้ทันที

ลำดับคำถามในการไต่สวนคำร้อง      
      ๑. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย
      ๒. วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย สาเหตุการตาย และภูมิลำเนาของผู้ตาย
      ๓. มรดกของผู้ตาย
      ๔. เหตุขัดข้องในการจัดการมรดก
      ๕. บัญชีทายาท
      ๖. ความยินยอมของทายาท
      ๗. คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก

ค่าใช้จ่ายในการร้องขอจัดการมรดก
      ศาลแพ่งไม่คิดค่าใช้จ่ายในการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก และทำคำร้องขอตั้ง
ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด โดยผู้ร้องจะเสียค่าใช้จ่ายดังนี้
      ๑. ค่าใช้จ่ายในวันทำคำร้องและยื่นคำร้อง
            - ค่าขึ้นศาล จำนวน ๒๐๐ บาท
            - ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ จำนวน ๕๐๐ บาท
     ๒. ค่าใช้จ่ายในวันนัดไต่สวนคำร้อง
            - ค่าถ่ายเอกสารคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก หน้าละ ๒ บาท
            - ค่ารับรองสำเนาคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ฉบับละ ๕๐ บาท
        

การพิจารณาคดีจัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้าน
      การพิจารณาคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้านทุกเรื่องหรือไม่มีข้อพิพาท จะพิจารณาที่อาคาร
ศาลแพ่ง ชั้น๙ ห้องพิจารณาที่ ๙๐๖ และ ๙๐๗ เริ่มพิจารณาคดีตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา

ถานที่ติดต่อขอทำคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
      ผู้ร้องติดต่อขอคำปรึกษาและทำคำร้องผู้จัดการมรดกได้ที่ อาคารศาลแพ่ง ชั้น ๙ ห้อง ๙๐๑ ถนนรัชดาภิเษก
แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

การติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
      ผู้ร้องสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐- ๒๕๔๑ ๒๕๐๕
หรือ ๐ -๒๕๑๒ ๘๒๒๘ และ ๐- ๒๕๔๑ ๒๔๒๐ ถึง ๙ ต่อ ๑๙๑๕

เอกสารที่ใช้ร้องขอจัดการมรดก
๑ . กรณีบุตรกับบิดา / มารดา หรือบิดา / มารดากับบุตร
     ๑ . ๑ ใบสำคัญการสมรส หรือใบสำคัญการหย่าของบิดา มารดา ( กรณีสูญหายใช้ สำเนาทะเบียน สมรส
(ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๑)หรือ ข้อมูลทะเบียนครอบครัว (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๒ )
หรือ ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๓) หรือสำเนาทะเบียนการหย่า
 (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๔) ที่รับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแทน)

     ๑. ๒ สูติบัตรของบุตร ( กรณีสูญหายใช้สำเนาทะเบียนคนเกิด (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๕) หรือ
แบบรับรองรายการทะเบียนคนเกิด (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๖) ที่รับรองสำเนาถูกต้องโดย
เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแทน )หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบุตรที่มีเลขประจำตัวประชาชนของบิดา
หรือมารดา(ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๗)( กรณีไม่มีเลขประจำตัวของบิดาหรือมารดาให้ติดต่อ
สำนักงานเขตตามสำเนาทะเบียนบ้านของบุตรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้ หรือ
ทะเบียนการรับรองบุตร (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๘ ) หรือ ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๙)
      ๑.๓ บัตรประจำตัวของผู้ร้องและผู้ตาย
      ๑.๔ มรณบัตรของผู้ตายหรือ แบบรับรองรายการทะเบียนคนตายของผู้ตาย (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๑๐ )
      ๑. ๕ สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตาย หรือ แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ตามตัวอย่างเอกสาร หมายเลข ๑๑ )
      ๑. ๖ หลักฐานเกี่ยวกับมรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
เงินฝากในธนาคาร ปืน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หุ้น ( กรณีที่ดิน หรือห้องชุดสูญหายหรือจดทะเบียนจำนองไว้
ใช้สำเนาโฉนดที่ดินหรือสำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ รับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแทน )
สมุดคู่ฝากของธนาคาร คู่มือรายการจดทะเบียน รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
 ใบหุ้น ใบอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืน ( กรณีสูญหายใช้สำเนาที่รับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแทน)
      ๑. ๗ บัญชีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๑๒ )
      ๑.๘ หนังสือให้ความยินยอมของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวที่รับรอง
สำเนาทะเบียนบ้านที่รับรองสำเนาถูกต้องโดยทายาทดังกล่าว (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๑๓ )
 ( กรณีทายาทเป็นผู้เยาว์ใช้สูติบัตร )
      ๑.๙ มรณบัตรของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เช่น บิดา มารดา คู่สมรส บุตร
      ๑.๑๐ หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือชื่อสกุล ของผู้ร้อง หรือผู้ตาย หรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก

๒. กรณีคู่สมรส
      ๒. ๑ ใบสำคัญการสมรสของผู้ตาย (กรณีสูญหายใช้สำเนาทะเบียนสมรส (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๑) หรือ ข้อมูลทะเบียนครอบครัว (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๒ ) หรือ ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๓)
      ๒. ๒ เอกสารตามข้อ ๑.๓ ถึง ๑.๑๐

๓. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
      ๓.๑ สูติบัตรของผู้ร้องและผู้ตาย ( กรณีสูญหายใช้ สำเนาทะเบียนคนเกิด (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๕) หรือ แบบรับรองรายการทะเบียนคนเกิด (ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๖) ที่รับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแทน ) หรือ
      ๓. ๒ สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องและผู้ตายที่มีเลขประจำตัวประชาชนของบิดา และมารดา ( ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๗) ( กรณีไม่มีเลขประจำตัวให้ติดต่อสำนักงานเขตตามสำเนา ทะเบียนบ้านเพื่อระบุ )
      ๓.๓ เอกสารตามข้อ ๑.๓ ถึง ๑.๑๐

๔. ผู้รับพินัยกรรม หรือผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม
      ๔ . ๑ พินัยกรรม
      ๔ . ๒ เอกสารตามข้อ ๑.๓ ถึง ๑.๑๐

     หมายเหตุ เอกสารแนบท้ายทุกฉบับ ขอได้ที่สำนักงานเขตที่เอกสารนั้นอยู่

บันทึกการเข้า

ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ปล่อยวางบ้าง
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: