-/> เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @พุ่มพวง ดวงจันทร์

You are here: Khonphutorn.com - แหล่งข้อมูลของคนไทยหมวดความบันเทิงโคลง (ผู้ดูแล: ครภูธน®)เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @พุ่มพวง ดวงจันทร์
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 9   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @พุ่มพวง ดวงจันทร์  (อ่าน 24007 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #75 เมื่อ: 14 มีนาคม 2566, 09:08:02 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @วงเรนโบว์ ต้อมและเพื่อน









     ...”ความในใจ”สั่งไว้..........ฉันรอ   คอยนา
        “ขอแค่คิดถึง”พอ...........”ช้ำเพื่อ(รัก)”
        “ยังหวัง”ไม่พะนอ..........ซ่อนสาย   ตาแฮ
        “อย่าหวั่นใจ”รอเรื้อ....... ”เท่านั้นก็พอ”.....

   ..คอยรอ”(อยาก)ให้เป็นเช่น....วันก่อน”
     รวมกลุ่ม”เรนโบว์”วอน.........ต้อมเพื่อน
      เพลงเสริมส่งละคร.............เรียก(เจ้า)พ่อ  ฉายา
      เสียงเล่นลูกคอเลื้อน....... ...เด่นด้วยเพราะดี....

    ..กัดทันทีใช่”ขมิ้น................กับปูน”
      “คู่กรรม”รักดับสูญ..............ร้องคู่
      “รักฉัน(นั้น)เพื่อเธอ”ทูน.......หัวพี่    คอยเนา  
      เฉาเหี่ยวตายโลกรู้..............เช่น”บัวแล้งน้ำ”.....


    เรนโบว์ (อังกฤษ: Rainbow) เป็นวงดนตรีสตริงวัยรุ่นจากค่าย อาร์.เอส.โปรโมชั่น ที่ประสบความสำเร็จในช่วงยุค 80-90 วงเรนโบว์เริ่มขึ้นจากสมาชิกบางส่วนของวงอินทนิลได้แยกออกมาและก่อตั้งวงนี้ขึ้น หลังจากวงอินทนิลถูกยุบวงไปก่อนหน้านี้
    ออกอัลบั้มแรกในปี พ.ศ. 2528 วงเรนโบว์มีเพลงฮิตอย่าง ความในใจ, อยากให้รู้ใจ, ยังหวัง, อย่าหวั่นใจ, เท่านั้นก็พอ, เออ…ก็ใช่, เลิกง้อ (พอกันที), ตัดใจลา, สิ่งสุดท้าย, จดหมายฉบับสุดท้าย, ทั้งชีวิต, ความทรงจำ, ด้วยดวงใจ เป็นต้น

ประวัติ
   วงเรนโบว์เริ่มเกิดขึ้นมาจาก พีระพงษ์ พลชนะ (ต้อม) ร่วมกับ เรวัติ สระแก้ว (ป๋อง) และธีระศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ (อุ๋น) ได้เข้าเป็นสมาชิก วงอินทนิล วงดนตรีวงแรกของค่ายอาร์เอสซาวน์ ซึ่งได้เข้ามาแทนสมาชิกเก่า โดยพีระพงษ์ได้เข้ามาเป็นมือกีตาร์และร้องนำด้วยในภายหลัง ได้ทำอัลบั้มชุดที่ 4 ของวงอินทนิล "ขอรัก..อีกครั้ง" (2527) ซึ่งพีระพงษ์ เรวัติ ธีระศักดิ์ ได้ทำเพลงกับวงอินทนิลเพียงอัลบั้มเดียว และเป็นอัลบั้มสุดท้ายของวง

    ต่อมาวงอินทนิลประกาศยุบวงในปี พ.ศ. 2528 แต่ไม่ได้สลายตัว สมาชิกที่เหลืออยู่ อันได้แก่ พีระพงษ์ เรวัติ ธีระศักดิ์ และ ทวี ศรีประดิษฐ์ (อ๊อด) (หัวหน้าวงอินทนิล) ได้แยกออกมาตั้งวงใหม่ขึ้นในปีนั้น ร่วมกับสมาชิกใหม่อีกสองคนคือ อัมพร ชาวเวียง (พร) จากวงแฟนนาติกและสเตริโอ และ สุชาติ จันทร์ต้น (อี๊ด) รวมเป็น 6 คน จึงได้ก่อตั้งวงใหม่ขึ้นและเปลี่ยนชื่อวงเป็น "เรนโบว์" โดยสังกัดค่ายเดิม

   โดยในตอนแรกทางวงจะตั้งชื่อเป็น "สายรุ้ง" แต่ในสมัยนั้นนิยมตั้งชื่อวงดนตรีเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบกับต้อม (พีระพงษ์) นั้นชื่นชอบ ริทชี แบล็กมอร์ มือกีตาร์วงเรนโบว์ ของประเทศอังกฤษ จึงเปลี่ยนชื่อวงเป็น "เรนโบว์"

    ความแตกต่างของวงเรนโบว์ต่อวงสตริงอื่นๆนั่นคือการนำเสนอภาพลักษณ์ของต้อมหรือพีระพงษ์ที่วางตำแหน่งต่างออกไปและโดดเด่นมากกว่าสมาชิกวงคนอื่น ทั้งการแต่งกายและการจัดตำแหน่งเวลาถ่ายรูป (ต้อมมักจะอยู่ข้างหน้าหรือถ่ายรูปเดี่ยวเสมอ) เนื่องด้วยทางอาร์เอสต้องการปรับตำแหน่งของวงให้มีความแตกต่างจากวงสตริงวงอื่นในค่ายโดยใช้ระบบ สมาชิกคนหนึ่งเป็นตัวศูนย์กลางทุกอย่างของวง ในการนำเสนอ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวงวิงส์ (Wings) ของพอล แม็กคาร์ตนีย์ ซึ่งแม้จะมีสมาชิกโดดเด่นขึ้นมาหนึ่งคนแต่ทุกคนก็รวมกลุ่มในการเป็นวงดนตรี

   วงเรนโบว์มีผลงานชุดแรกคือ ช้ำเพื่อรัก (2529) ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักก็คือ "ลาจากเธอ" และ "ช้ำเพื่อรัก"

    และโด่งดังอย่างสุดขีดในชุดที่ 2 คือ ความในใจ (2529) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงจากบทเพลง "ความในใจ" ซึ่งว่ากันว่าสามารถทำยอดขายได้เกินล้านตลับ ในชุดนี้ยังมีเพลงดังอื่น ๆ อีก เช่น "เลิกง้อ (พอกันที)" "อย่าหวั่นใจ" "ละครเศร้า" ฯลฯ

    และมาต่อยอดความดังจากชุดที่ 3 คือ ด้วยดวงใจ (2530) ซึ่งมีเพลงที่โด่งดังเช่น จม.ฉบับสุดท้าย, คนละเส้นทาง, ด้วยดวงใจ, ความทรงจำ ฯลฯ

    ชุดที่ 4 ด้วยแรงรัก (2530) มีเพลงฮิต เช่น เออ.ก็ใช่, อยากให้เป็นเช่นวันก่อน, วันสุดท้าย, ในฝัน ฯลฯ

    ชุดที่ 5 "รอบใหม่ (2531) มีเพลงสุดฮิตอย่าง อยากให้รู้ใจ (ติดชาร์ตเพลงฮิตอันดับ 1 ของประเทศในรายการ โค้กมิวสิคอะวอร์ด ถึง 2 เดือนซ้อน), ขอแค่คิดถึง, รักหนอรัก ฯลฯ

   ชุดที่ 6 เพื่อนคนเก่า (2532) มีเพลงที่โด่งดัง เช่น ยังหวัง, แรงใจ, เพื่อนคนเก่า, นายยอดชาย ฯลฯ

   ชุดที่ 7 ลัดฟ้ามากับรุ้ง (2533) มีเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักเช่น เท่านั้นก็พอ, รุ้ง, หัวใจไม่จน, และมีเพลงที่สมาชิกในวงร้องร่วมกันทั้งหมดคือเพลง "เพื่อน" ฯลฯ

   ชุดที่ 8 เมื่อความรักเดินทาง (2534) มีเพลงฮิต เช่น

ทั้งชีวิต (ซึ่งมิวสิควีดีโอเพลงนี้ ได้ ปู - วิชชุดา สวนสุวรรณ นางเอกดาวรุ่งของช่อง 7 สีมาแสดง เป็นมิวสิควีดีโอ 1 ใน 2 เพลงของเธอก่อนจะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในเวลาต่อมา - อีกเพลงคือ รักจางที่บางปะกง ของ กุ้ง ตวงสิทธิ์)

และเพลงอื่น ๆ อย่าง ไม่พูดไม่จา, เสียดาย, เก็บใจไว้ดู ฯลฯ

และยังมีเพลงพิเศษอื่น ๆ ที่ถูกรวมไว้ในอัลบั้มรวมฮิตต่าง ๆ เช่น ขอรักอีกครั้ง (นำเอาเพลงเก่าจากวง อินทนิล มาร้องอีกครั้ง), รักฉันสักนิด, รอคอย, หากรู้มาก่อน, ใจเดียว ฯลฯ

    ภายหลังได้มีอัลบั้มพิเศษโดยนำเพลงมาขับร้องใหม่เช่นชุด เรนโบว์พิเศษ ระคนละคร (2534) ที่มีเพลงประกอบละครหลายเรื่อง อาทิเช่น ขมิ้นกับปูน, มณีร้าว, คู่กรรม, กนกลายโบตั๋น, บัวแล้งน้ำ, พิษสวาท ฯลฯ

และยังได้ออกอัลบั้ม เรนโบว์ ข้ามเวลา 1, 2, 3 และ รวมฮิตข้ามเวลา (2535,2536) โดยนำเพลงที่เคยโด่งดังในอดีตจากวงชาตรี, แกรนด์เอ็กซ์, อรรถพล ประเสริฐยิ่ง, สุชาติ ชวางกูร, ดนุพล แก้วกาญจน์ ฯลฯ มาร้องใหม่ ได้แก่ รักฉันนั้นเพื่อเธอ, อธิษฐานรัก, ยากยิ่งนัก, ที่สุดของหัวใจ, รักในซีเมเจอร์, ลมหายใจของความคิดถึง, รักครั้งแรก, แสนรัก, ดั่งเม็ดทราย, เหมันต์ที่ผ่านไป, สัญญาใจ, วันวานยังหวานอยู่ ฯลฯ

ต้อม เรนโบว์ ถูกจัดได้ว่าเป็นเจ้าพ่อเพลงละคร (คู่บุญกับ ชมพู ฟรุ๊ตตี้ ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลง) โดยที่ได้ร้องเพลงประกอบละครที่ดัง ๆ และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น คู่กรรม (ร้องคู่กับ กวาง กมลชนก โกมลฐิติ), ขมิ้นกับปูน (เพลงนี้ ต้อม เรนโบว์ เป็นผู้ประพันธ์เพลงเอง และยังได้รับรางวัลเพลงประกอบละครดีเด่นในปีนั้นด้วย), ความรักไม่มีวันละลาย (เพลงประกอบละคร "สายโลหิต" ร้องคู่กับ จิณณา เชิญพิพัฒนสกุล), น้ำเซาะทราย, พรหมไม่ได้ลิขิต, พิษพยาบาท, ฝันร้าย (ประกอบละคร มัจจุราชสีน้ำผึ้ง) ฯลฯ

   ต้อม เรนโบว์นอกจากจะร้องทั้งเพลง สตริง,สุนทาภรณ์และลูกกรุงแล้ว เพลงลูกทุ่งก็ประสบความสำเร็จอีกเหมือนกัน มียอดขายเกินล้านตลับ ในสมัยที่วงการเพลงลูกทุ่งกำลังซบเซาอย่างหนัก โดยช่วงแรกต้อมนำเพลงเก่ามาขับร้องใหม่ชื่อชุด ต้อม ขนานเอก เพลงสามัญประจำบ้าน มีทั้งหมด 10 ชุด ร้อยกว่าเพลง เช่น มนต์รักแม่กลอง, ลารักจากสวนแตง, โชคดีที่รัก, ไอ้หนุ่มชุมพร, หนาวลมที่เรณู, ตะวันรอนที่หนองหาร, แม่สื่อแม่ชัก, ข้าด้อยเพียงดิน ฯลฯ และอัลบั้มเดี่ยวลูกทุ่ง ชุด ยังงี้ต้องรักแล้ว(ตื้ด ตื้ด), อมตะสุนทราภรณ์, หลังจากนั้น ในยุคหลัง ๆ มีอัลบั้มเพลงคู่กับ "ปุ้ย จิตสุดา" อาทิ ชุด เพลงรักคู่ใจ 1-2, คู่รักรวมดาว 1-2, อัลบั้มเดี่ยว อดีตรัก, ต่างเวลา 1และ2
     ต่อมา ต้อม เรนโบว์ ได้เดินทางไปอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และออกอัลบั้มเพลงลาว โดยอัดเสียงทฝรั่งเศส มีเพลงที่ดังคือ ภาพแห่งความหลัง ฯลฯ และปัจจุบันกลับมาอยู่ที่เมืองไทยเป็นการถาวร พร้อมทั้งเปิดร้านอาหารชื่อว่า ร้าน Tom's Home Pub & Bistro

สมาชิกวงเรนโบว์
พีระพงษ์ พลชนะ (ต้อม) = ร้องนำ กีต้าร์ เกิด 24 สิงหาคม พ.ศ. 2509
เรวัติ สระแก้ว (ป๋อง) = กีต้าร์ คีย์บอร์ด ร้องนำ เกิด 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2505
ธีระศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ (อุ๋น) = คีย์บอร์ด ร้องนำ เกิด 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2504
สุชาติ จันทร์ต้น (อี๊ด) = กีต้าร์ ร้องนำ (2528-2538)
อัมพร ชาวเวียง (พร) = เบส (2528-2538)
ทวี ศรีประดิษฐ์ (อ๊อด) = หัวหน้าวง กลอง คีย์บอร์ด ร้องนำ เกิด 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)


บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #76 เมื่อ: 15 มีนาคม 2566, 10:51:00 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @ดำรง วงศ์ทอง














....”(โปรด)พิจารณา”สี่ห้อง.......หัวใจ    พี่นา
     ว่า“ยังรักเสมอ”ไหม...........แม้พ่าย
     “ตำนานบ้านนา”ไส............เธอแต่ง   เขาแน
    “หนุ่มนาสัญญา(รัก)”หม้าย....บ่าว”กำพร้าเมีย”...

....แสนเพลีย”สวย(ดี)แต่ขี้........โกหก”
   “ดำรง วงศ์ทอง” ตก.............แต่งร้อง
   “(จง)เก็บใจรอ”พี่พก............”รัก(เธอ)เท่า  ฟ้า”นา
   “หนุ่มราชภัฎ”รักน้อง.............แก้มป่องศิลปากร....

....วร”(ผู้)หญิงคนสุดท้าย”.........ขอรัก   แท้นา
    “เดือนครึ่งดวง”ดาวจัก...........แจ่มฟ้า
    “แฟนมี(แฟน)ใหม่เขาหัก.......อกพี่    เกือบตาย
      “สุนัขในรางหญ้า"...............ได้โล่รางวัล....

....”ดำรงฯ”ผันร่ายร้อง..............ตอบแทน  คุณแน
    เพลงเก่าเพราะมากแสน.........ร้องใหม่
   “หนาวลมที่(เรณู)”กอดแฟน.....แสนอุ่น  จริงนา
      “ถึงชั่วก็รัก” ไหว้................."ไอ้หนุ่มตังเก”....


ดำรงค์ วงศ์ทอง เป็นนักร้องลูกทุ่งร่วมสมัย ที่มีน้ำเสียงไพเราะ เขามีผลงานเพลงออกมาเป็นระยะ และได้รับความนิยมจากแฟนเพลงในระดับที่น่าพอใจเสมอมา นับตั้งแต่เข้าสู่วงการ

ประวัติ
   ดำรงค์ วงศ์ทอง เกิดเมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2508 ดำรงค์ชื่นชอบการร้องเพลงอย่างมาก และเมื่อได้รับแรงเชียร์จากเพื่อน ทำให้ได้ไปร้องเพลงหน้าชั้น และในที่สุดก็ได้ร้องเพลงในงานกิจกรรมของโรงเรียน หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย และผิดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ดำรงสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่มาศึกษาเอาเองอยู่ที่บ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ต่อมาได้สมัครเข้าเป็นนักร้องในวงดนตรีของญาติ ที่รับแสดงตามงานเลี้ยงต่างๆ ตอนแรกได้ร้องคืนละเพลง และได้ค่าร้องเพลงละ 50 บาท ต่อมาก็ได้ร้องมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแฟนเพลงกลุ่มเล็กๆคอยติดตามผลงานการร้อง

   ดำรงค์ เล่าไว้ในรายการ บุปผาฯแฟนคลับว่า"ผมอยากเป็นนักร้องมาก ก็พยายามหัดร้องเพลง ช่วงนั้นผมก็ได้เป็นนักร้องอยู่ในวงเล็กๆ รับเล่นตามงานต่างๆ ทั้งงานบวช งานแต่ง เรียกว่ามีจ้างเล่นงานอะไรก็รับหมด ร้องได้ทุกสไตล์ ก็ร้องเพลงมาเรื่อยๆ "

   ต่อมางานเริ่มลดลง ดำรงค์หันมาทำงานที่สวนอาหาร และโรงงานหีบอ้อย จากนั้น พ่อได้ฝากเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาย่อยห้วยกระบอกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ขับรถขนส่งเงิน ขณะเดียวกันก็รับร้องเพลงตามงานเลี้ยงไปด้วย

   ดำรงค์เล่าว่า "ตอนได้ทำงานธนาคาร ผมก็อัดเสียงร้องของตัวเองไว้ แล้วก็เปิดฟังในรถ พอเพื่อนมาได้ยินก็ขอซื้อ ตอนแรกผมจะไม่ขาย แต่เพื่อนก็อยากได้ เขาชอบ ผมก็เลยขายให้ แล้วด้วยความที่บอกกันปากต่อปาก ก็มีคนมาขอซื้อเทปจากผมอีก ขายได้ประมาณ 10-20 ตลับ "


   จนมาวันหนึ่ง ดำรงค์ได้นำเทปที่เขาอัดไว้มาเปิดฟังเล่นที่ธนาคาร บังเอิญญาติท่านหนึ่งของ อ.ชลธี ธารทองนักแต่งเพลงชื่อดังมาได้ยินเข้า จึงนำเทปไปให้ อ. ชลธี หลังจากได้ฟังเสียงก็เกิดสนใจ จึงให้คนมาตามตัว หลังได้ฟังเสียงสดๆก็ตัดสินใจรับเขาเข้าเป็นศิษย์ และได้พาเข้ามาเป็นนักร้องในสังกัด ชัวร์ออดิโอ เป็นระยะเวลาหลายปี หลังจากหมดสัญญากับสังกัดชัวร์แล้ว ในปัจจุบันดำรงค์ วงศ์ทอง ยังมีผลงานออกมากับสังกัดค่ายชวนชม โปรโมชั่น และยังมีผลงานให้ได้ติดตามอยู่เรื่อยๆ

รายชื่ออัลบั้ม (ผลงานเดี่ยว)
ยังรักเสมอ   มิถุนายน พ.ศ. 2538   
ไม่รักไม่ว่า   มิถุนายน พ.ศ. 2540   
โปรดพิจารณา   กันยายน พ.ศ. 2542   
จงเก็บใจรอ   ตุลาคม พ.ศ. 2543   
หนุ่มราชภัฏ   มิถุนายน พ.ศ. 2544   
เสน่ห์หนุ่ม   ตุลาคม พ.ศ. 2546   
เพลงเอก   สิงหาคม พ.ศ. 2547   
ผู้หญิงคนสุดท้าย   กันยายน พ.ศ. 2548
   
รายชื่ออัลบั้ม (ผลงานกลุ่ม)
ชัวร์ชะชะช่า ชุดที่ 1 (ธ.ค. 44)
ชัวร์ชะชะช่า ชุดที่ 2 (ธ.ค. 44)
ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ,เกษม คมสันต์ , สำราญ บุญลาภ ,ฝน ธนสุนทร , อัมพร แหวนเพชร และ บุญตา เมืองใหม่

ชัวร์ชะชะช่า ชุดที่ 3 (ต.ค. 45)
ชัวร์ชะชะช่า ชุดที่ 4 (ต.ค. 45)
ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย , เกษม คมสันต์ , สมชาย ไทรงาม , ฝน ธนสุนทร , อัมพร แหวนเพชร , บุญตา เมืองใหม่ และ แอร์ สุชาวดี

เพลินเพลง "วัฒนธรรม" (ธ.ค. 45) ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, ฝน ธนสุนทร, เท่ห์ อุเทน, นคร ถนอมทรัพย์, ศรวณี โพธิเทพ, ผุสดี เอื้อเฟื้อ, ศรีสุภางค์ อินทร์ไทร, ฮอทเปปเปอร์, กังวาลไพร ลูกเพชร, จันทร์จวง ดวงจันทร์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, รุ่ง สุริยา , เพลิน พรหมแดน, สุรชัย สมบัติเจริญ, ธีรนัยน์ ณ หนองคาย, อมร มงคล
จดหมายรักจากชัวร์ (ส.ค. 46) ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย , เกษม คมสันต์ , สมชาย ไทรงาม , ฝน ธนสุนทร , บุญตา เมืองใหม่ และ แอร์ สุชาวดี
โอเค ลูกทุ่ง (ต.ค. 2549) ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย และ เกษม คมสันต์
ลูกทุ่งซูเปอร์โชว์ (ต.ค. 2549) ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, ไมค์ ภิรมย์พร, พี สะเดิด, ไผ่ พงศธร, ฝน ธนสุนทร, ต่าย อรทัย และ บุญตา เมืองใหม่
ทัวร์ชมทุ่ง (ก.พ. 50) ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย
กล่อมเมือง (ต.ค. 50) ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย
เพลงเพื่อการประชาสัมพันธ์ (มิ.ย. 53) ร่วมกับ ไก่ ไอดิน, เสกสรร นาควงศ์, ภูมิ ไพรวัลย์, แตงโม โสทิญา, เสรี รุ่งสว่าง และ โก้ มิสเตอร์แซกแมน
สามทโมน (พ.ย.63) ร่วมกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย และ เกษม คมสันต์
รายชื่ออัลบั้ม (ผลงานเพลงคู่)
เกี่ยวก้อย (ส.ค. 41)ร่วมกับ เกษม คมสันต์ มนต์สิทธิ คำสร้อย และ ฝน ธนสุนทร

รายชื่ออัลบั้ม (ผลงานรวมฮิต)
รวมฮิต 14 เพลงหวานๆ ดำรงค์ วงศ์ทอง (พ.ค. 43)

เพลงพิเศษ
เพลง "พุทธานุภาพ" (2545)
เพลง "ทำดีเพื่อซับเหงื่อพ่อ" (2559)
เพลง "ฟ้าร้องไห้" (2559)
เพลง "คำพ่อสอน" (2559)

ผลงานเพลงดัง
    ....โปรดพิจารณา....เดือนครึ่งดวง...นางสาวเฮเลน...ไม่รักไม่ว่า...จงเก็บใจรอ...จากใจผู้แพ้...ตำนานบ้านนา...หนุ่มราชภัฏ....01...ทหารก็มีหัวใจ...ผู้หญิงคนสุดท้าย...อกหักมารักกัน...สุนัขในรางหญ้า

ผลงานการแสดงภาพยนตร์
มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2545) รับบท ดำรง
รวมพลคนลูกทุ่งเงินล้าน (2556) รับบท ดำรง (รับเชิญ)

คอนเสิร์ต
คอนเสิร์ต ถูกใจคนไทย ร่วมใจใช้สินค้าถูกกฎหมาย (สิงหาคม 2545)
คอนเสิร์ต M-150 แรงงานไทยใจเกินร้อย (พฤษภาคม 2548)
คอนเสิร์ต Pattaya International Music Festival 2006 (มีนาคม 2549)
คอนเสิร์ต เพื่อนช่วยเพื่อน ยอดรัก สลักใจ (สิงหาคม 2551)
คอนเสิร์ต รำลึก 20 ปี ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ (มิถุนายน 2555)
คอนเสิร์ต รำลึก 5 ปี ยอดรัก สลักใจ (ตุลาคม 2556)
คอนเสิร์ต คืนความสุขให้คนในชาติ (กันยายน 2557)
คอนเสิร์ต 78 ปี ตำนานแห่งสายน้ำ ครูชลธี ธารทอง (พฤษภาคม 2558)
คอนเสิร์ต ลูกทุ่งเพื่อแผ่นดิน (กันยายน 2558)
คอนเสิร์ต 84 ปี ปรางทิพย์ บรรลือฤทธิ์ (ตุลาคม 2563)
คอนเสิร์ต อาลัยพ่อเพลงแห่งแผ่นดิน พ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ (พฤษภาคม 2565)
คอนเสิร์ต ครบรอบ 1 ปี ศรเพชร ศรสุพรรณ (มกราคม 2566)
คอนเสิร์ต ครบรอบ 1 ปี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ (มกราคม 2566)

เกียรติยศ
   -เพลงตำนานบ้านนา ที่ดำรงค์ วงศ์ทอง ขับร้อง และประพันธ์โดย มนัส อาจสกุล คว้ารางวัล เพลงยอดเยี่ยม และคำร้องยอดเยี่ยม สตาร์อวอร์ดส์ ของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง 2545
   -เพลง "สุนัขในรางหญ้า" ของที่ดำรงค์ วงศ์ทอง ขับร้อง และประพันธ์ โดย วิเชียร คำเจริญ หรือ "อ.ลพ บุรีรัตน์" ได้รับรางวัลมาลัยทอง โดยการจัดขึ้นของ ลูกทุ่งเอฟเอ็ม ประจำปี 2548 ประเภทเพลงยอดเยี่ยม และทำนองยอดเยี่ยม



บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #77 เมื่อ: 17 มีนาคม 2566, 12:53:21 AM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ




















....สืบสานต่อยอดไว้.........ของดี
    เป็นหนึ่งของชีวี...........ผ่อนผ้า
    อีสานถิ่นวิถี................มัดหมี่    สวยนา
    คุณแม่”คำปุนฯ”จ้า........ชื่อก้องดังไกล....

....ใยไหมเกิดแต่ได้...........หนอนไหม
    ปลูกหม่อนเกิดงานใน......ท้องถิ่น
    หนอนกินหม่อนชักใย.......ก่อ”ดัก   แด้”นา
    มาต่อสาวสายดิ้น...........เป่งเส้นไหมไทย....

....สนใจเห็นแม่ได้..............ถักทอ
    ขอเล่นฝึกฝนพอ.............เริ่มได้
    หัดมัดหมี่เตรียมรอ...........เปลี่ยนสี  ย้อมแน
    แบบร่างลวดลายไว้..........ผ้าซิ่นผืนงาม....

....ความรักชอบช่วยให้..........พากเพียร
    วันเปลี่ยนฝีมือเนียน..........เก่งได้
     มอปลายจบต่อเรียน.........ที่มอ   รามนา
     จบเป่ง”สจ๊วต”ไซร้..........อยู่ได้เจ็ดปี....

....คนดีนี้นามว่า..................”มีชัย(แต้สุจริยา)”
    สืบต่อศิลปะใน................ผ้าไหม
    ศิลปินแห่งชาติไทย...........มัดหมี่     ทอผ้า
    ร่างแบบลายทอไว้............ชื่อ”ผ้ากาบบัว"....

....เมืองดอกบัวแม่น้ำ.............สองสี
    เชิญเยี่ยมชมของดี.............แหล่งพร้อม
    ที่"พิพิธภัณฑ์(บ้านคำปุน)”มี....เรื่องราว   ดีงาม
    หม่อนไหมมัดฟอกย้อม.......ซิ่นเสื้อไหมไทย....


นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ ผู้หลงใหลในศิลปะการทอผ้ามาตั้งแต่วัยเยาว์และเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นของจริง เนื่องจากได้เดินตามรอยบรรพบุรุษในการอนุรักษ์ สืบสาน ภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองของชาวอุบล บุตรชายของนางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) พุทธศักราช ๒๕๖๑
 
     นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พุทธศักราช ๒๕๖๔ เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ – ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗ ภายหลังสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่บริษัทการบินไทยในตำแหน่งพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนเครื่องบิน และได้ลาออกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อทำงานด้านผ้าทออย่างจริงจังจวบจนปัจจุบัน ณ บ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี
 
     นายมีชัย แต้สุจริยา ซึมซับและเรียนรู้ในศิลปะการทอผ้ามาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยได้เริ่มทำงานทอผ้า ภายหลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ขณะอายุได้ ๑๙ ปี ด้วยการฝึกฝนศิลปะการออกแบบผ้ามัดหมี่และผ้าพื้นเมืองจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทอผ้าที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ
      รวมถึงเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่ทรงภูมิปัญญา ทั้งการทำผ้าทอยก การเก็บตะกอลายผ้าจากคุณทวดมั่น จิตตะยะโสธร คุณยายโพวินทร์ จิตตะยะโสธร รวมถึงเจ้าสิริบังอร ภูริพัฒน์ (ณ จัมปาศักดิ์) และแม่คำปุน ศิลปินแห่งชาติ ที่ได้ให้คำแนะนำในการสร้างสรรค์ทอผ้าชั้นสูง
     ทำให้นายมีชัยสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ รวมกับความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาต่อยอด จนสามารถออกแบบมัดหมี่ลายซับซ้อนได้ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จวบจนถึงปัจจุบัน มีการทดลอง ค้นคว้า ออกแบบและประยุกต์ผลงานร่วมสมัยที่ยังรักษาภูมิปัญญาและอัตลักษณ์พื้นถิ่น ผ้าแต่ละผืนมีมิติลวดลายสีสัน และความวิจิตรงดงาม มีชื่อเสียง และกลายเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหม "บ้านคำปุน” อันเป็นชื่อของโรงทอผ้า แหล่งผลิตผ้าไหม และแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี
 
     นายมีชัย แต้สุจริยา มีผลงานการออกแบบผ้าทอหลายลักษณะ ได้แก่ การออกแบบผ้าทอตามแบบฉบับของผ้าอีสานและการปรับปรุงโทนสีของผ้า การออกแบบผ้าด้วยการผสมผสานกรรมวิธีทอผ้าแบบต่างๆ และการพัฒนาลวดลายผ้าให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ตัดเย็บเสื้อผ้า การออกแบบประยุกต์คิดค้นผ้าลายกาบบัวจากเทคนิคการทอผ้าดั้งเดิมของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเน้นให้เป็นผ้าทอที่ผู้หญิงใช้ได้ ผู้ชายใช้ดี สามารถนำผ้าซิ่นมาตัดเป็นเสื้อของสุภาพบุรุษ การออกแบบและการฟื้นฟู การทอผ้าเยียรบับลาวของจังหวัดอุบลราชธานี
     การออกแบบผ้าประยุกต์ตามแบบลวดลายผ้าราชสำนักสำหรับใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากนั้น ยังได้ออกแบบปรับปรุงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทอผ้า ออกแบบผลงานด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน และออกแบบผลงานด้านเรขศิลป์ เพื่อพระพุทธศาสนาและงานการกุศล
 
     ตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปี ที่นายมีชัย แต้สุจริยา ได้เรียนรู้ สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอด และเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านผ้าทอและการออกแบบลายผ้าให้แก่หลายหน่วยงาน ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานผ่านการจัดแสดงนิทรรรศการทั้งในและต่างประเทศ ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือ บทความ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ด้วยคุณูปการที่สำคัญในการสืบสานงานประณีตศิลป์ทอผ้าของไทย ทำให้

นายมีชัย แต้สุจริยา ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบัน
   -ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๕๔๓
   - ได้รับโล่เกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะศิลปินดีเด่น จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๕๔๔
   -ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๙
   - ได้รับรางวัล "เพชรพาณิชย์” จากกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นต้นแบบการประกอบการผ้าไหมไทย จนประสบความสำเร็จ ในด้านการตลาด พ.ศ. ๒๕๖๒
   -ได้รับการยกย่องจากกรมหม่อนไหมให้เป็น ปราชญ์หม่อนไหม สาขาลวดลายผ้า (การออกแบบลวดลายผ้ากาบบัวอุบล) พ.ศ. ๒๕๖๓
 
     ปัจจุบัน นายมีชัย แต่สุจริยา ยังคงสร้างสรรค์พัฒนาผลงานออกแบบผ้าไหมอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการอนุรักษ์ลวดลายพื้นถิ่นเมืองอุบลฯ และการสร้างสรรค์ทอลวดลายประยุกต์ที่คงเสน่ห์ความเป็นอีสาน อันเป็นสิ่งที่แสดงคุณค่าเอกลักษณ์ของผ้าไหมบ้านคำปุน โดยพยามรักษามาตรฐานผ้าทอที่มีคุณภาพ มีความจริงใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีไปให้กลุ่มต่างๆ แม้แต่การดูแลผ้าก่อนถึงมือลูกค้า ก็จะมีการซักรีด การทดสอบคุณภาพ เพื่อแสดงความซื่อสัตย์และจริงใจ สมดังคํากล่าวยกย่องที่ว่า ผืนผ้าที่นายมีชัย แต้สุจริยา ออกแบบ ถักทอขึ้นที่บ้านคำปุนนั้น เป็นงานที่ทําจากหัวใจ (Heart-made) ใจรักในศิลปะ ใจที่กตัญญูต่อแม่ผู้ให้กำเนิด และใจที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา
    และได้เปิดบ้านเป็น"พิพิธภัณฑ์บ้านคำปุน” เพื่อสืบสานภูมิความรู้ด้านการทอผ้า รักษามรดกของชาติและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวอีสาน และเพื่อแสดงผลงานออกแบบผ้าทอ เป็นเวทีสื่อกลางในการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นแก่เยาวชน อาทิ การสาธิตขั้นตอนการสาวเส้นไหม (ไหมก้อม) การมัดลวดลายมัดหมี่ การทอผ้าเยียรบับลาว การทอผ้าซิ่นมุกจกดาว เทคนิคการควบเว้นไหม (ไหมก้อม)
     รวมถึงการแสดงฟ้อนกลองตุ้มอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุบลฯ การร้องกันตรึม การขับร้องเพลงไทยวงมโหรี การจัดดอกไม้สด การทำปราสามผึ้งแบบโบราณ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้เกิดความรักความห่วงแหนมรดกวัฒนธรรมทางด้านการทอผ้าของไทยแด่เยาวชนและแขกผู้เข้ามาเยี่ยมชม
       เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. โดยมีค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ๑๐๐ บาท หากมาเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. ๐๔๕ ๒๔๓ ๗๗๐ , ๐๔๕ ๒๕๐  "พิพิธภัณฑ์บ้านคำปุน” อยู่ริมถนนศรีสะเกษ (ทล.226) ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี.



บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #78 เมื่อ: 17 มีนาคม 2566, 09:05:25 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @เอกชัย ศรีวิชัย









....ทวง”พี่มีแต่ให้”............โปรดเปิด   ใจเนา
   “รักเก่าที่บ้านเกิด”..........เยี่ยมไหว้(แม่ชี)
   “มนต์ขลังลังกา(วี)”เกิด....การฆ่า  แช่งชัก  
   “อกหักจากปักษ์ใต้”........”พรือมั่งหว่างนี้”

....”ยอดยาหยี”ร้องคู่........วัลลภ
    “รักพี่ลองแล”คบ....... .บ่าวใต้
    “ตกใจตื่น”ฝันพบ.........สาวแหล่ม  ดายของ  
    “ไม่อยากพกเมีย”ให้.....พี่”จ้างเป็นแฟน”....

....ณ ดินแดนถิ่นใต้..........เมืองคอน
    ท่าศาลาเคยนอน.........ได้อยู่
    คราเติบใหญ่จำจร.........จากแม่   พ่อนา
    ไปสู่กรุงเทพฯรู้............ร่ายร้องหนีจน....  

....อดทนเพียรท่องไว้........ความจน   กลัวแน
    “เอกชัย”เป่งยอดคน......ใฝ่รู้
     ทำงานส่งตัวตน..........เหนื่อยหนัก   เรียนนา
     สุขชื่นเรียนจบฮู้..........เก่งได้ ปอ ตรี.....

....แสนเปรมปรีร่ายร้อง......สุขนัก
    หนังเล่น(ผุ้)กำกับจัก.....ว่าจ้าง
    คราตกต่ำงานรัก..........เคยรุ่ง  โรยรา
    เกิดใหม่”หมากัด”สร้าง...ชื่อได้ดังใจ....


เอกชัย ศรีวิชัย ชื่อเล่น เอก , รอบ , แคว็ด เป็นนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับหนัง ชาวไทย เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2505 เป็นชาวอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเจ้าของเพลง "หมากัด" และ ''พี่มีแต่ให้'' อันโด่งดัง นอกจากนี้เขายังมีผลงานแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง รวมถึงผู้กำกับหนัง และเป็นผู้ก่อตั้งวงศรีวิชัยโชว์

ประวัติ
    เมื่อตอนที่แม่ตั้งท้องอยู่ นำโชคสู่ครอบครัว ถูกหวยบ่อย จึงมีชื่อว่า "บุญรอบ" ชีวิตในวัยเด็กมีความลำบาก รับจ้างกรีดยาง ถางหญ้า รับจ้างทำนา ปลูกพริก เก็บข้าว ไม่มีเงินซื้อแม้แต่ชุดลูกเสือ เลยไม่ได้ศึกษาต่อระดับมัธยม จึงเข้ามาเป็นบ๋อยในตัวเมือง และสมัครเป็นภารโรง แล้วเรียนต่อจนจบ ม.ศ.5 จาก ร.ร.มัธยมในตัวเมือง
   แต่ด้วยที่ความอยากเป็นนักร้อง จึงหัดร้องเพลงด้วยตัวเอง จากนั้นเข้ากรุงเทพฯ ทำงานเป็นบ๋อยและร้องเพลงเป็นอาชีพเสริมตามร้านอาหาร ส่งเสียตัวเองเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต

   เอกชัยเริ่มอาชีพนักร้อง โดยการร้องเพลงที่ห้องอาหารปูเป้ แต่ประมาณปี 2527 ขณะที่เขาร้องเพลงที่ปาลาติโน่ ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ครูชวนชัย ฉิมพะวงศ์ ครูเพลงชื่อดังได้เข้ามาทำธุระที่ร้านอาหาร เกิดติดใจน้ำเสียง เห็นว่าเขามีเสียงแปลก จึงได้เรียกทำความรู้จัก
    โดยต่อมาได้ร่วมทำงานกับครูชวนชัย ฉิมพะวงศ์ ทำมาสเตอร์เพลง แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใด แต่เมื่อมีบริษัทหนึ่งสนใจ รับมาสเตอร์ไปแต่อีก 4-5 วันบริษัทก็ปิด มาสเตอร์จึงตกอยู่กับบริษัทดังกล่าว
    ทั้ง 2 คนจึงต้องมาทำมาสเตอร์ใหม่ โดยมีเพลง “พี่นี้มีแต่ให้” รวมอยู่ด้วย จนได้ห้างเมโทรของนายห้างวรชัย ธรรมสังคีติมารับมาสเตอร์ไป ออกผลงานชุด พี่นี้มีแต่ให้ ในชื่อตอนนั้นว่า "เอกชัย ฉิมพะวงศ์" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จดี หลังจากนั้นออกผลงานอัลบั้มชุดที่ 2
    ต่อมาเอกชัยแยกออกมาอยู่กับห้างสรรเสริญ รุ่งเสรีชัย และร่วมเดินสายทำวงไปกับอาภาพร นครสวรรค์ , จันทรา ธีรวรรณ , ยิ่งยง ยอดบัวงามและเด่นชัย สายสุพรรณ โดยเปลี่ยนชื่อมาเป็นเอกชัย ศรีวิชัย และผลิตผลงานออกมา

   ปี พ.ศ. 2537 ถือเป็นช่วงชีวิตที่ตกต่ำของเอกชัย ต้องกลับไปร้องเพลงที่บ้าน เอกชัยได้แนวคิดนำเพลงพื้นบ้านมาทำเป็นเพลง "หมากัด" ในผลงานชื่อชุดลายไทยขึ้นมา เป็นเพลงที่มาจากเพลงฉ่อย-เพลงอีแซว ทำให้เอกชัยโด่งดังมาจากเพลงนี้ ในช่วงปี 2538 จนถึงปี 2539 ขายได้ถึง 2 ล้านชุด
    จากนั้นเขาได้ตั้งวงศรีวิชัยโชว์ เป็นวงดนตรีแนวส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมภาคใต้ เอกชัย ศรีวิชัย ยังเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักร้องลูกทุ่งดังจากภาคใต้หลายคน เช่น ดวงจันทร์ สุวรรณี หลวงไก่ และเจี๊ยบ เบญจพร

ละครโทรทัศน์
โกมินทร์ (2532-2535)
โม่งป่า (2535)
เกราะเพชรเจ็ดสี (2538)
มนต์รักลูกทุ่ง (2538)
อะเมซิ่งโคกเจริญ (2544)
กำนันอี๊ด (2552)
มนต์รักลูกทุ่ง (2553)
ลิเก๊ ลิเก (2557)
หมัดเด็ดเสียงทอง (2557)
มือปราบกุ๊กกุ๊กกู๋ (2558) (รับเชิญ)
สาวน้อยร้อยล้าน (2559) (รับเชิญ)
มนต์รักสองฝั่งคลอง (2559)
ที่หนี้มีรัก (2560)
เงาอาถรรพ์ (2560)
ไมค์หลอนซ่อนพ่อ (เร็วๆนี้)

ภาพยนตร์
แว่วเสียงแคน (2537)
อำแดงเหมือนกับนายริด (2537)
มนต์เพลงนักเลงบ้านนอก (2537)
เพลงรักเกมส์ชีวิต (2537)
เพลงรักพิณ แคน ซอ (2537)
เพลงรักบ้านนาสัญญารัก (2541)
อะเมซซิ่งโคกเจริญ (2544)
มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2545)
ฟอร์มาลินแมน รักเธอเท่าฟ้า (2547)
หอแต๋วแตก (2550)
เหยิน เป๋ เหล่ เซมากูเตะ (2551)
หอแต๋วแตก แหกกระเจิง (2553)
หอแต๋วแตกแหวกชิมิ (2554)
หอแต๋วแตกแหกมว๊ากก (2555)
รวมพลคนลูกทุ่งเงินล้าน (2556)
สัญญาคิมหันต์ (2557)
หอแต๋วแตกแหกนะคะ (2558)
เทริด (2559)
นายไข่เจียวเสี่ยวตอร์ปิโด (2560)
ฮักแพง (2561) (รับเชิญ)
โนราห์ (2561)
หอแต๋วแตก แหกต่อไม่รอแล้วนะ (2561)
ขุนบันลือ (2561)
บอดี้การ์ดหน้าหัก (2562)
พจมาน สว่างคาตา (2563)
มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ (2563)
สีดา ตำนานรักโลงคู่ (2564)
อีหล่าเอ๋ย
มนต์รักวัวชน

ผลงานกำกับการแสดง
เทริด (2559)
โนราห์ (2561)
มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ (2563)
สีดา ตำนานรักโลงคู่ (2564)
อีหล่าเอ๋ย (2564)
มนต์รักวัวชน (2565)

คอนเสิร์ต
คอนเสิร์ตศรีวิชัยโชว์
ศรีวิชัยโชว์ 2539 (2539)
สาวผมแดง (2540)
ลูกทุ่งลายไทย (2541)
ศรีวิชัยโชว์ 2542 (2542)
จิตลีลา ลังกาสุกะ (2542)
จินตภาพ กำเนิดมโนราห์ (2542)
วัฒนธรรมไทย 4 ภาค (2543)
วัฒนธรรมไทย 4 ภาค ตอน 2 (2544)
สี่แผ่นดิน (2545)
เอกชัยล้อเลียนคนดัง (2545)
คนเชิดหนัง (2546)
เอกชัยไทยแลนด์ แดนวัฒนธรรม (2547)
รักคุณเท่าฟ้า (2548)
มนต์รักปักษ์ใต้ (2549)
พี่นักร้อง น้องโนราห์ (2549)
แผ่นดินแม่ ภาค1 (2550)
แผ่นดินแม่ ภาค2 (2550)
7 อัศจรรย์โชว์ (2551)
อลังการล้าน 7 (2552)
พาพี่คนดีมาฝากแม่ (2552)
7 ตำนานอลังการโชว์ (2553)
อลังการงานช้าง (2553)
เอกชัยท้ากัด หรอยจังอลังการงานช้าง (2553)
ล้านเจ็ด 11 แสน (2554)
โจ๊ะพรึมพรึม (2555)
สวรรค์ชั้น 7 (2556)
สวัสดีไทยแลนด์ (2557)
แผ่นดินพ่อ (2558)
เอกชัยยกทัพวัฒนธรรม (2559)
วันดวลฮา (2561)
25ปีศรีวิชัยโชว์ (2562)
มนต์รักบ้านนา เฮฮาบ้านทุ่ง (2565)

อัลบั้ม
พี่มีแต่ให้ (2527) สังกัด เมโทร
วันนี้พี่ขอ (2528) สังกัด เมโทร
คิดแล้วช้ำ (2530) สังกัด เมโทร
รักเก่าที่บ้านเกิด (2530) สังกัด โรต้า
สุดซิ้ง ชุดที่ 1 - 9 (2535-2540) สังกัด บ๊อกซิ่งซาวด์
สุดรัก ชุดที่ 1 - 2 สังกัด ท็อปไลน์มิวสิค
ท็อปฮิตอมตะเสียงสวรรค์ สังกัด ท็อปไลน์มิวสิค
จ.ม.รักจากบ้านนอก (2538) สังกัด พีจีเอ็ม
เอกชัยลายไทย (2540) สังกัด มีเดียมิวสิค กรุ๊ป/มีเดีย ออฟ มีเดีย
เอกชัยลายไทย 2 (2541) สังกัด มีเดียมิวสิค กรุ๊ป/มีเดีย ออฟ มีเดีย
ไม่อยากพกเมีย (2542) สังกัด มาสเตอร์เทป/จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ตกใจตื่น (2543) สังกัด เอ.ซี.เวิร์ล เอ็นเตอร์เทนเมนต์
คู่รัก คู่หวาน (ร่วมกับ ดาว มยุรี) (2542) สังกัด อาร์เอส/อาร์สยาม
จุดเทียนรักษ์ไทย (2542) สังกัด สไมล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์
อกหักจากปักษ์ใต้ (2543) สังกัด อาร์เอส/อาร์สยาม
มนต์ขลังลังกาวี (2544) สังกัด อาร์เอส/อาร์สยาม
ชวนน้องทำบุญ (2544) สังกัด อาร์เอส/อาร์สยาม
พันธุ์ไทยแท้ ๑ (2544) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
จ้างก็ไม่ตาย (2545) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
เสียความรู้สึก (2545) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
แม่ดุเมียด่า (2545) สังกัด อาร์เอส/อาร์สยาม
ท็อปฮิตลูกทุ่งมาตรฐาน โครงการใหม่ ชุดที่ 1-4 (2545) สังกัด อาร์สยาม/อาร์เอส
แหล่แบบเอกชัย (2545) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
สากลปนใต้ (2546) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
สตริงสะตอ (2546) สังกัด อาร์สยาม/อาร์เอส
เอกชัยหลายรส (2546) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
ฉันรักเธอ (2547) สังกัด อาร์สยาม/อาร์เอส
อย่าลืมค่าดอง (2547) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
เสียงปี่เรียกนาง (2547) สังกัด ตลุงโปรโมชั่น
เอกชัยลาบวช (2548) สังกัด อาร์สยาม/อาร์เอส
เสือสะอื้น (2548) สังกัด เอสเอสเอส เอ็นเตอร์เทนเมนต์
สวยกว่า..เมียที่บ้าน (2548) สังกัด ตลุงโปรโมชั่น
เมียจับติด (2548) สังกัด ตลุงโปรโมชั่น
คานทองห้องเช่า (2548) สังกัด กรุงไทย ออดิโอ
ยอมให้เด็กหลอก (2549) สังกัด ท็อปไลน์มิวสิค
พี่นักร้อง น้องโนราห์ (2549) สังกัด ท็อปไลน์มิวสิค
เพลงฉ่อย อีแซว เพลงเรือ (ร่วมกับ เพ็ญนภา มุกดามาตร) (2549) สังกัด โฟร์เอส ไทยแลนด์
เอกชัยตามแฟน (2550) สังกัด ตะลุงโปรโมชั่น
7 ดาวศรีวิชัย (2550) สังกัด ท็อปไลน์มิวสิค
อย่างนี้มันต้องโกน (2552) สังกัด ท็อปไลน์มิวสิค
สุดสวิงลิงโลด โคตรมันส์ (2553) สังกัด บ้านเพลงเอก
ยามชายแดน (ไม่ทราบปี) สังกัด บ้านเพลงเอก
หมอลำใต้ (ไม่ทราบปี) สังกัด บ้านเพลงเอก
หมอลำใต้ 2+1 (2553) สังกัด บ้านเพลงเอก

กรรมการ
เวทีไท ดาวรุ่งลูกทุ่งมหาวิทยาลัย ณ พระประแดงพลาซ่า (2551) ช่อง 5
ลูกทุ่งไอดอล ช่อง 7
ดวลเพลงดัง ทุกวันจันทร์และวันอังคาร เวลา 13.00-13.50 น. ทางช่อง 7 ร่วมกับ โน้ต เชิญยิ้ม, อาภาพร นครสวรรค์, ศิริพร อยู่ยอด, ฝน ธนสุนธร, เปาวลี พรพิมล, นงผณี มหาดไทย, ติ๊ก ชิโร่, ศรัณยู วินัยพานิช (2561-ปัจจุบัน)

พิธีกร
พ.ศ. 2558 งานวัดเฟสติวัล (มีมิติ/ช่อง 9) ทุกวันเสาร์ เวลา 16.30-17.30 น. เริ่มวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2558-30 เมษายน 2560 ร่วมกับ จิ้ม ชวนชื่น, ศกุนตลา เทียนไพโรจน์, แจ๊ส ชวนชื่น, พัสกร พลบูรณ์

ชีวิตส่วนตัว
เคยมีแฟนสาวนอกวงการ มีลูกสาวสองคน เกิดจากแฟนคนละคนกัน โดยไม่ได้จดทะเบียนกัน และในปัจจุบันเอกชัยมีบุตรบุญธรรมชื่อ ไพศาล ขุนหนู

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #79 เมื่อ: 18 มีนาคม 2566, 08:42:18 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @วิฑูรย์ ใจพรหม











...เพลงลูกทุ่งล้านนา..........ฟังเพราะ    ม่วนนา
   หาเรื่องราวมาเลาะ........แต่งร้อง
   มีคุยเล่นเหมาะเจาะ.......ส่งมุข   ขำแน
   เพลงแรกแต่งดังก้อง......“น้ำเปลี่ยนนิสัย”....

...”วิฑูรย์ ใจ(พรหม)”แต่งร้อง.....แพรวพราว
    ผ่านสิบ(เก้า)ชุดเพลงราว.......สี่ร้อย
    “คนรักแม่”พาสาว................”เบื้อแก๋ง  หน่อ”นา
   “ชีวิตสาวหวิ่ง”จ้อย................“ข้าวใหม่ปลามัน”......

    “วิฑูรย์ ใจพรหม” คือ นักร้องนักแต่งเพลงภาษาคำเมืองล้านนา ประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกชื่อ “ท้าพิสูจน์” บทเพลง “น้ำเปลี่ยนนิสัย” ที่เขาเป็นผู้ประพันธ์กลายเป็นบทเพลงโด่งดังแห่งยุคสมัยของคนภาคเหนือ หลังจากนั้นจึงมีผลงานเพลงสู่ผู้ฟังติดต่อกันจำนวนกว่า 19 อัลบั้ม นับเป็นผลงานเพลงมากกว่า 400 เพลง
    อะไรเป็นแรงบันดาลใจหรือเงื่อนไขให้ วิฑูรย์ ใจพรหม ประสบความสำเร็จและอยู่ในวงการเพลงภาษาคำเมืองยาวนานกว่า 30 ปี หน้าตาหล่อเหลาเจ้าชู้กรุ้มกริ่ม ความสามารถด้านการขับร้องและประพันธ์เพลง หรือวิธีการเล่าเรื่องวิถีชีวิตด้วยภาษาคำเมืองล้านนาที่ปนด้วยความตลกขบขัน

บทเพลงแห่งความจริงจากพื้นถิ่นล้านนา

   บ้านเกิดผมอยู่จังหวัดลำพูน ครอบครัวพ่อแม่ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน ตัวผมย้ายถิ่นฐานเร่ร่อนทำมาหากินไปในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็ก มองเห็นวิถีชีวิตคนภาคเหนือ รับฟังเรื่องเล่าในสังคม นิทานปรัมปรา สภาพแวดล้อมแบบคนเมือเหนือล้านนาหล่อหลอมให้ผมนำสิ่งรอบตัวมาเล่าเป็นเพลงร่วมสมัยในเวลาต่อมา

   ผมชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก เมื่อเริ่มเป็นหนุ่มก็ประกวดร้องเพลงตามงานวัด เวทีการประกวดร้องเพลงเวทีใหญ่ในบ้านเรายุคสมัยนั้นยังไม่มี แต่ในเวทีงานวัดผมได้รับรางวัลอยู่เสมอในการประกวด ของรางวัลก็เช่น สบู่ แป้ง ยาสีฟัน นั่นเป็นวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวภาคเหนือในยุคสมัยก่อน
     ผมเริ่มเข้าวงการบันเทิงเป็นนักร้องเพราะเป็นคนสนุกสนาน ทำงานเป็นกองเชียร์รำวงชาวบ้าน คือเวลามีงานบุญผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ก็จะมีสาวรำวงส่วนผมทำหน้าที่เป็นคนเชียร์ เมื่ออายุครบ 15 ปี ผมทำงานเป็นนักร้องห้องอาหาร เมื่ออายุครบ 20 ปี สมัครทำงานเป็นนักร้องวงดนตรีคณะรุกขชาติ จังหวัดเชียงราย

    ผมเป็นนักร้องห้องอาหาร ตามผับ ตามบาร์ ร้องเพลงได้ทุกแนว ทั้ง ลูกทุ่ง สตริง เพื่อชีวิต ครึ่งชีวิตใช้กับการร้องเพลงในแต่ละวันคืน จนวันหนึ่งตอนผมทำงานเป็นนักร้องห้องอาหาร คุณขวัญใจ สุริยัน (ประสิทธิ์ จินาจันทร์) นักจัดรายการวิทยุและนักแต่งเพลงคำเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำให้ผมรู้จักกับป๋าสีนวล นพพล หลังจากนั้นจึงเริ่มทำผลงานเพลงคำเมืองชุดแรกชื่อ “ท้าพิสูจน์” ผมแต่งเพลงแรกคือ “น้ำเปลี่ยนนิสัย” หลังจากนั้นจึงทำงานเพลงออกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีผลงานเพลงคำเมือง 19 ชุด นอกจากนั้นก็มีอัลบั้มพิเศษอีกจำนวนหลายชุด รวมบทเพลงภาษาคำเมืองล้านนาทั้งหมดมากกว่า 400 เพลง  

เปลี่ยนแปลงวงการเพลงด้วยภาษาคำเมืองล้านนา

     ยุคสมัยก่อนคนฟังไม่เห็นคุณค่าของเพลงภาษาคำเมือง การทำเพลงภาษาคำเมืองจึงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความนิยมในวงกว้าง เราพยายามนำเสนอบทเพลงคำเมืองจากเรื่องราววิถีชีวิตของคนภาคเหนือเพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เมื่อนำเรื่องราว เรื่องเล่า ตำนาน ล้านนา มาแต่งเป็นบทเพลง เราก็ต้องหาวิธีนำเสนอภาษาคำเมืองให้อยู่ในบทเพลงเพื่อให้เป็นที่นิยมในสังคมของคนล้านนา กรรมวิธีการผลิตผลงานเพลงคำเมืองค่อนข้างยุ่งยาก เริ่มจากการหาเรื่องราวมาเขียนเป็นเพลง คัดกรอง ปรับเปลี่ยนแก้ไข ทำให้ผลงานเพลงชุดแรก “ท้าพิสูจน์” ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เริ่มหันมาฟังเพลงภาษาคำเมืองล้านนามากขึ้น

      สิ่งสำคัญอันเป็นหัวใจของการทำเพลงภาษาคำเมืองคือ อนุรักษ์ รณรงค์ ส่งเสริม ภาษาคำเมืองล้านนา ด้วยการหยิบเอาเรื่องราวในสังคมมาเล่าในเพลง เช่นเรื่องราวของ ผัวขี้เหล้า เมียเล่นการพนัน เมียขี้บ่น เรานำเสนอผลงานเพลงด้วยการสร้างตัวละคร (Character) สร้างบทสนทนาสอดแทรกความตลกขบขันแต่ให้แง่คิด หรืออาจเป็นบทเพลงตลกแบบวิชาการให้ความรู้  ลักษณะการทำเพลงแบบนี้ทำให้บทเพลงภาษาคำเมืองของภาคเหนือเป็นที่รู้จักถึงคนภาคกลาง ตัวอย่างเช่น เพลงข้าวใหม่ปลามัน เพลงเมียถามมือถือ เพลงลูกกวนตัวผัวกวนใจ

เทรนด์เพลงภาษาคำเมืองในอนาคต

    การนำเสนอบทเพลงของนักร้องแต่ละคน แตกต่างแล้วแต่มุมมอง สำหรับผมการนำเสนอบทเพลงภาษาคำเมืองต้องมองกระแสสังคม ยุคสมัยก่อนเป็นยุคผูกขาด ผู้คนฟังเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง เปลี่ยนมาเป็นยุคเพลงลูกทุ่ง เพลงสตริง ช่วงหลังเพลงภาษาคำเมืองก็ถูกสอดแทรก ในปัจจุบันภาษาคำเมืองล้านนาถูกนำเสนอผ่านดนตรีแร็พ (Rap) เพราะการนำเสนอเพลงภาษาคำเมืองต้องตามกระแส ทำไมคนสมัยก่อนเขาฟังเพลงแบบนั้น คนยุคสมัยนี้ฟังเพลงแบบไหน เราต้องมีภาษาคำเมืองสอดแทรกไว้ในเพลงตามแต่ความชอบ นักร้องบางคนเน้นนำเสนอภาษาให้สนุกสนาน บางคนใช้ภาษาอันไพเราะมีความหวานในงานเพลง ตัวอย่างผมก็เคยทำเพลงแร็พ เช่น เพลงคนยอง เพลงประเทศกูก็มี เพลงเขียดจี่ เพลงเห็ดถอบ

    เมื่อมีผลงานเป็นอัลบั้ม สิ่งสำคัญคือการสร้างความบันเทิงบนเวทีการแสดง (Entertain) การทำงานบันเทิงเราไม่ได้เป็นนักร้องเพียงอย่างเดียว เราต้องแสดงบทบาทบนเวที เราต้องหาเรื่องราวมาเล่า เราต้องศึกษา ต้องดู ต้องอ่าน เวลาไปงานวัดเจอคำกลอนก็จดเอาไว้ เจอคำคมทาง Facbook ก็จดเอาไว้ การนำเสนอผลงานเพลงบนเวทีเราต้องสร้างเรื่องราวใหม่ ต้องค้นหาเรื่องราวใหม่ เพื่อนำมาสร้างความบันเทิงให้คนดู เวลาอยู่หน้าเวทีคนพูดอะไรเราสามารถนำมาเป็นเรื่องราวมุขตลก พูดเล่น แซวคนดู ทำให้คนดูมีส่วนร่วมในการแสดง แต่อย่าทำให้คนดูเสียหาย มุ่งให้เกิดความสนุกสนานบนเวที

     ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการนำเสนอบทเพลงภาษาคำเมืองอยู่ตลอดเวลา ยุคสมัยนี้คงเป็นยุคของปู่จ๋าน ลองไมค์ ที่ใช้ความเป็น Rapper สร้างความร่วมสมัยในผลงานเพลงภาษาคำเมือง ก่อให้เกิดความหมายของคำในเพลงที่ดี เป็นเพลงแร็พที่จริง แรง มีความเป็นเพื่อชีวิต สิ่งสำคัญคือการประยุกต์ให้เกิดความร่วมสมัยในงานเพลง

     งานเพลงแร็พของผมทำไว้คือ เพลงเห็ดถอบ ผมนำทำนองเพลงซอมาทำเป็นแร็พ เรียกว่าแร็พทำนองซอ กระบวนการทำผลงานเพลงมีหลายขั้นตอน เริ่มจากปรึกษาค้นหาเรื่องราว คัดกรองเลือกบทเพลง เมื่อทำเพลงเสร็จเป็นอัลบั้ม ก็ต้องนำเสนอเรื่องราวด้วยมุขตลกขบขันเพื่อใช้ในการแสดงสด บนเวทีการแสดงเราต้องสร้างตัวละครใหม่ เรื่องราวใหม่ เอาความจริงในชีวิตมาเล่าเป็นเพลงภาษาคำเมืองด้วยมุมมองตลกขบขัน แต่สิ่งสำคัญคือต้อง อนุรักษ์ รณรงค์ ส่งเสริม ภาษาคำเมืองล้านนา ใช่ว่าเพียงตลกขบขันเพียงอย่างเดียว

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #80 เมื่อ: 19 มีนาคม 2566, 09:13:28 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @ไพวัลย์ ลูกเพชร















....”มนต์รักลูกทุ่ง”ท้อง...........นาไทย
    หนังเด่นเพลงดีใคร............เล่นล้ำ
   “ไพวัลย์ ลูกเพชร”ไป่..........รับโล่    เพลงดี
    รับแผ่นเสียงทองฯย้ำ........ "เบ้าหลอมดวงใจ"

...”อาลัย””คำ(เตือนของ)พี่”ห้าม...ใครมา   จูบนา
    เสียงนุ่มนวลครวญพา.............ไม่ช้ำ
   “หนาวใจที่ชาย(แดน)”ลา.........”สั่งเรียม” “แสนแสบ”
   “มะนาวไม่มีน้ำ”.....................“ไอ้หนุ่มตังเก”....


ไพรวัลย์ ลูกเพชร (14 ธันวาคม พ.ศ. 2484 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2545) นักร้องเพลงลูกทุ่งชาวตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติ
    เข้าสู่วงการจาการที่พ่อแม่นำไปฝากคณะลิเกเมืองเพชร แต่ใจไม่รัก จึงไปสมัครวงดนตรีบางกอก ช่ะ ช่ะ ช่า ของครูสมพงษ์ วงศ์รักไทย และครูชุติมา สุวรรณรัตน์ เมื่อวงบางกอก ช่ะ ช่ะ ช่า ยุบวงลง ครูได้นำไปฝากกับวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ ซึ่งแต่เพลงและอัดแผ่นเสียงให้ เพลงที่มีชื่อเสียงเช่น คำเตือนของพี่, ดาวบ้านนา, แม่ผักบุ้งบ้านดอน, เสียงจากไพรวัลย์, คำประณาม, สำรวยลืมคำ

    ต่อมาไพรวัลย์ ลาออกจากวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ และตั้งวงดนตรีเอง มีผลงานโด่งดังจากเพลงคู่จากการประพันธ์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน เช่น มะนาวไม่มีน้ำ, กีฬารัก, ไม่รู้ไม่ชี้ และได้แสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง และร้องเพลงนำในภาพยนตร์ เช่น มนต์รักลูกทุ่ง, มนต์รักแม่น้ำมูล, ชาติลำชี, เพลงรักบ้านนา

รางวัลเกียรติยศ
    -รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2514 จากเพลง "เบ้าหลอมดวงใจ" ของครูไพบูลย์ บุตรขัน
    -รางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2521 จากเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก" ของครูชลธี ธารทอง
    -และได้รับรางวัลพระราชทาน จากงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของครูไพบูลย์ บุตรขัน และเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก" ของครูชลธี ธารทอง.

ถูกลอบยิง
ราวปี พ.ศ. 2528 ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีข่าวพัวพันกับคดีฆาตกรรมนายอุทัย ถัดหลาย โดยมีชนวนเหตุมาจากการที่นางวรรณา ชูเปีย ผู้กว้างขวางในสถานีขนส่งหมอชิตและเป็นหญิงคนสนิทของไพรวัลย์ ได้ร่วมขบวนการปลอมตั๋ว บขส. แต่ถูกนายอุทัย ที่เป็นช่างเครื่องจับได้ จึงทำการขู่แบล็คเมล์นางวรรณา สร้างความไม่พอใจให้นางวรรณา อย่างมาก หลังจากนั้นนายอุทัย ถัดหลาย ถูกยิงเสียชีวิต โดยนายบุญส่ง สิทธิน้อย มือปืนที่ตกเป็นผู้ต้องหาให้การซัดทอดไพรวัลย์ ลูกเพชร (ในเวลาต่อมาศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องนายบุญส่งในคดีฆาตกรรมนายอุทัย)

   หลังเกิดเหตุที่นายอุทัย ถูกยิงเสียชีวิตไม่นาน ขณะที่ไพรวัลย์ ลูกเพชรกำลังขับรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่เพื่อไปทำธุระ โดยมีนางวรรณา ชูเปีย สาวคนสนิทโดยสารไปด้วยได้ถูกคนร้ายลอบยิง ในพื้นที่ สภ.ปากเกร็ด ทำให้นางวรรณา เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ส่วนไพรวัลย์ถูกยิงที่ต้นคอ และถูกนำส่งร.พ.ชลประทาน แม้แพทย์จะสามารถช่วยชีวิตไว้ได้ แต่เนื่องจากประสาทไขสันหลังขาด ทำให้ไพรวัลย์ ลูกเพชรเป็นอัมพาตครึ่งตัว แต่ยังนั่งรถเข็นบันทึกเสียงและตระเวนร้องเพลงบนเวทีต่อไป

ผลงานภาพยนตร์
ชาติลำชี (2512)
มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
มนต์รักจากใจ (2514)
แสนทนง (2515)
ไอ้แดง (2516)
เพลงรักบ้านนา (2520)
ไอ้ขุนเพลง (2523)
รักข้ามรั้ว (2525)
หล่อลากดิน (2525)
เสียงเพลงนักเลงโหด (2525)
แผ่นดินเหล็ก (2526)
อีแต๋น ไอเลิฟยู (2527)

ชีวิตส่วนตัว
ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีบุตรชายและบุตรสาวที่เกิดกับวิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณภรรยาคนแรก 2 คน คือเลิศชาย และวิรัตน์ตา ลูกเพชร และมีบุตรชายที่เกิดกับนางพรรณี ภรรยาคนสุดท้าย 1 คน คือนายกฤติวุฒิ ลูกเพชร

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #81 เมื่อ: 20 มีนาคม 2566, 09:21:12 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @นายเห้ง โสภาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ

















....หัตถศิลป์ชั้นที่....................สูงสวย  งามแน
 เป็น”เครื่องราชู(ปโภค)”ทวย....เทอดไท้    
 “เครื่องราชบรรณา(การ)”อวย...แด่พระ   ราชา
    อีก”เครื่องยศ”มอบให้...........แก่ชั้นขุนนาง.....
  
....ยอดบาง”เครื่องถม”ให้.........เมืองคอน
      หรือชื่อ“ถม น คร”.............บ่งไว้
    ลวดลายที่แกะรอน..............ลายไม่  ชัดนา
         ลงยาถมเด่นได้...............แจ่มจ้าสวยงาม....

....คนหาถามชื่อ”เห้ง...........โสภา  พงศ์”แน
    ช่างถมเมืองคอนนา..........สร้างชื่อ
    ราชาไป่อเมริกา...............มอบเครื่อง  ถมแฮ
     รวมช่างนครอื้อ...............ช่วยสร้างไฉไล.....

 ....คนชอบใจเครื่องใช้..........เงินทอง
     เล่นถมเงินถมทอง............ล้ำค่า
     ศิลปินแห่งชาติครอง.........เครื่องถม  “เห้ง”ฤา
     ขายเปลี่ยนหายากถ้า........เห็นได้ที่วัด....


เห้ง โสภาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529 สาขาทัศนศิลป์ (เครื่องถม)

ประวัติ
นายเห้ง โสภาพงศ์ เกิดเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2455 ที่บ้านหน้าวัดพระบรมธาตุ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายชี และนางนุ้ย โสภาพงศ์ เมื่ออายุ 8 ปี ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพระเสื้อเมือง (โรงเรียนวัดพระมหาธาตุในปัจจุบัน) จบชั้นประถมปีที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2466 แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างถม วัดวังตะวันออก ซึ่งได้พัฒนาเป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน จนจบหลักสูตรช่างถม เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงเรียนนี้ถึง 3 ปี
    แล้วจึงออกไปทำงานเป็นช่างถมอย่างเต็มตัว เมื่ออายุ 22 ปี โดยประจำอยู่ที่ร้านสุพจน์ (เป็นโรงงานและร้านที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องถม ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช) ณ ที่นี้ นายเห้ง ได้รับการฝึกทำเครื่องถมเป็นพิเศษจาก นายรุ่ง สินธุรงค์ ช่างถมฝีมือเยี่ยมยุคนั้น จนทำให้นายเห้ง โสภาพงศ์ มีฝีมือเข้าขั้นเป็นช่างถมยอดเยี่ยมของเมืองนครศรีธรรมราชตามไปด้วย

    เครื่องถมที่นายเห้ง โสภาพงศ์ ประดิษฐ์ มีตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ เช่น แหวน ล็อกเก็ต กำไล ไปจนถึงสิ่งของชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ขัน พาน ถาด การประดิษฐ์ ทำด้วยมือทั้งสิ้น นับตั้งแต่ขึ้นรูป การเขียนลวดลาย การสลัก การถม การขัด โดยใช้ความชำนิชำนาญ และความละเอียดลออและความอุตสาหวิริยะเป็นสำคัญ
    เครื่องถมเหล่านี้ได้ถูกจำหน่ายจ่ายแจก และเปลี่ยนมือไปหลายต่อหลายแห่ง ที่มีสะสมตอทอดอยู่บ้างในเวลานี้ พอจะหาดูได้ในวัดพระเขียน วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

    ผลงานที่นายเห้ง โสภาพงศ์ ภาคภูมิใจก็คือ ชุดน้ำชาถมทอง ซึ่งตนร่วมกับช่างถมชาวนครหลายคนประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2502 ชุดน้ำชาถมทองชุดนี้ เป็นชุดที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงนำไปพระราชทานแด่ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวด์ แห่งสหรัฐอเมริกา ในคราวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503
       นอกจากนั้นในช่วง 50 ปีเศษ ของการเป็นช่างถม นายเห้ง ได้ทำเครื่องถมเพื่อจำหน่ายบ้าง ทำตามที่ลูกค้าสั่งบ้าง รวมหลายร้อยชิ้น ในจำนวนนี้เคยส่งเข้าร่วมประกวดในงานศิลปหัตถกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตหกรรม จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยได้รับรางวัลที่ 3 ด้วย

     นายเห้ง โสภาพงศ์ สมรสกับนางตุ้น โสภาพงศ์ มีบุตรธิดา 8 คน ในจำนวนนี้ผู้ชายสองคนคือ นายโสฬส โสภาพงศ์ และนายจรวย โสภาพงศ์ ได้สืบทอดวิชาการทำเครื่องถมและนำไปประกอบอาชีพสืบแทนบิดา

    นายเห้ง โสภาพงศ์ ได้สร้างผลงานด้วยความประณีตและพัฒนาอยู่เสมอ พร้อมที่จะเผยแพร่และถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ศิษย์และผู้สนใจตลอดเวลา ซึ่งสมควรยกย่องไว้ในฐานะศิลปินแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้
    -คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้ประกาศยกย่องให้นายเห้ง โสภาพงศ์ เป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น ประจำปี 2529 สาขาเครื่องถม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529        
ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530
    -คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็ได้ยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529 สาขาทัศนศิลป์ (เครื่องถม) เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปัจจุบัน นายเห้ง โสภาพงศ์ ได้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2542 (รับช่วงต่อ นายนิติกร กังกุสล)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2536 – Order of the Crown of Thailand - 4th Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)


"เครื่องถม" หรือมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถมนคร” เป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูงที่คนนครศรีธรรมราชและคนไทยภาคภูมิใจมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตใช้เป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์หรือเป็นเครื่องยศของขุนนางชั้นสูง ทั้งยังใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับกษัตริย์ประเทศต่าง ๆ
    ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายคำว่า "ถม" ว่า "เรียกภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยใช้ผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางามว่าเครื่องถม เช่น ถมนคร ถมเงิน ถมทอง"
 
    สำหรับความเป็นมาของเครื่องถมนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มผลิตมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือราว พ.ศ. ๒๐๖๑ ส่วนที่มาของการผลิตเครื่องถม ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราชอาณาจักรไทยได้ ๔ เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด ขณะที่สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีความเห็นว่า ชาวนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดีย ส่วนศาสตราจารย์วิศาลศิลปกรรมให้ความเห็นว่า ยาถมไทยมิได้รับต้นตำรับมาจากประเทศใด เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยแท้ คือเกิดที่นครศรีธรรมราช
 
    เรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องถมในเมืองนครนี้ ปรากฏในเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น ในหนังสือชุด "สาส์นสมเด็จ" ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโต้ตอบปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับศิลปะ วรรณคดี โบราณคดี และประวัติศาสตร์ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องเครื่องถมไว้ ดังความว่า  
 
"....เรื่องเครื่องถม หม่อมฉันพบหลักฐานใหม่อีกแห่ง ๑ ในกฎมณเฑียรบาลว่า ขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง “กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม" ดูตรงกับเจียดรัชกาลที่ ๑ ถ้าเป็นแบบมาตั้งแต่กฎมณเฑียรบาลครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๐๐ ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว ๒๐๐ ปี ตำนานที่หม่อมฉันคาดไว้ดังทูลไปก็ผิด แต่นึกว่าจะเพิ่มลงในกฎมณเฑียรบาลเมื่อภายหลังก็เป็นได้..." นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า "...จะทูลบรรเลงต่อไปถึงเรื่องถมเมืองนครฯ การทำเครื่องถมในเมืองไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทำแต่ในกรุงเทพฯ กับที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ แห่งเท่านั้น คนนับถือกันว่าฝีมือช่างถมเมืองนครฯทำดีกว่าในกรุงเทพฯ จนเครื่องถมที่ทำดีมักเรียกกันว่า “ถมนคร” เลยมีคำกล่าวกันว่าช่างถมเดิมมีแต่ที่เมืองนครฯ ชาวกรุงเทพฯไปเอาอย่างมาก็สู้ฝีมือครูไม่ได้..." และ "...เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยลงไปเมืองนครศรีธรรมราชอยากดูการทำเครื่องถม การนั้นพวกช่างก็ทำตามบ้านเรือนของตนอย่างเดียวกับที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ พวกกรมการพาไปดูหลายแห่ง สังเกตดูช่างถมแต่งตัวเป็นแขกมลายูทั้งนั้น ที่เป็นคนไทยหามีไม่ หม่อมฉันประหลาดใจถามเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมื่อยังเป็นพระยานครฯ ท่านกล่าวความหลังให้ฟังจึงรู้เรื่องตำนานว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยานคร (น้อย) ยังเป็นพระยานครฯ ลงไปตีเมืองไทรได้เฉลยมลายูมามาก จึงเลือกพวกเฉลยให้หัดทำการช่างต่างๆ บรรพบุรุษของพวกนี้ได้หัดเป็นช่างถมสืบกันมาจนทุกวันนี้..."

ความสำคัญของเครื่องถมในแต่ละยุคสมัย มีดังนี้
   สมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. ๒๐๓๒ - ๒๐๗๒ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น จัดหาช่างถมที่ฝีมือเยี่ยมที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งไปยังกรุงศรีอยุธยา เพื่อทำไม้กางเขนถมส่งไปถวายพระสันตปาปา ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และทำเครื่องถมดำลายอรหันไปบรรณาการพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส
    ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) การทำเครื่องถมได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีในช่วงสมัยนี้ ถือเป็นของสูงศักดิ์ ใช้เป็นเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชบรรณาการ ได้รับความนิยมอย่างสูงในราชสำนัก จากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เจ้าพระยานคร (น้อย) นอกจากจะมีฝีมือทางการรบแล้วยังเป็นช่างทำถมฝีมือดี ได้ทรงทำพระแท่นเสด็จออกขุนนางกับพระเสลี่ยงถวาย
    สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)  เจ้าพระยานคร (กลาง) เป็นผู้อุปถัมภ์ช่างถมคนสำคัญในนครศรีธรรมราชและชักชวนช่างถมหลายคนเข้าไปอยู่ในวัง ช่างเหล่านี้ได้ทำเก้าอี้ถมอนุโลมจากพระแท่นและพนักเรือพระที่นั่ง และในโอกาสที่กรุงสยามได้แต่งตั้งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ช่างถมนครจัดทำเครื่องราชบรรณาการส่งไปถวายแด่พระนางเจ้าวิคตอเรีย ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังบัคกิ้งแฮม ประเทศอังกฤษ
  สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เป็นแม่กองให้ช่างถมนครทำพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ พระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเป็นศิลปกรรมเครื่องถมชิ้นเอกของประเทศไทย ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคมวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คณะบุคคลถวายพระพรชัยมงคล
    สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  (รัชกาลที่ ๙) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำหีบบุหรี่ถมทองสำหรับพระราชทานแก่ประธานาธิบดีไอเซนเฮ้าว์ และ       ดร.ริสบอร์ นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ และพระราชทานตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลที่โรงพยาบาลในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
   กระทั่งถึงยุคสมัยปัจจุบัน ช่างถมนครก็ยังได้รับความไว้วางใจให้สร้างผลงานสู่ราชสำนัก เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ประสานงานจัดหาช่างถมฝีมือดีในนครศรีธรรมราช จัดทำเครื่องราชูปโภคและเครื่องใช้ในพิธีต่างๆ เพื่อถวายแด่สำนักพระราชวัง เช่น ชุดขันพานตักบาตรถมทอง เป็นต้น
 

ขั้นตอนการทำเครื่องถม ปัจจุบันการทำเครื่องถมนคร มี ๒ แบบ คือ ถมเงิน และถมทองหรือถมตะทอง
    โดยนิยมทำตามขั้นตอน ดังนี้
 
๑. การทำถมเงิน
   ๑.๑) การทำน้ำยาถม เป็นหัวใจสำคัญในการทำเครื่องถม ลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยาถมของช่างนคร คือ มีลักษณะแข็ง สีดำเป็นนิล ขึ้นเงา ประกอบด้วยโลหะ ๓ ชนิด คือ ตะกั่ว ทองแดง และเงิน ตำราถมโบราณท่านมีไว้ว่า “วัว ๕ ม้า ๖ บริสุทธิ์ ๔ ผสมกันแล้วขัดด้วยกำมะถัน ได้ยาถมแล”
    ๑.๒) การทำรูปพรรณ หรือ การขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามต้องการ เช่น สร้อย แหวน กำไล ขัน เป็นต้น วัตถุดิบสำคัญที่ต้องใช้ คือ เนื้อเงินบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๒.๕ และทองคำบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๙๙
    ๑.๓) การเขียนและแกะลาย การวาดภาพหรือลวดลายลงบนภาชนะที่ขึ้นรูปเสร็จแล้ว และลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว
    ๑.๔) การลงยาถม คือการนำยาถม ถมลงในร่องที่แกะลาย ใส่จนเต็มร่อง แล้วเกลี่ยให้เสมอกันทุกส่วน จากนั้นใช้ไฟเป่า หรือเรียกว่าวิธี “เป่าแล่น” ลงบนภาชนะนั้น รอให้เย็นแล้วใช้ตะไบถูบนส่วนที่ไม่ต้องการให้มียาถมนั้นออกไปให้เห็นเนื้อเงินที่พื้น ซี่งเรียกว่า “พื้นขึ้น”    
    ๑.๕) การปรับแต่งรูป ในขั้นตอนลงยาถม จะต้องใช้ไฟด้วยความร้อนสูงเพื่อเผาภาชนะอยู่เป็นเวลานานพอสมควร อาจทำให้ภาชนะบิดเบี้ยว ขั้นตอนนี้จึงจำเป็นต้องปรับแต่งรูปทรงให้คงสภาพเดิมอีกครั้ง และแต่งผิว/ขัดผิวของภาชนะด้วยกระดาษทรายละเอียด เมื่อผิวเกลี้ยงแลดูเงาสวยแล้วจึงขัดด้วยยาขัดโลหะ จากนั้นนำไปล้างทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
๑.๖) การแกะผิวและแกะแร วิธีการแกะผิวแกะแรหรือการเพลาลาย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะจะช่วยให้รายละเอียดของลายบนภาชนะมีความโดดเด่นขึ้น ขึ้นเงา ต้องแสงเป็นประกายสวยงาม โดยขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญของช่าง  
    ๑.๗) การขัดเงา เป็นการทำความสะอาด ขัดเงา โดยการเช็ดกับผ้าที่นุ่มๆ ให้สะอาดและขึ้นเงาสวยงาม
 
๒.การทำถมทอง หรือ ถมตะทอง
    การถมทองเป็นการทำให้เครื่องถมมีคุณค่าสูงขึ้นกว่าถมเงินธรรมดา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือช่างที่ชำนาญและมีประสบการณ์อย่างมาก โดยในขั้นตอนที่ ๑ – ๔ ใช้วิธีการเดียวกับการทำถมเงิน แต่เมื่อเสร็จขั้นตอนที่ ๔ คือ ลงยาถมและขัดยาถมส่วนเกินออกแล้ว ในส่วนของการทำถมทองจะเพิ่มวิธีการทาทอง หรือเรียกว่า “การเปียกทอง” เป็นการนำทองคำแผ่นบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ บดจนเป็นผงแล้วเทปรอทบริสุทธิ์ลงไปผสมกับผงทอง บดด้วยครกหินจนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และใช้สำลีชุบทองเปียกถูบนภาชนะ เมื่อทาทองผสมปรอทเสร็จแล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งหรืออบด้วยความร้อนอ่อนๆบนเตา ประมาณ ๓ – ๔ ครั้ง และครั้งสุดท้ายใช้ความร้อนสูงกว่าเดิม เมื่อปรอทระเหยออกหมด ก็จะเหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นบนภาชนะ นำไปขัดเงาให้ผิวทองเกลี้ยงใสขึ้น ถือเป็นอันเสร็จขั้นตอนการทาทอง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอน ที่ ๕ – ๗ เช่นเดียวกับการทำถมเงิน
 

    ในปัจจุบันเครื่องถมไม่ได้มีใช้กันเฉพาะชั้นเจ้านายชั้นสูงเหมือนในอดีต แต่มีการปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยขึ้นเพื่อให้เข้าถึงคนทุกช่วงวัย โดยการทำเป็นของชิ้นเล็ก เช่น ต่างหู แหวน ที่ติดผม ล๊อกเกต กำไล จากการทำถมนครสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน การได้รับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ นับเป็นเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี รวมถึงมีการพัฒนาฝีมือการออกแบบลวดลายให้วิจิตรสวยงาม ด้วยลวดลายที่ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงถือว่างานเครื่องถมเป็นงานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้คู่คนไทยสืบต่อไป

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #82 เมื่อ: 21 มีนาคม 2566, 09:17:47 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @ครูมนตรี ตราโมท
















....ดนตรีไทยไม่แพ้............ชาติใด  
    “วงปี่พาทย์”ตีไป............เป่าเน้น
    “วงเครื่องสาย”สีไส.........ตีเป่า  
    “วงมโหรี”เค้น..............เครื่องใช้ครบดี..... (ครบทั้งดีด สี ตี เป่า)

....”ครูมนตรี”เด่นด้าน..........ดนตรี
    ดีดเป่าสีหรือตี...............เล่นได้
    “ศิลปินแห่งชาติ”ดี..........เด่นเหมาะ    สมนา
    ชอบแต่งเพลงโคลงไว้......เล่นร้องรำไทย.....

....เดือนสดใสส่องหล้า........”งามแสง  เดือน”นา  
    ครูแต่งรำออกแรง............ร่ายฟ้อน
   “โสมส่องแสง”พราวแพง....”ม่านมง   คล”นา
   อีกแต่งตำราป้อน.............เป่าไหว้ครอบครู.....


มนตรี ตราโมท (17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2538) เป็นนักดนตรีไทย และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) พ.ศ. 2528

ประวัติ
    มนตรี ตราโมท เดิมชื่อ "บุญธรรม" เกิดเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ที่บ้านท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายยิ้ม นางทองอยู่ และเป็นหลานชายในพระครูสัทธานุสารีมุนีวินยานุโยคสังฆวาหะ หรือหลวงพ่อลี่ ปุริสพันธ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ และเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการดนตรีไทยของจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยนั้น

    ในสมัยที่มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการตั้งชื่อบุคคล "บุญธรรม"จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "มนตรี" เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2485 นามสกุล "ตราโมท" เป็นนามสกุลที่หม่อมเจ้าคำรบ ปราโมช ประทานให้ มีสำเนียงล้อนามสกุล "ปราโมช" ขององค์

    มนตรีศึกษาที่โรงเรียนปรีชาพิทยากร สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 3 เหตุที่มนตรีมีโอกาสได้เป็นนักดนตรีไทยก็เพราะว่าบ้านของมนตรีอยู่ใกล้วัดสุวรรณภูมิ ซึ่งมีวงปี่พาทย์ฝึกซ้อมกันอยู่เป็นประจำ มนตรีจึงได้ยินเสียงเพลงปี่พาทย์อยู่เสมอจนจำทำนองเพลงได้เป็นตอน ๆ

   เมื่อเรียนจบ ม.3 แล้ว จึงคิดที่จะเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่มนตรีมีโรคภัยไข้เจ็บรบกวนตลอดเวลา เรียนไม่ทันเพื่อนฝูง เลยหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อ ในเวลานั้น สมบุญ สมสุวรรณ ซึ่งเป็นนักฆ้องจึงชวนให้หัดปี่พาทย์ ซึ่งมนตรีก็มีใจรักอยู่แล้วจึงฝึกฝนด้วยความมานะพยายาม จนมีความคล่องแคล่วพอควร มนตรีได้เป็น นักดนตรีปี่พาทย์ อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 2 ปี
    ต่อมาราวปี พ.ศ. 2456 มนตรีได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่บ้านสมบุญ สมสุวรรณ ซึ่งมีทั้งปี่พาทย์และ แตรวง มนตรีจึงได้มีโอกาสฝึกหัดทั้งสองอย่าง

    เมื่ออายุได้ 17 ปี ได้สมัครเข้ารับราชการในกรมพิณพาทย์ทอง กรมมหรสพ กรมมหาดเล็ก ที่กรมพิณพาทย์หลวง มนตรีได้เรียนฆ้องวงใหญ่จากหลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) และเรียนกลองแขก จากพระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์)

    มนตรีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2476

    มนตรีมีฝีมือทางการบรรเลงฆ้องวง แต่เพื่อให้มีฝีมือในเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง จึงให้มนตรีเปลี่ยนเป็นครูตีระนาดทุ้ม มนตรีได้รับเลือกให้เข้าประจำอยู่ในวงข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานทุกแห่ง ทำให้มนตรีเป็นผู้กว้างขวางในวงสังคมสมัยนั้น

    มนตรีรับราชการอยู่ที่แผนกปี่พาทย์หลวงได้ไม่นาน ก็เกิดการโอนวงปี่พาทย์และโขนละครไปสังกัดอยู่กับกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2478 มนตรีจึงย้ายไปประจำโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยนาฏศิลป์)

     หน้าที่การงานของมนตรี เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนเลื่อนเป็นชั้นเอก ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มนตรีดำรงตำแหน่งศิลปินพิเศษ เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 นับเป็นศิลปินคนแรกของกรมศิลปากรที่ได้รับชั้นพิเศษ

     เมื่อมนตรีเกษียณอายุ กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่ามนตรีมีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการศิลปดุริยางค์ไทย จึงจ้างไว้ช่วยราชการต่อมาอีก 5 ปี จากนั้นก็จ้างในฐานะลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยกับคีตศิลป์ไทย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร

นอกจากการทำงานประจำในหน้าที่ที่กรมศิลปากรแล้ว มนตรียังเป็นอาจารย์พิเศษสอนตามมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง

ครูมนตรีได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในประเภทวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524

    ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสครั้งแรก กับนางสาวลิ้นจี่ บุรานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2475 แต่ได้อยู่ร่วมกันเพียง 2 ปี นางลิ้นจี่ ก็ถึงแก่กรรม มนตรีจึงได้สมรสอีกครั้งกับนางสาวพูนทรัพย์ นาฎประเสริฐ ( นางพูนทรัพย์ ตราโมท ) เมื่อ พ.ศ. 2478 มีบุตรธิดารวม 4 คน คือ
นายฤทธี ตราโมท
นายศิลปี ตราโมท
นางดนตรี ตราโมท
นายญาณี ตราโมท

    มนตรี ตราโมท ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลนนทเวช สิริอายุ 95 ปี 1 เดือน 19 วัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

ผลงาน
    นอกจากครูมนตรีจะมีฝีมือในการบรรเลงดนตรีแล้ว ครูมนตรียังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีกด้วย ครูมนตรีแต่งเพลงมาแล้วมากมาย มากกว่า 200 เพลง ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 เป็นต้นมา
     มีทั้งเพลง 3 ชั้น เพลงเถา เพลงประวัติศาสตร์ เพลงระบำและเพลงเบ็ดเตล็ด เคยมีผู้รวบรวมไว้ได้ถึง 200 กว่าเพลง นอกจากครูมนตรีจะแต่งเพลงดังกล่าวมาแล้ว ครูมนตรียังเคยแต่งเพลงประกวดทั้งบทร้องและทำนองเพลงและได้รับรางวัลที่ 1 เพลงนั้นชื่อว่า "เพลงวันชาติ 24 มิถุนา" เมื่อ พ.ศ. 2483

    เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ครูมนตรี ตราโมทเป็นครูผู้ประกอบพิธีไหว้ครู และครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาวิชาดนตรีไทยของกรมศิลปากร นอกจากครูมนตรีจะกระทำพิธีให้แก่กองการสังคีตและวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดแล้ว ครูมนตรียังทำพิธีไหว้ครูดนตรีไทยให้แก่หน่วยราชการ สถานศึกษาและเอกชนทั่วไป

ครูมนตรีนอกจากจะมีความรู้และความสามารถในการแต่งเพลงและการบรรเลงดนตรีไทยแล้ว ครูมนตรียังมีความรู้ทางด้านโน้ตสากลและดนตรีสากลอีกด้วย ซึ่งยิ่งช่วยเพิ่มความรู้ทางดนตรีไทยและการแต่งเพลงมากขึ้น

    ครูมนตรีรักการอ่านหนังสือทำให้ครูมนตรีมีความรู้กว้างขวาง ครูมนตรีชอบโคลงมาก ครูมนตรีจึงแต่งโคลงไว้มากมาย นอกจากนี้ หนังสือประเภทสารคดีที่เกี่ยวกับวิชาการทางด้านศิลปะ ครูมนตรีก็ได้แต่งไว้หลายเรื่อง เช่น "ดุริยางค์ศาสตร์ไทยภาควิชาการ" "การละเล่นของไทย" "ศัพท์สังคีต"
    นอกจากนี้ก็มีเรื่องสั้น ๆ ที่ครูมนตรีเขียนไว้ในหนังสือต่าง ๆ เช่น เรื่องปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์ชวา เครื่องสายไทย ดุริยเทพดนตรีกับชีวิต วงดนตรีประกอบการแสดงโขน ฯลฯ

    ครูมนตรียังได้เขียนอธิบายความหมายของคำต่าง ๆ ในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานและเขียนเรื่องดนตรีไทยในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 1 ในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ หนังสือหลายเล่ม ครูมนตรีก็ได้มีส่วนเขียนเรื่องดนตรีไทย ภาพกลางลงพิมพ์ในหนังสือชุดศิลปกรรมไทย หมวด "นาฏดุริยางคศิลป์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์" ด้วย

    ผลงานทางด้านข้อเขียนของครูมนตรี ที่ครูมนตรีภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อทางราชการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่จังหวัดสุพรรณบุรีแล้วเสร็จ ได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเรียบเรียงข้อความที่จะจารึกเทิดทูนพระวีรเกียรติประวัติของพระองค์ โดยใช้ถ้อยคำแต่น้อยกินความมาก เพื่อให้พอเหมาะกับขนาดแผ่นจารึกที่ฐานพระราชานุสาวรีย์ ผลการคัดเลือกปรากฏว่า ข้อความของครูมนตรีได้รับการพิจารณาให้จารึกในแผ่นศิลาดังกล่าว

ครูมนตรีเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ครูมนตรีเคยได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการมากมายหลายคณะ เช่น

กรรมการตัดสินเพลงชาติ
กรรมการศิลปะของสภาวัฒนธรรม
ประธานกรรมการการรับรองมาตรฐานวิทยาลัยเอกชน สาขาดุริยางคศิลปะของทบวงมหาวิทยาลัย
รองประธานกรรมการตัดสิน การอ่านทำนองเสนาะ
กรรมการตัดสินคำประพันธ์เรื่องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแบบเรียนวิชาดนตรีศึกษา ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ฯลฯ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2535 – Order of the White Elephant - Special Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2530 – Order of the Crown of Thailand - Special Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2530 – Order of Chula Chom Klao - 2nd Class upper (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
พ.ศ. 2547 – Order of the Direkgunabhorn 2nd class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ (ท.ภ.)
พ.ศ. 2514 – Dushdi Mala - Civilian (Thailand).svg เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))
พ.ศ. 2488 – Chakrabarti Mala Medal (Thailand) ribbon.svg เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
พ.ศ. 2521 – King Rama IX Royal Cypher Medal (Thailand) ribbon.svg เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)
พ.ศ. 2494 – King Rama IX Coronation Medal (Thailand) ribbon.svg เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
พ.ศ. 2475 – 150 Years Commemoration of Bangkok Medal ribbon.svg เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)

เกียรติประวัติ
เกียรติคุณในฐานะบัณฑิต
    -ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2523
    -ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในประเภทวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524
    -ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
    -ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2526

รางวัล
    -ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย พ.ศ. 2528 (มนตรี ตราโมท เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านดนตรีและเพลงไทยเป็นเยี่ยมหาผู้ใดเทียบมิได้ สมควรที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทยอย่างแท้จริง)
    -นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2529

    นายมนตรีเป็นอัจฉริยศิลปินที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีอย่างแตกฉาน ทั้งทางด้านดุริยางค์ วรรณคดี ดนตรีปี่พาทย์ โดยเฉพาะระนาดทุ้ม ที่สำคัญคือเป็นผู้ถวายการครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีไทย และถวายความรู้ด้านดนตรีไทยแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีผลงานประพันธ์ไทยกว่า 200 เพลง เช่น เพลงโสมส่องแสง เพลงเถา เพลงม่านมงคล เพลงวันชาติ เพลงงามแสงเดือน นอกจากนี้ยังความรู้ด้านโน้ตสากลและดนตรีสากลอีกด้วย

    นายมนตรี ยังมีผลงานการแต่งบทกวีนิพนธ์เรื่องสั้นเรื่องยาว บทโทรทัศน์ บทละคร แต่งตำราดุริยางคศิลป์ไทย การละเล่นของไทย ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย การละครไทย ในการด้านศึกษายังสร้างหลักสูตรสาขาดนตรีและนาฏศิลป์ไทยให้แก่โรงเรียนนาฏศิลป์

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #83 เมื่อ: 22 มีนาคม 2566, 03:44:44 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ (จักรพรรณ์ อาบครบุรี)














....“ใจสารภาพ”อย่าทิ้ง............จากฉัน   เจ็บนา
      ฝันว่า“(ต้อง)มีสักวัน”.........สุขล้น  
     “ขอโทษที่คิด(ถึง)”มัน.........รักห่วง   เธอแสน
     “แทนคำว่าเหงา”ค้น............ไว้แต่งคำกลอน......

....“วอนดีเจ”ช่วยด้วย..............รับกลอน   อ่านนา
   ผ่านถึงโฉมบังอร.................ห่วงให้
    “จักรพันธ์”อยู่ “คร(บุรี)”.......คนหล่อ   เสียงดี
     มีหนึ่งฉายาได้...................“เจ้าชายลูกทุ่ง”....

....มาปรุงเรือนบ้านใหม่.............แทนคุณ   แม่นา
    คราเด็กแม่เจือจุน..................ไร้พ่อ
   “เจริญ เจริญ”หมั่นทำบุญ......กับแม่   นานมา
    พาส่งเหมาะสมหน้อ..............โล่”ลูกกตัญญู”.....

 

จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ (ชื่อเล่น ก๊อท, เกิดวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2511) หรือชื่อเดิม จักรพรรณ์ อาบครบุรี เป็นนักร้องลูกทุ่งชาวไทยที่มีฉายาว่า "เจ้าชายลูกทุ่ง"

ประวัติ
วัยเด็ก และก่อนเข้าวงการเพลง
    จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ บ้านเกิดที่ บ้านไทรโยง ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นลูกคนที่ 3 จาก 4 คน มีมารดา พื้นเพเป็นชาวอำเภอครบุรี และบิดาเป็นชาวอเมริกัน บิดาเป็นทหาร ย้ายมาประจำการที่จังหวัดนครราชสีมา จึงพบมารดาซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ครัวในค่ายทหาร ทั้งคู่แต่งงานกัน มีลูกด้วยกัน 4 คน บิดาถูกเรียกตัวกลับไปยังสหรัฐตั้งแต่เขายังเด็กมาก โดยไม่มีรูปทิ้งไว้ เขาจึงจำหน้าไม่ได้ มารดาไม่ย้ายไปด้วยตามคำชวน เพราะห่วงยายของเขา และเกรงมีปัญหาการปรับตัวเพราะด้อยการศึกษา และเพราะบิดาต้องย้ายไปประจำการอีกหลายประเทศ จึงขาดการติดต่อทางจดหมายโดยไม่รู้ชะตากรรมในที่สุด
  เขาจะเป็นเด็กเงียบ ๆ ชีวิตวัยเด็กลำบากมาก เพราะมารดายากจน มีลูก 4 คน อยู่บ้านเช่า ทำงานรับจ้างได้ค่าแรงรายวันไม่มาก พี่สาวและพี่ชาย ได้เรียนแค่ ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องออกมาทำงานหาเงิน มารดาจึงส่งเขาไปให้อยู่กับตายายที่ อ.ครบุรี เมื่อเขาอายุ 6 ปี เเขาเกือบไม่ได้เรียนหนังสือ แต่โชคดี มีคนรู้จักกันขอไปเลี้ยงดูเป็นบุตรที่จังหวัดกาญจนบุรี มารดาตัดสินใจยกให้เพื่ออนาคตของลูก

    บิดาบุญธรรมเป็นทหาร มารดาบุญธรรมเป็นแม่บ้าน ซึ่งดูแลอย่างดี ชีวิตเปลี่ยนไปเหมือนเกิดใหม่ มีห้องของตัวเองจากที่เคยนอนรวมกัน และได้เข้าโรงเรียน เขาเริ่มได้รับอิทธิพลเรื่องเพลงตั้งแต่ช่วงนั้น บิดามารดาบุญธรรมชอบฟังเพลงลูกกรุง ได้ฟังบ่อยๆ จึงซึมซับ
    สมัยนั้นการเดินทางการสื่อสารไม่สะดวก จึงไม่ได้กลับไปเยี่ยมแม่ แม่เองก็ไม่ได้มาเพราะภาระการเงิน ซึ่งเขามักถามเสมอว่า ทำไมมารดาไม่มา อยากพบ
  จน พ.ศ. 2523 อายุ 11-12 ปี ยังไม่ทันจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บิดามารดาบุญธรรมจึงอนุญาต โดยขอคนสืบให้ ใช้เวลาหลายเดือนจนรู้ว่า มารดาเช่าบ้านอยู่ ในซอยบริเวณสามแยกปักธงชัย เขาเดินทางลำพังจากจังหวัดกาญจนบุรี จนพบและกอดกันร้องไห้ดีใจ และได้รู้จัก สามีใหม่ของแม่ ซึ่งเรียกว่า "ป๋า" เมื่อทุกคนขอร้องให้อยู่ และเริ่มปรับตัวได้ จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน โดยไม่เรียนต่อ ผ่านมา 3 สัปดาห์ ก็ไปทำงานกับป๋า ที่อู่ซ่อมรถ เริ่มจากเด็กฝึกงาน จนเลื่อนเป็นช่างทำสีรถ เมื่ออายุ 13 ปี เท่านั้น   
    ต่อมา เขาต้องออกจากงานช่าง กลับไปอยู่กับตายาย ที่อำเภอครบุรี เพราะน้าเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ และช่วยเลี้ยงควาย 3 ตัว แทนน้า เขาปรับตัวใหม่อีกครั้ง บ้านยายเป็นชนบทที่กันดาร ไม่มีไฟฟ้า การเป็นลูกครึ่งในท้องที่นั้นเป็นเรื่องแปลก เพราะผิวขาวกว่าทุกคน จนปรับตัวได้ มีเพื่อนจำนวนมากที่ต้อนควายของตนไปเลี้ยงด้วยกัน
    ช่วงนั้น วันหนึ่งพบวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องใหม่เอี่ยมแต่มีสนิมห่อผ้าซ่อนอยู่ในที่รกกลางทุ่งนา จึงคาดว่าถูกขโมยมาซ่อนไว้แต่ลืมทิ้ง จึงเก็บมาใช้ ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ผูกพันกับเพลงลูกทุ่ง โดยใช้วิทยุเป็นเสมือนครูที่เปิดฟังและร้องตาม ในปี พ.ศ. 2527 หลังอยู่กับตายายได้ 4 ปี ก็กลับไปอยู่กับแม่อีก ทำงานเป็นช่างเช่นเดิม

แรกเริ่มในวงการเพลง
    ทุกวันอาทิตย์ ในตัวจังหวัด มีการประกวดร้องเพลงที่จัดโดย นที สุนันทา ดีเจชื่อดัง ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้เข้าประกวด รายการชุมทางคนเด่น ของ ประจวบ จำปาทอง เขาไปดูทุกครั้งและอยากประกวดมากแต่ไม่กล้า
    ต่อมา เขาสมัครทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในโรงแรม ซึ่งอยู่ใกล้กับเวทีประกวด โดยไปดูการประกวดทุกครั้งกับเพื่อนที่ชื่นชอบเหมือนกัน เขาร้องเพลงขณะทำงาน เหมือนการฝึก ซึ่งมักร้องเพลงของ สายัณห์ สัญญา หรือ ยอดรัก สลักใจ โดยใช้เพลงดังกล่าวไปประกวด และได้เข้ารอบในครั้งที่ 3 ผู้จัดให้ผู้เข้ารอบได้ร้องเพลงอัดเสียง เพื่อนำไปเปิดในรายการวิทยุให้คนทางบ้านช่วยตัดสิน
    ช่วงที่รอ เซลส์แมนขายเครื่องเสียงตามบ้าน มาพักที่โรงแรม ซึ่งขณะทดสอบเครื่อง ให้เขาร้องเพลงลองเสียง และชื่นชอบ จึงชวนให้ไปอยู่ด้วย ช่วยขายของ ร้องเพลงเรียกลูกค้า รับเงินเดือนประจำ เขาสนุกกับชีวิตตะลอนทัวร์ประมาณ 2 ปี โดยไม่กลับบ้าน ส่งแต่เงินกลับ
    จนเดินสายมาถึงจังหวัดระยอง เพื่อนของหัวหน้ากลุ่มเซลล์แมนเปิดร้านคาเฟ่ เขาเห็นคาเฟ่เป็นครั้งแรกและชอบมาก หัวหน้าฝากงานให้ แต่ได้เป็นหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟ ไม่ได้ขึ้นร้องสักคน จึงไปหางานที่พัทยา เพราะเพื่อนชวน หางานอยู่หลายที่ จนได้งานที่ร้านแห่งหนึ่ง แม้เงินเดือนไม่มาก แต่ได้ทิปหลักหมื่นต่อเดือนในสมัยนั้น จึงมีความเป็นอยู่ดีขึ้นมา มีเงินส่งกลับจำนวนมาก

สู่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ออกอัลบั้มแรก
    ประมาณ 1 ปี ได้ย้ายมาประจำที่ร้านไอส์แลนด์ ว่าว อนุวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นโปรดิวเซอร์ของ คีตา เรคคอร์ดส มาพบ ให้เข้ากรุงเทพฯ ทดสอบเสียง แต่ไม่ผ่าน จึงกลับไปทำงานที่เดิม
    อีกประมาณ 3-4 เดือนต่อมา เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ก่อตั้งร่วมและโปรดิวเซอร์ของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (ขณะนั้นชื่อ บริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์) มาชวนออกอัลบั้ม โดยต้องเรียนเพิ่มเติม ทั้งการร้องเพลง ภาษา วิธีการทำงานในห้องอัด และอื่น ๆ รวมถึงปรับปรุงบุคลิกอย่างผู้มีการศึกษาระดับสูง ตามกระแสนิยม โดยแกรมมี่เช่าอพาร์ตเมนต์ให้อยู่ มีเงินเดือนให้ โดยมีศิลปินรุ่นเดียวกันที่เรียนร้องเพลงคือ ใหม่ เจริญปุระ

    ปี พ.ศ. 2533 ช่วงการผลิต เซ็ตอัลบั้มชุด "แม่ไม้เพลงไทย" รวมศิลปินหลายคน ร้องเพลงเก่าที่ดังในอดีต และยังหาคนสุดท้ายไม่ได้ สำหรับแนวเพลงระดับครูของ สุรพล สมบัติเจริญ เต๋อจึงเสนอชื่อเขา และได้เป็นอัลบั้มชุดแรกของเขา ชุดอัลบั้มนี้ขายดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงที่เขาร้อง

ในช่วงเวลาเดียวกัน เขาเริ่มมีงานแสดงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความนิยม และสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นอย่างมาก

วิสัยทัศน์ที่แม่นยำของเต๋อ
    ยุคนั้น แนวเพลงไทยสากล (สตริง) มีกระแสนิยมมากกว่าแนวเพลงลูกทุ่ง เขาจึงเสนอว่าเพราะอายุยังน้อย น่าลองทำผลงานเพลงสตริงก่อน เพื่อให้ตรงกับการตลาด ซึ่งเต๋อยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเขาเหมาะกับเพลงลูกทุ่ง แต่ก็ไม่คัดค้าน โดยพูดว่า "นายจะประสบความสำเร็จกับการร้องเพลงลูกทุ่ง เพราะเราเห็น แต่ถ้าอยากจะลองทำสตริงดูก็ได้"

     จึงเกิดอัลบั้มชุดที่ 2 "ก๊อต ช็อต" ที่เปลี่ยนแนวเป็นสตริง และอัลบั้มชุดที่ 3 "ก๊อต เพราะใจไม่เหมือนเดิม" เป็นเพลงฟังสบาย แต่เนื่องจากสาเหตุฟังยาก ไม่ติดหู จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม ซึ่งอัลบั้มชุดที่ 3 มีนักร้องหญิงมาคอรัสให้เขาคือ โบ - สุนิตา ลีติกุล ซึ่งตอนนั้นโบยังไม่เป็นศิลปินเต็มตัวและก่อนจะมีอัลบั้มและสร้างปรากฏการณ์ล้านตลับใน 2 ปีต่อมา

    ในปี พ.ศ. 2538 ก๊อตกลับมาปรึกษากับเต๋ออีกครั้งว่า อยากลองเปลี่ยนกลับมาร้องเพลงลูกทุ่ง เต๋อดีใจมาก เพราะคิดว่าเหมาะสมและเข้าทาง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ก่อตั้งแกรมมี่โกลด์ เป็นบริษัทในเครือ โดยแยกสายการผลิตเพลงลูกทุ่ง ออกจากแนวสากล โดยกริช ทอมมัส เป็นกรรมการผู้จัดการและหนึ่งในโปรดิวเซอร์

    ทีมงานจึงผลิตเช็ตอัลบั้มชุด "หัวแก้วหัวแหวน" ออกมาจำนวน 5 ชุด และวางจำหน่ายพร้อมกันทั้งหมด โดยกริช ทอมมัส เป็นโปรดิวเซอร์ประจำตัวของเขานับแต่นั้นเรื่อยมา และถึงแม้ว่าจะสร้างหลายอัลบั้มพร้อมกัน แต่ก็ขายได้ถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 2 ล้านตลับ (ยุคนั้นยังจำหน่ายเพียงตลับเทป) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างชื่อและแจ้งเกิดในวงการลูกทุ่งของก๊อท (ความนิยมนั้นแม้ผ่านมา 20 ปี ก็ยังผลิตอัลบั้มรวมฮิตขายได้อยู่)

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง และการมีส่วนร่วมในผลงาน
    เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งด้วย เพราะเริ่มผสมดนตรีแบบไทยสากลในเพลงลูกทุ่งเล็กน้อย โดยก่อนหน้านั้นลูกทุ่งมีแบบแผนรูปแบบเครื่องดนตรีชัดเจน ผู้นิยมเพลงสตริง รับได้เป็นปกติ ส่วนผู้นิยมเพลงลูกทุ่งเอง ช่วงแรกยังมีความเห็นขัดแย้ง แต่เมื่อเผยแพร่สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มเป็นที่นิยม และยอมรับในที่สุด และในภายหลัง แนวเพลงลูกทุ่งประยุกต์นี้ กลายเป็นกระแสความนิยมที่พบได้มาก ในผลงานของศิลปินรุ่นต่อมา ทั้งค่ายเพลงนี้และค่ายเพลงอื่น ในลักษณะที่ค่อย ๆ ผสมความเป็นไทยสากลมากขึ้นไปอีก

    เนื่องจากการผลิตเช็ตอัลบั้มชุด "ก๊อต หัวแก้วหัวแหวน" ชุดที่ 1-5 จนประสบความสำเร็จ ในปี พ.ศ. 2539 จึงได้ผลิตชุดที่ 6-9 ออกมาอีก ยอดขายรวมทั้ง 9 ชุด กว่า 10 ล้านตลับ อย่างไรก็ตาม เต๋อ เรวัต ได้เตือนก๊อทว่า "ขอให้มีสติดี ๆ เพราะความสำเร็จที่เข้ามาขนาดนี้ จะทำให้เราเขวได้" ซึ่งเขาจดจำยึดถือเรื่อยมา

    เนื่องจากในช่วงแรกของอัลบั้ม แกรมมี่ยังไม่สันทัดการจัดการแสดงบนเวทีของเพลงลูกทุ่ง นอกจากการร้อง เขาจึงมีส่วนร่วมในการผลิตอัลบั้มอยู่มาก เช่น การเลือกเพลง การเลือกดนตรี การจัดหานักเต้นประกอบ การผลิตเครื่องแต่งกายนักเต้นประกอบ และอื่น ๆ จนกลายเป็นแนวทางการทำงานในทุกอัลบั้มต่อมา (ในระยะหลัง ยังช่วยควบคุมด้านดนตรีด้วย)

     กรณีเครื่องแต่งกายนักเต้นประกอบ ผู้จัดการประจำตัวที่เขาเรียกว่า "พี่มด" ซึ่งเคยเป็นดีไซเนอร์ของอัลคาซ่ามาก่อน ได้รับผิดชอบจึงจัดหาชุดจากอัลคาซ่ามาดัดแปลงให้นักเต้นประกอบใส่ และเน้นความอลังการในการแสดง ซึ่งได้รับความนิยม จนกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงบนเวทีที่วงดนตรีลูกทุ่งนิยมจัดแสดง รวมถึงทุกอัลบั้มต่อมาของก๊อทเอง เขาถือว่า การแสดงบนเวทีที่อลังการเป็นหัวใจหลักของอัลบั้ม เพราะแฟนคลับชื่นชอบ อีกทั้งพัฒนาการที่ เนื้อหาเพลงหลากหลายขึ้น จึงยิ่งเพิ่มความหลากหลายเครื่องแต่งกาย และเพิ่มรูปแบบการแสดงมากขึ้น เช่น ผสมรูปแบบการแสดงแบบโรงละครเวทีแนวบรอดเวย์ของต่างประเทศ ฯลฯ

เขาเป็นคนที่ทำงานจริงจังมาก และชอบทำบุญ

ศิลปินต้นแบบของเขา ได้แก่ เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ เพราะสนุกกับงานเสมอ และ ตู่ - นันทิดา แก้วบัวสาย เพราะให้กำลังใจและสอนดีมาก ส่วนเขาเองก็เป็นต้นแบบของศิลปินรุ่นน้องจำนวนมากเช่นกัน

ชีวิตหลังประสบความสำเร็จ
หลังประสบความสำเร็จ มีรายได้มากขึ้น ความเป็นอยู่ที่บ้านก็ดีขึ้น เขาดูแลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบ้านของแม่และน้อง ขณะช่วยเหลือพี่สาวกับพี่ชายตามโอกาส เพราะทั้งสองแต่งงานมีครอบครัวของตน

    ใน พ.ศ. 2550 หลังจาก อัลบั้มชุดที่ 4 "ก๊อต จักรพรรณ์ 4 เจริญ เจริญ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ก๊อท จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ เพราะถูกทักว่า เกิดวันศุกร์ ไม่ถูกโฉลกกับ ร.เรือ หลายตัว ส่วนนามสกุล เปลี่ยนให้ความหมายดีขึ้นเป็น ครบุรีธีรโชติ แปลว่า เมืองแห่งความรุ่งเรืองของนักปราชญ์

มีช่วงหนึ่งดำเนินกิจการร้านอาหาร แต่เลิกกิจการไปเมื่อมีงานอัลบั้มต่อเนื่อง

    ก่อนผลิตอัลบั้ม "แทนความคิดถึง" และก่อนผลิตอัลบั้ม "แทนความผูกพัน 20 ปี หัวแก้วหัวแหวน" เขาได้พักผ่อนยาว ใช้เวลากับครอบครัว และใช้โอกาสนี้ปลูกบ้านใหม่ ที่อยู่กับแม่และน้อง โดยดูแลการก่อสร้างทั้งหมดเอง

ผลงานต่อมา
     นอกจากอัลบั้มที่นำเพลงเก่ามาร้องใหม่แล้ว อัลบั้มของตนเอง ที่ประกอบด้วยเพลงแต่งใหม่ ซึ่งนับเป็นชุดที่ 4 ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2546 ผลิตอัลบั้ม "ก๊อต จักรพรรณ์ 4 'เจริญ เจริญ" ที่กลับมาเป็นแนวลูกทุ่งแล้ว และผลิตแต่ผลงานแนวเพลงลูกทุ่งเรื่อยมา

ออกจากแกรมมี่โกลด์
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่อยู่กับแกรมมี่โกลด์ ก๊อทมีอัลบั้มชุดแรก-ชุดที่ 9 หัวแก้วหัวแหวน ปี พ.ศ. 2538 - 2540 และอัลบั้มลูกทุ่งไทยแลนด์ ชุดที่ 1 รักคุณยิ่งกว่าใคร ปี พ.ศ. 2540 ถึง ชุดที่ 7 เพชรตัดเพชร ปี พ.ศ. 2554 อัลบั้ม 20 ปีแทนความผูกพัน หัวแก้วหัวแหวน ชุด 9/1 และ 9/2 อัลบั้มกับอีก 1 อัลบั้มที่ไม่ได้วางขายคืออัลบั้มชุดที่ 8 เอ้อละเหย (ต้นฉบับ เพลงประกอบละคร เพลงรักข้ามภพ)

     ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ก๊อท จักรพันธ์ได้ประกาศว่าได้หมดสัญญากับแกรมมี่โกลด์ เป็นที่เรียบร้อย และเขาตัดสินใจไม่ต่อสัญญา กลายเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว ผลงานสุดท้ายที่เขาทำร่วมกับแกรมมี่โกลด์ คือ นิวคันทรี โดยการนำศิลปินรุ่นใหม่จากรายการลูกทุ่งไอดอล (ซึ่งก๊อทเคยเป็นพิธีกรในซีซั่นที่ 2 และ 3) จำนวน 6 คน มาทำเพลงในรูปแบบวง โดยก๊อทเป็นผู้ควบคุมการผลิตทั้งหมด และผลงานนี้ทำให้ก๊อทมีปัญหากับแกรมมี่โกลด์ในการร่วมงาน จนในที่สุด ก๊อทก็ได้ประกาศขอยุติการร่วมงานทั้งหมดกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม

ผลงานเพลง
อัลบั้มเดี่ยว
2533   ก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี ชุดที่ 1 แม่ไม้เพลงไทย
2535   ก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี ชุดที่ 2 ช็อต
2537   ก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี ชุดที่ 3 เพราะใจไม่เหมือนเดิม
2540   ก๊อต จักรพรรณ์ ลูกทุ่งไทยแลนด์ ชุดที่ 1 รักคุณยิ่งกว่าใคร
2540   ก๊อต จักรพรรณ์ ลูกทุ่งไทยแลนด์ ชุดที่ 2
2544   ก๊อต จักรพรรณ์ ลูกทุ่งไทยแลนด์ ชุดที่ 3
2546   ชุดที่ 4 เจริญ เจริญ
2550   ชุดที่ 5 ขอโทษ...ที่คิดถึง
2552   ชุดที่ 6 คุณ OK ไหม
2554   ชุดที่ 7 เพชรตัดเพชร

อัลบั้มพิเศษ
2538-2539   ก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี หัวแก้วหัวแหวน ชุดที่ 1-9
2540   ก๊อต แดนซ์ ชุดที่ 1-2
2541   ก๊อต จักรพรรณ์ หนึ่งในสยาม ชุดที่ 1-3
2543   ก๊อต จักรพรรณ์ มนต์เพลงสุรพล 1-5
2548   ก๊อต จักรพรรณ์ แทนความคิดถึง 1-2
2549   ก๊อต จักรพรรณ์ ลูกทุ่งกีตาร์หวาน 1-2

เป็นอัลบั้มสุดท้ายที่ใช้ชื่อ "ก๊อต จักรพรรณ์"
2557   แทนความผูกพัน 20 ปี หัวแก้วหัวแหวน ก๊อท จักรพันธ์ 9/1 - 9/2

อัลบั้มรวมเพลง
2538   รวมฮิต ดาวดวงนี้
2541   แชมป์เพลงลูกทุ่ง (เพลงรำวง, เพลงเต้น, เพลงหวาน)
2543   แกรมมี่ ซุปเปอร์สตาร์โปรเจกต์ ก๊อต จักรพรรณ์
2544   ก๊อตฮิต ลูกทุ่งไทยแลนด์
2545   The Best Selected คัดเลือกสุดยอดผลงานที่ดีที่สุดของ จักรพรรณ์ อาบครบุรี อมตะเพลงหวาน / อมตะเพลงรัก
2546   ดีวีดี คาราโอเกะ หัวแก้วหัวแหวน ชุดที่ 1 - 5
2547   รวมฮิต จากคนที่รักเธอ
2549   รำลึกครูสุรพล
    -คู่ฮิตกีตาร์หวาน ก๊อต & ต่าย
2550   12 ปี แกรมมี่ โกลด์
    -เซียนโอเกะ
2553  ก๊อท ชะ ชะ ช่า
    -รวมฮิต จากคนที่รักเธอ 2
    -เพลงรัก...สลักใจ
2554   อมตะเพลงหวานกลางกรุง
    -บทเพลงแห่งรัก
    -43 ปี ที่คิดถึง สุรพล สมบัติเจริญ
2558   ก๊อท จักรพันธ์ อมตะหัวแก้วหัวแหวน
2559   บทเพลงของครู สุรพล สมบัติเจริญ
    -รวมฮิต ด้วยรัก..และคิดถึง
    -คิดถึง สุรพล สมบัติเจริญ
    -ที่สุดเพลงดัง หัวแก้วหัวแหวน
2560   Live ก๊อท โชว์
2561   MP3 ที่สุดเพลงฮิต
    -DVD Karaoke ที่สุดเพลงฮิต
2562   USB รวมฮิต ลูกทุ่งหัวแก้วหัวแหวน

ผลงานร่วมศิลปินอื่น
2534   โลกสวยด้วยมือเรา   ....โลกสวยด้วยมือเรา
2536   ซน งานซนคนดนตรี นานที 10 ปี หน ....ลืมไปไม่รักกัน (ต้นฉบับ วงนูโว
2537   รวมเพลงประกอบละครยามเมื่อลมพัดหวน....โบกมือลา
2538   รวมเพลงประกอบละครคือหัตถาครองพิภพ.....ดาวดวงนี้

รวมเพลงประกอบละครอยากหยุดตะวันไว้ที่ปลายฟ้า   ...เกมเกียรติยศ... สายใย
2539   รวมใจถวายชัย ธ ครองไทย 50 ปี.....ยามเย็น
2540   รวมฮิตเพลงโจ๊ะ   .....รักจางที่บางปะกง....ปูไข่ไก่หลง
2541   เพลงติดดาว 2   
    -ลูกทุ่งท๊อปฮิต   
2542   เพลงรักสำเนียงไทย....พี่มีแต่ให้....บอกรักฝากใจ
2543   เพลงติดดาว 3....วอนดีเจ....สุดห้ามใจรัก....อย่าปล่อยให้เธอลอยนวล
    -x 2 ซูเปอร์ฮิต   
2544   เพลงติดดาว 3....ต้องมีสักวัน....ไม้เบื่อไม้เมา
2545   ครอบครัวลูกทุ่ง....ต้องมีสักวัน
    -ลูกทุ่งกีต้าร์หวาน   
2546   ลูกทุ่งซิ่งสะเดิด   
    -ลูกทุ่งประจัญบาน   
    -2 ทศวรรษ สลา คุณวุฒิ ชุดที่ 2 รวมใจเหล่าผองศิษย์   
    -2547   ลูกทุ่งโป๊งชึ่ง   
    -ลูกทุ่งกีตาร์หวาน 2   
    -2548   10 ปี แกรมมี่ โกลด์ ดนตรีไม่มีพรมแดน ชุดที่ 3   
    -เพลงติดดาวสเปเชี่ยล   
    -ลูกทุ่งไมค์ร้อน   
    -วรรณกรรมเพลงรัก   
    -2549   เพื่อรักเพื่อชีวิต   
    -รางวัลแห่งเกียรติยศ 10 ปี แกรมมี่โกลด์   
    -สื่อรัก สื่อใจ   
    -แรงใจในเพลง   
    -น้ำตานองวันน้องแต่ง   
    -รวมเพลงละครพันล้าน   
    -คู่ร้องทำนองรัก   
2550   เพลงรักกราบตักแม่   
    -รวมฮิต คิดฮอด   
    -ลูกทุ่งแดนซ์สะเดิด 3   
    -ลูกทุ่งแดนซ์สะเดิด 4   
    -มิวสิคบ๊อกซ์ ลูกทุ่งบรรเลง   
    -ลูกทุ่งแดนซ์ซิ่งแดนเซอร์ 3   
    -เกียรติยศมาลัยทอง นักร้องชาย   
    -เรียงร้อยเพลงรัก   
    -Seven ลูกทุ่ง   
2551   ลูกทุ่งท็อปดาวน์โหลด 2   
    -ลูกทุ่งสู้ชีวิต   
ลูกทุ่งบิ๊กสะเดิด 2   
   -เพลงกอดแม่   
    -ลูกทุ่งโบว์แดง   
    -ลูกทุ่งโบว์แดง 2   
    -ลูกทุ่งซูเปอร์สตาร์ปาร์ตี้ 2008   
    -มนต์รักสัญจร   
    -ลูกทุ่งหนุ่มเสียงทอง   
    -ลูกทุ่งแดนซ์ซิ่งแดนซ์เซอร์ 4   
    -บันทึกรักพันล้าน   
    -รวมฮิต คิดฮอด 2   
    -ดวงใจภิรมย์   
2552   รวมใจทุกคู่ แด่...ครูสลา ชุด ขอบคุณฟ้าที่ให้เจอ ขอบคุณเธอที่ให้ใจ   
    -ใจหมดฮัก   
    -ฮักหมดใจ   
    -ลูกทุ่งร็อกสะเดิด 2   
    -หัวใจไม่ท้อ   
    -ก๊อท & ไมค์   
    -ฮิตบิ๊กเบิ้ม   
    -เพลงรักสัญญาณใจ   
    -ลูกทุ่งซูปเปอร์ฮิพฮอพ 3   
    -ลูกทุ่งเพื่อชีวิตรวมมิตรฮิตระเบิด   
    -เพลงสวรรค์บ้านนา มนต์สปาลูกทุ่ง   
    -วิมานเพลงรัก   
    -เพลงหวานกลางกรุง   
2553   ผู้หญิงอยากรู้ ผู้ชายอยากถาม   
    -แฟนทีวีฮิต 3   
    -คู่รักอมตะ นิรันดร์กาล   
2554   ลูกทุ่งชายหัวใจซูเปอร์แดนซ์   
    -ลูกทุ่งสาวซูเปอร์เซิ้ง ปะทะ หนุ่มซูเปอร์ซิ่ง   
    -ลูกทุ่งซูเปอร์แซบ   
2555   ออนซอนอีสาน   
2556   เพลงดัง ฟังเพลิน โดนใจ ใช่เลย   
    -คู่ฮอต เพลงฮิต   
2557   ออนซอนอีสาน 4.....ฝากใจไว้ที่อีสาน.....นครโคราช
2559   ลูกทุ่งงานแต่ง
   
เพลงประกอบละคร
2544   หงส์ฟ้ากับสมหวัง
2546   ลิเก๊..ลิเก
2549   เธอคือดวงใจ

คอนเสิร์ตใหญ่
พ.ศ. 2541   ก๊อต อะเมซิ่ง ลูกทุ่งไทยแลนด์   
พ.ศ. 2552   Got Show ตอน คนสำคัญกับวันพิเศษ   
พ.ศ. 2555   Got Show เพชรตัดเพชร   
พ.ศ. 2557   แทนความผูกพัน 20 ปี หัวแก้วหัวแหวน   
พ.ศ. 2559   วันแรงงาน   

คอนเสิร์ตร่วมกับศิลปินคนอื่น
พ.ศ. 2534   Earth Day (ครั้งที่ 1)   21 เมษายน   สนามกีฬากองทัพบก
พ.ศ. 2537   10 ปี แกรมมี่   9 มกราคม   อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก
พ.ศ. 2542   พลังแผ่นดิน   20 พฤศจิกายน   ลานพระบรมรูปทรงม้า
พ.ศ. 2545   ถูกใจคนไทย ร่วมใช้สินค้าถูกกฎหมาย   18 สิงหาคม   สนามหลวง
พ.ศ. 2546   2 ทศวรรษ สลา คุณวุฒิ   17 สิงหาคม   อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
พ.ศ. 2547   Pattaya Music Festival 2004   21 มีนาคม   เมืองพัทยา
พ.ศ. 2548   ด้วยแสงแห่งรัก The Light of Love   13 กุมภาพันธ์   เวทีกลางแจ้ง สวนลุมพินี
พ.ศ. 2550   ด้วยรักแด่ครูสลา   11 มีนาคม   ปากชอย อ่อนนุช
พ.ศ. 2550   รวมพลัง คนไทยทั้งแผ่นดิน   23 เมษายน - 1 พฤษภาคม   มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พ.ศ. 2552   รอยยิ้มเพื่อพ่อ ครั้งที่ 2   7 มีนาคม - 4 กรกฎาคม   จังหวัดระยอง, ภาดใต้, สุราษฎร์ธานี, ภาดเหนือ, ภาดอีสาน, จังหวัดนครราชสีมา, ภาดกลาง, กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2554   Pattaya Music Festival 2011   20 มีนาคม   เวทีแหลมบาลีฮาย, เวทีพัทยากลาง(ข้างโรงแรม ฮาร์ดร๊อค), เวทีพัทยาซอย 4 และ เวทีพัทยาใต้
พ.ศ. 2555   Pattaya Music Festival 2012   29 มีนาคม   บริเวณริมหาดพัทยา ตั้งแต่พัทยาเหนือถึงพัทยาใต้
พ.ศ. 2557   Pattaya Music Festival 2014   23 มีนาคม   ข้างโรงแรมฮาร์ดร็อกพัทยา เรกเก้ ถนนคนเดินพัทยา เซ็นทรัลเฟส บริเวณพัทยากลาง
พ.ศ. 2558   Pattaya Music Festival 2015   22 มีนาคม   บริเวณถนนสายชายหาด แหลมบาลีฮาย จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2558   78 ปี ตำนานแห่งสายน้ำ ครูชลธี ธารทอง   16 พฤษภาคม   หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

รางวัลที่ได้รับ
รางวัล เมขลา ปี พ.ศ. 2536 สาขานักแสดงดาวรุ่งชาย จากละครเรื่อง "วันนี้ที่รอคอย"
รางวัล ลูกกตัญญู ปี พ.ศ. 2537
รางวัล ครอบครัวขวัญใจประชาชน
รางวัล แต่งกายดีเด่น สาขาศิลปินนักร้อง
รางวัล พระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2540 สาขานักร้องลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม จากเพลงเรือนหอน้ำตา
รางวัล พระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2541 สาขาเพลงไทยลูกทุ่งชายเอี่ยม จากเพลงแด่..แม่

รางวัล คนดีศรีโคราช ปี พ.ศ. 2541
รางวัล พระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2544 สาขาเพลงไทยลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม จากเพลง สมหวังนะครับ
รางวัล มาลัยทอง ปี พ.ศ. 2544 สาขานักร้องชายยอดนิยม จากเพลงต้องมีสักวัน

รางวัล มาลัยทอง ปี พ.ศ. 2546 สาขาเรียงเรียงเสียงประสานยอดเยี่ยม จากเพลงเอิ๊ง เอ่ย
รางวัล มาลัยทอง ปี พ.ศ. 2546 สาขานักร้องชายยอดเยี่ยม จากเพลงใจสารภาพ
รางวัล มาลัยทอง ปี พ.ศ. 2546 สาขาคำร้องยอดเยี่ยม จากเพลงสวรรค์ปลายนา
รางวัล พระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2547 สาขานักร้องลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม เพลงใจสารภาพ
รางวัล มาลัยทอง ปี พ.ศ. 2549 สาขานักร้องชายยอดเยี่ยม จากเพลงเธอคือดวงใจ
รางวัล ขวัญใจคอเพลงลูกทุ่ง ปี พ.ศ. 2550 จาก TV POOL และ สวนดุสิตโพล
รางวัล พระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ 7 ปี พ.ศ. 2553 2 รางวัล สาขานักร้องลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม และเพลงยอดเยี่ยม

ผลงานอื่น ๆ
เพลงประกอบละคร โฆษณา
พ.ศ. 2537 เพลง "สายใย" ประกอบละคร “สายรักสายสวาท”
พ.ศ. 2537 เพลง "เกมเกียรติยศ" ประกอบละคร “เกมเกียรติยศ”
พ.ศ. 2538 เพลง "ดาวดวงนี้" ประกอบละคร “ดาวแต้มดิน”
พ.ศ. 2552 เพลง "นำทางรวย" ประกอบโฆษณา “รถกระบะอีซูซุ”
พ.ศ. 2558 เพลง "สมหวังนะครับ" ประกอบโฆษณา “สมหวัง เงินสั่งได้”

ผลงานละครโทรทัศน์
กำลังใจ ปี พ.ศ. 2534 - 2535 ช่อง 7 (ผลงานละครเรื่องแรก โดยเป็นละครชุดตอนเย็น)
ด้วยเนื้อนาบุญ ปี พ.ศ. 2534 - 2535 ช่อง 7 (ตัวประกอบ)
วันนี้ที่รอคอย ปี พ.ศ. 2536 ช่อง 7 รับบทเป็น จ้าวฉินเจียง (แสดงร่วมกับ “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์, สรพงศ์ ชาตรี และได้รับรางวัลเมขลาดาวรุ่งชาย)
สายรักสายสวาท ปี พ.ศ. 2537 ช่อง 3 รับบทเป็น ภาคิไนย คู่กับ ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี
เกมเกียรติยศ ปี พ.ศ. 2537 ช่อง 5 คู่กับ ธนาภรณ์ รัตนเสน + รัญญา ศิยานนท์
ดาวแต้มดิน ปี พ.ศ. 2538 ช่อง 7 รับบทเป็น ภุมวา คู่กับ สุวนันท์ คงยิ่ง, อนันต์ บุนนาค
สาวใช้คนใหม่ ปี พ.ศ. 2539 ช่อง 9 รับบทเป็น ไผท คู่กับ ชไมพร สิทธิวรนันท์
หงส์ฟ้ากับสมหวัง ปี พ.ศ. 2544 ช่อง 7 รับบทเป็น สมหวัง คู่กับ พิยดา อัครเศรณี, วัชระ ปานเอี่ยม, ธงชัย ประสงค์สันติ, ไพโรจน์ ใจสิงห์
ลิเก๊..ลิเก ปี พ.ศ. 2546 ช่อง 7 รับบทเป็น พงศ์เทพ / หลง คู่กับ ภัครมัย โปตระนันท์, ไพโรจน์ ใจสิงห์, ชาย เมืองสิงห์
เธอคือดวงใจ ปี พ.ศ. 2549 ช่อง 3 รับบทเป็น ปฐวี คู่กับ เข็มอัปสร สิริสุขะ, สันติสุข พรหมศิริ
หมัดเด็ดเสียงทอง ปี พ.ศ. 2558 ช่อง โมเดิร์นไนน์ทีวี รับบทเป็น ก๊อต คู่กับ เล็ก อรวี

ผลงานภาพยนตร์
เพื่อนซื่อพาก๊อง (เป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวที่เล่นกับ บอย อินคา กำกับการแสดงโดย ประยูร วงศ์ชื่น) (2536)

พิธีกร
ลูกทุ่งไอดอล SS2 ปี พ.ศ. 2562 (เป็นกรรมการตัดสินร่วม)
ลูกทุ่งไอดอล SS3 ปี พ.ศ. 2563 (เป็นกรรมการตัดสินร่วม)





บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #84 เมื่อ: 23 มีนาคม 2566, 07:37:03 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @ศรวณี โพธิเทศ












       
         ....”หิมพานต์”“เธอเท่านั้น”........”สาส์นรัก”
             “กระซิบสวาท”พรานรัก”.........”ท่าน้ำ”
              “หงส์ทอง” “สั่งไทร” จัก.......ไป่”ยอด   สน”นา
               “รักวันเติมวัน”ย้ำ................ว่า“โอ้ยอดรัก”    

            ....สุขนัก”ครูเอื้อ”สั่ง..............สอนมา
                  เสริมส่งกรุณา.................ตั้งชื่อ
                 ความหมายว่า”เสียงยา........คมดั่ง   คมศร”
                 นามว่า“ศรวณี”หื้อ.............ร้องอยู่”สุนทราภรณ์”.....

            ....งามงอนมาอยู่ได้................พอนาน
                 สี่ปีครอบครัวพาล...............เหนี่ยวรั้ง
                 ลาออกไป่ทำงาน...............แบบส่วน   ตัวนา
                 ทุนไม่ชงเลยตั้ง.................อัดแผ่น(เงิน)ห้าพัน.....

              .....อัศจรรย์ต่อห้า.................พันนัก
                  เพลงเริ่มแรกมาปัก............รุ่งได้
                     โอ๋“น้ำตาหรือจัก............แก้ปัญ    หาใจ”
                     รับโล่ราชทานไว้............เด่นได้เพลงดี.....

               ....มาปีสองแจ่มได้...............สดใส
                  “ตะแลงแกงแทงใจ”...........ได้โล่
                   "พะวงรัก"เกินใคร.............รับโล่    อีกครา
                   ยอดเยี่ยมเกาหลีโอ้...........ได้หนึ่ง”อารี(รังอวอร์ด)”

                  ...หลายเพลงดีร้องเด่น.........มากนัก
                      “อำนาจแห่งความรัก”.......เริ่ดลิ้ม
“(ความ)คิดถึงเป็นส่วน(หนึ่งของความ)รัก.....ก็เด่น   ดังนา
                      “ไม่มี(แม้)คำลา“ยิ้ม.........ที่เปื้อนน้ำตา”.....


สารนิตย์ โพธิเทศ เป็นที่รู้จักในนาม ศรวณี โพธิเทศ (5 สิงหาคม พ.ศ. 2486) ชื่อเล่น นิตย์ เป็นนักร้องลูกกรุงหญิงชาวไทย โดยเป็นนักร้องลูกกรุงหญิงเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน 3 ปีซ้อน จากเพลง "น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ" (2519), "ตะแลงแกงแทงใจ" (2520) และ "พะวงรัก" (2521) ตามลำดับ และรางวัลอารีรัง (นักร้องยอดเยี่ยม) จากประเทศเกาหลีใต้

ประวัติ
ศรวณี โพธิเทศ มีชื่อจริงว่าสารนิตย์ โพธิเทศ มีชื่อเล่นว่านิตย์ เกิดที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2486   เข้าศึกษาที่โรงเรียนสุรินทรศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาที่ต่อที่โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ (ปัจจุบันคือคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พระนครใต้)

โลกเสียงเพลง
    ศรวณี เป็นคนชอบและสนใจการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันจะฝึกร้องเพลงในโอ่งมังกร และประกวดร้องเพลงตามเวทีต่าง ๆ ซึ่งเธอเองก็ได้รับชัยชนะแทบทุกครั้ง

ด้วยความใฝ่ฝันอยากจะเอาดีในอาชีพนี้ ในปีพ.ศ. 2504 ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ คุณอิ๋มรุ่นพี่ที่หอพักก็ได้แนะนำให้มาสมัครเป็น “นักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ของสุนทราภรณ์” ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงศิลปินคุณภาพภายใต้การฟูมฟักของครูเอื้อ สุนทรสนาน มีหลายคนประสบผลความสำเร็จได้บรรจุเข้ารับราชการ และบางคนก็เกิดอาการท้อถอยถอดใจกลางคัน โดย “ศรวณี” ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าที่จะได้รับบรรจุตำแหน่งศิลปินจัตวาสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ กินเงินเดือน 450 บาทโดยได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรก คือ “เธอเท่านั้น” ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ โดยครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นคนตั้งชื่อให้ว่าศรวณี แปลว่า หญิงผู้มีน้ำเสียงคมดั่งคมศร

    จากนั้นได้เข้ารับบรรจุเป็นข้าราชการ แต่ 4 ปีหลังจากได้บรรจุรับราชการ ร่วมตระเวนร้องเพลงกับครูเอื้อทั้งในวงกรมประชาสัมพันธ์และวงสุนทราภรณ์ ปี พ.ศ. 2515 เธอก็ต้องลาออกจากกรมประชาสัมพันธ์ เพราะภาระทางครอบครัว

    หลังจากลาออกศรวณีก็มาร้องเพลงตามห้องอาหาร  กระทั่งคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตมาพบเข้า จึงพาไปพบคุณวินัย รุ่งอนันต์นักแต่งเพลง แต่ก็ไม่มีห้างแผ่นเสียงไหนรับเธอ ซึ่งในยุคเพลงไทยลูกกรุงเฟื่องฟู นักร้องมีผลงานเพลงของตัวเองเพราะราชรถมาเกยถึงตัก แต่นักร้องลูกหม้อวงกรมประชาสัมพันธ์คนนี้ “ศรวณี” เธอไขว่คว้าหาโอกาส และต้องจ่ายเงิน 5,000 บาทจากน้ำพักน้ำแรงร้องเพลงกลางคืน เพื่อผลิตผลงานเพลง ของวินัย รุ่งอนันต์ ชื่อว่าเพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ” เมื่อปี พ.ศ.2519 ต่อมาปี พ.ศ.2520 ก็ได้บันทึกเสียงเพลง “ตะแลงแกงแทงใจ” (ผลงานเพลงของ วราห์ วรเวช)

 
รางวัล
   การลงทุนทำแผ่นเสียงครั้งนั้นทำให้เธอเข้าใจกระบวนการผลิต เรื่องค่าใช้จ่ายนักดนตรี ค่าห้องบันทึกเสียง รวมถึงการวิ่งแจกแผ่นตามสถานีวิทยุ และผลแห่งความวิริยอุตสาหะ เธอจึงประสบความสำเร็จในชีวิตนักร้อง
     ศรวณีได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ในปี 2519 เพลง น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, ปี 2520 เพลง ตะแลงแกงแทงใจ และปี 2521 เพลง พะวงรัก

    และในปีพ.ศ. 2521 ทางประเทศเกาหลีได้เชิญประเทศไทยให้ส่งนักร้องไปประกวดร้องเพลง ณ ประเทศเกาหลี ซึ่งศรวณี ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมการแข่งขัน โดยใช้บทเพลงที่มีชื่อว่า “พะวงรัก” และได้รับ “รางวัลอารีรังอวอร์ด” (รางวัลนักร้องยอดเยี่ยม)นับเป็นนักร้องจากประเทศไทยคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้

ปัจจุบัน
ปัจจุบัน “ศรวณี โพธิเทศ” มีบุตรธิดา 2 คน คือ นายสมาธิ โพธิเทศ และ นางสาวสุวิภา โพธิเทศ โดยยังรับงานรับเชิญร้องเพลงอยู่

ตัวอย่างผลงาน
พะวงรัก
ตะแลงแกงแทงใจ
น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ
อำลา-ที่เหลืออาลัย
ไม่มีแม้คำลา
ความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของความรัก
ผู้ชำนาญการฆ่า
รักครั้งแรก
ไร้อาวรณ์
เธอเท่านั้น
คำขอร้องครั้งสุดท้าย
ยิ้มที่เปื้อนน้ำตา
คิดถึงทุกลมหายใจ
ฉันหรือคือกากี
สวรรค์ลำเอียง
ไม่น่าพบกันเลย
วิวาห์วาย
โลกต้องการสันติภาพ
อย่าร้องไห้เพื่อฉัน
ฉันอยู่เพื่อใคร
อำนาจแห่งความรัก
คิดดีแล้วหรือ
คิดถึงฉันเป็นคนสุดท้าย
เป็นต้น

รางวัล
รางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากเพลง "น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ" ปี พ.ศ. 2519
รางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากเพลง "ตะแลงแกงแทงใจ" ปี พ.ศ. 2520
รางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากเพลง "พะวงรัก" ปี พ.ศ. 2521
รางวัลอารีรังอวอร์ด จากเพลง "พะวงรัก" ประเทศเกาหลี ปี พ.ศ. 2521

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #85 เมื่อ: 25 มีนาคม 2566, 05:33:00 AM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @รักชาติ ศิริชัย












....แตรวงนำแห่หน้า..............พานาค  บวชนา
   เพลงเล่นหลากมันมาก........น่าเต้น
   สาวสวยแว่วยินอยาก..........ส่ายเอว    งามนอ  
     เกิดเรื่องสนุกเน้น..............ส่ง“รักข้ามคลอง” ......

....เหลียวมองเพลงเก่าร้อง.......คราวัย    ก่อนนา
     “รักชาติ ศิริชัย” ................เก่งร้อง
     คนขอนแก่นมางัย..............เป่นนัก    ร้องแน
   “บุญช่วย”ประกวดร้อง..........เด่นด้วยเสียงดี....

....มี”ลูกสาวเจ้าพ่อ”...............งามขวัญ
    ดันพ่อหวง”ฮักกัน...............บ่ได้”
     ”ฉันทนาที่รัก”ฉัน...............ส่งจด  หมายนา        
     นี่”มองทำไม”ให้................“จ้างก็ไม่รัก”......


รักชาติ ศิริชัย เป็นนักร้องลูกทุ่งในอดีตมีผลงานเพลงคือ " ฉันทนาที่รัก " และ " รักข้ามคลอง " เคยเป็นที่รู้จักกันทั่วทุกหัวระแหงในประเทศ และทำให้ชื่อ " ฉันทนา " ถูกนำมาใช้เรียกบรรดาสาวโรงงานจวบจนถึงทุกวันนี้

ประวัติ
    รักชาติ ศิริชัย มีชื่อจริงว่า บุญช่วย จิวิสาย มีชื่อเล่นว่า "จ่า" เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดขอนแก่น ในครอบครัวที่มีพี่สาว 2 คนเป็นนางเอกหมอลำ ทำให้รักชาติซึมซับเรื่องจังหวะดนตรีมาตั้งแต่เล็ก เมื่อได้ช่วยตีกลอง ฉับ ฉิ่ง ในระหว่างที่พี่สาวซ้อมหมอลำ แต่รักชาติกลับสนใจเพลงลูกทุ่งมากกว่าหมอลำ โดยในช่วงนั้นเขาชื่นชอบรุ่งเพชร แหลมสิงห์มากเป็นพิเศษ

    รักชาติเริ่มจับไมค์ร้องเพลงครั้งแรกในงานแต่งงานงานหนึ่ง จากนั้นเขาก็ตระเวนประกวดร้องเพลงในพื้นที่ใกล้เคียง และก็ชนะเสียเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงหลังๆจึงมักได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมประกวดจากกองประกวด

    ต่อมา รักชาติได้ไปสมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรีชื่อ " จุฬาภรณ์ " ที่จังหวัดมหาสารคาม แต่วงก็อยู่มาได้แค่ 2 เดือนก็หยุด ต่อมาด้วยความช่วยเหลือของคนในวงการ รักชาติได้มีโอกาสบันทึกเสียงเพลงแรกในชีวิต เป็นเพลงของครูชลธี ธารทอง ชื่อ " จดหมายฉบับสุดท้าย " แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงเดินทางกลับบ้านและมาบวชอยู่ 1 พรรษา ระหว่างนั้น มีเพื่อนมาพูดคุยเรื่องการเป็นนักร้องที่กรุงเทพฯ เมื่อสึกออกมา รักชาติ จึงตัดสินใจลงมาที่กรุงเทพ โดยหวังจะมาสมัครเป็นนักร้องกับวง " รุ่งเพชร แหลมสิงห์ " ที่เขาชื่นชอบ แต่ปรากฏว่าเมื่อเดินทางถึงซอย " บุปผาสวรรค์ " เห็นมีการประกาศขายรถบัสเดินสายของวง "รุ่งเพชร " ทำเอาใจคอของรักชาติห่อเหี่ยวไปไม่ใช่น้อย

    ในที่สุด รักชาติก็ไปอยู่กับวงดนตรี " ศรีไพร ลูกราชบุรี " ซึ่งก็มีโอกาสได้ร้องเพลงหน้าเวทีบ้าง ไม่ได้ร้องบ้าง ต่อมาเมื่อวงมาเดินสายอยู่แถวภาคเหนือ รักชาติ ได้ไปพบ สุชาติ เทียนทอง นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังคนหนึ่ง เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ซึ่งครูสุชาติ ก็รับเขาและแต่งเพลงให้ร้องหลายเพลง และหากว่ายามใดที่มีทุนทรัพย์ ก็พาลูกศิษย์เข้าห้องอัดเสียงด้วย ถ้าไม่มีก็หยุดไปก่อน

    รักชาติ ร้องเพลงของสุชาติอยู่หลายเพลง เริ่มตั้งแต่ "แขกจ๋า " และ " ตุ๋ยโฮเตล " แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ   จนมาถึงเพลงที่ 8 เพลงสุดท้ายที่ตกลงกันว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอีกก็คงต้องล้มเลิกการผลักดัน และเพลงสุดท้ายนั้นก็ทำให้รักชาติ ศิริชัย โด่งดังเป็นพลุแตก เพราะมันคือเพลง " ฉันทนาที่รัก "    ซึ่งเป็นเพลงยุคแรกๆที่กล่าวถึงชีวิตของสาวโรงงาน กับข้อความอันเป็นปริศนาในเพลง ที่บอกว่า " ปิดไฟใส่กลอน จะเข้ามุ้งนอนคิดถึงใบหน้า นั่งเขียนจดหมาย แล้วรีบทิ้งไปโรงงานทอผ้า " ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนว่า ปิดไฟแล้วจะเขียนจดหมายได้อย่างไร

    จากความสำเร็จของเพลง " ฉันทนาที่รัก " รักชาติ ยิ่งทวีความดังมากขึ้นไปอีกจากผลงานเพลง สุดฮิต อย่าง " รักข้ามคลอง " และ " ฉันทนาใจดำ " ความดังของเขา ทำให้มีการฉวยโอกาส ตั้งวงดนตรีชื่อ"ฉันทนาที่รัก" ออกเดินสายทั่วประเทศ มีคณะลิเกชื่อรักชาติ ศิริชัย ที่เล่นเรื่อง " ฉันทนาที่รัก " และคำว่าฉันทนา ถูกใช้แทนความหมายของเหล่าบรรดาสาวโรงงาน จวบจนถึงปัจจุบัน

แต่จากนั้น ความนิยมของรักชาติก็ค่อยๆลดลง ปี 2536 รักชาติหันไปผลิตผลงานเพลงหมอลำออก มาชุดหนึ่ง ชื่อว่า " อดีตรักฉันทนา " แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ปี 2550 รักชาติ ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ ด้วยการสลัดเครื่องแต่งกายแบบลูกทุ่ง หันไปออกผลงานเพลงแนวเพื่อชีวิต ชื่อชุด " รักชาติเพื่อชีวิต 1 " ในขณะที่เนื้อหาของเพลงก็เป็นสำเนียงปักษ์ใต้เสียเป็นหลัก

ผลงานเพลงดัง
ฉันทนาที่รัก
รักข้ามคลอง
จ้างก็ไม่รัก
ฉันทนาใจดำ
สาวอุดรใจดำ
โชคดีน้องแดง
ลูกสาวเจ้าพ่อ
มองทำไม
หมอแคนหาคู่
เชิ๊บ เชิ๊บ
ด.จ.ป.
ฮักกันบ่ได้
น้ำตกนางลอย
คิดถึงคำมูล
อดีตรักโรงทอ
สุขเถิดบัวคำ
วิวาห์อาดูร
วันสุดท้าย
ฝากใจไปเวียงจันทน์
หนังเศร้า

อัลบั้มร่วมกับศิลปินคนอื่น
ขวัญใจรั้วของชาติ
ต้นตระกูลเพลงดัง
ต้นฉบับลูกทุ่งไทย
รวม 15 ศิลปินดัง
รวมดาวลูกทุ่ง
รวมฮิตเพลงดังเงินล้าน
รำวงย้อนยุด คณะ รวมดาวลูกทุ่ง
ลูกทุ่งสามช่า
ท็อปฮิตลูกทุ่งไทย
16 เพลงรักโดนใจ
16 เพลงซึ้งโดนใจ

คอนเสิร์ต
คอนเสิร์ต 84 ปี ปรางทิพย์ บรรลือฤทธิ์ (4 ตุลาคม 2563)
คอนเสิร์ต OTOP และของดี อำเภอป่าโมก (26 กันยายน 2559)
คอนเสิร์ต Pattaya Music Festival 2014 (23 มีนาคม 2557)
คอนเสิร์ต Pattaya Music Festival 2013 (24 มีนาคม 2556)
คอนเสิร์ต ลูกทุ่งจ๋ามหาสนุก (21 – 22 เมษายน 2555)

ผลงานการแสดงภาพยนตร์
มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2545) รับบท คนงานเจ้าของอู่รถ
เพลงรักลูกทุ่ง (2539) รับบท รักชาติ

เกียรติยศ
แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เพลงยอดนิยมลูกทุ่งชาย พ.ศ. 2522
โล่ห์พระราชทาน งานกึ่งศควรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1


บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #86 เมื่อ: 26 มีนาคม 2566, 06:06:43 AM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @วินัย พันธุรักษ์











.... ”วินัย พันธุรักษ์”ร้อง..........เสียงนวล    นุ่มนา
     รวมกลุ่ม”ต้อย””เต๋อ”ชวน....แต่งร้อง
 ดิอิม(พอสซิเบิ้ล)เด่นดังยวน.....วัยรุ่น  ก่อนแน
       เลิกเล่นวงยุบร้อง.............เดี่ยวได้ลำเพียง....    

....”ชำมะเลียง”เจ้าเอ่ย...........ลืมกัน     ได้ฤา
      เป่น“ลูกสาวกำนัน”..........”น้องแว่น”
     “ความสาวไม่สำคัญ”.........”ไฟเสน่    หา” นา
      หนุ่ม”ว.ค.รอรัก”แม้น........เป่น”ชู้ทางใจ”.......

....”อยากจะรักสักครั้ง”.........”บัวตอง”
    เจอ”แม่ยอดหญิง”มอง......อยู่ได้
    “พบกันเมื่อสาย”จอง........"แม่ยอด     รัก”นา
    “ไหนว่าจะจำ”ไว้............”สิ้นกลิ่นดิน”ลืม.....


วินัย พันธุรักษ์ ชื่อเล่น ต๋อย เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ขับร้อง-เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2562 และหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งวง ดิอิมพอสซิเบิล เกิดวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยพาณิชยการพระนคร

ประวัติ
    เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเป็นนักร้องเด็กในวงของครูพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ ขณะเรียนโรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี เคยร่วมวง P.M.Pocket Music วงดนตรีวัยรุ่นโด่งดังในยุคนั้น เริ่มเล่นอาชีพกับวงต่าง ๆ หลายคณะ จนกระทั่งร่วมกับเศรษฐา ศิระฉายา ก่อตั้งวง Holiday J-3 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวงดนตรี ดิอิมพอสซิเบิ้ล ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการดนตรีไทย

หลังจากดิอิมฯ ยุบวง ได้ร่วมกับ เรวัติ พุทธินันทน์ ตั้งวง ดิ โอเรียนทัล ฟังค์ ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีชั้นนำวงหนึ่งของไทย
ปัจจุบันเป็นครูสอนร้องเพลงให้กับสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียง KPN และ สถาบันดนตรีมีฟ้า นอกจากนี้ได้เปิดบริษัทพันธุรักษ์ โปรโมชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้เช่าเครื่องเสียงออกงานต่าง ๆ

    ด้านชีวิตส่วนตัวคุณวินัยได้สมรสกับคุณเกษกนก พันธุรักษ์ มีบุตร 2 คน คือ วิตติวัต พันธุรักษ์ (ต็อง) นักร้องและนักแสดง และกาญจน์กันต์ พันธุรักษ์ (ตังค์)

ซิงเกิล
(อย่าทำให้ฉัน)ฝันเก้อ - ต็อง วิตดิวัต พันธุรักษ์ feat. วินัย พันธุรักษ์

ผลงานอัลบั้ม (พอสังเขป)
แผ่นเสียง ชุด เปิดทำนบเจ้าให้ข้าสักหน
แผ่นเสียง ชุด น้ำตาแม่สาตก
เพลงดังหาฟังยาก วินัย พันธุรักษ์ (ค่ายโอเชียนมีเดีย)
รวมฮิต วินัย พันธุรักษ์ แห่งวง ดิอิมพอสซิเบิ้ล (ค่ายเมโทร)
ต้นฉบับเพลงฮิต วินัย พันธุรักษ์ ชุด ชู้ทางใจ (พ.ศ. 2543) (ค่ายโรสวิดีโอ)
เพลง ขวานไทยหนี่งเดียว
เพลง เสียงจากลูกของพ่อ

คอนเสร์ต
คอนเสิร์ต รำลึก 100 ปี ชาตกาล ครูแก้ว อัจฉริยะกุล
คอนเสิร์ต โก๋ VS กี๋ (หลังวัง)
คอนเสิร์ต The Impossibles' 50th Anniversary Concert
คอนเสิร์ต 'สองวัยใจเดียวกัน' ครั้งที่ 2

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2564 – Order of the Direkgunabhorn 4th class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #87 เมื่อ: 28 มีนาคม 2566, 05:21:59 AM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @คาราบาว















....”คาราบาว”ว่าได้..............คือ”ควาย”
    เป็นชื่อจากสามชาย..........บ่งใช้
    “เพลงเพื่อชีวิต”ฉาย.........แนวใหม่   แปลกนา
    บอกเล่าเหตุการณ์ไว้.........เล่นร้องเป็นเพลง.....

....แรกเพลงชื่อ”ลุงขี้............เมา”นอน    ตายแฮ
   แล”หนุ่มสุพรรณ”สอน........เหน่อเว้า
   “มนต์เพลงคาราบาว”วอน....”หนุ่มลำ   มูล”นา  
   .แรกเริ่มตกจากเป้า............ที่ตั้งหวังใจ.....

....ชุดสองใครเล่าไว้.............”แป๊ะขาย   ขวด”นา
     เพลงเด่น”กัญชา”ชาย.......เล่นร้อง
     “เมากีตาร์”ทุกคลาย.........ไป่”หน  ทางใด”
    “โคบาลเมืองไทย”ท้อง.......บ้าน“ด่านเกวียน”นา

....ชุดสามพาเด่นเปรี้ยง..........เบิกบาน
     เป็นเรื่องคนขอทาน...........แต่งร้อง
   “วนิพก”แจ่มนาน...............เพลงเด่น  คักดี
   “จับกัง””หรอย”เหลาบ้อง.....”ไม้ไผ่” “ดอกจาน”.....

....”ท.ทหารอดทน”ไว้...........ชายชา   ตรีนอ
    “ทินเนอร์”ก่อปัญหา..........”ผู้เฒ่า”
     “คนเก็บฟืน””เวลา”...........ก่อไฟ   หุงหา
     “กลิ่นรวงทอง”เป็นเหล้า.....”สวรรค์บ้านนา”....

  ....สุขอุราที่ห้า....................ขายดี  
   “เมดอินไทยแลนด์”มี.........ช่วยซื้อ
    “ราชาเงินผ่อน”ที..............เด็ดเด่น   “หำเทียม”
     “ลูกหิน”“บัวลอย”มื้อ.........”ลูกแก้ว”ต่อยตี.....

.....เพลงมากมีเด่นด้วย...........ฝีมือ  
     เขียนแต่งเรียบเรียงคือ........เรื่องร้อง
     บอกความจริง ชม หรือ.......ส่อเสียด   ชั่วดี
       อีกดนตรีสอดคล้อง...........ช่วยชี้อารมณ์....

....คนชมชอบเล่นร้อง.............หลายปี
     ยกเป่นตำนานดี................เด่นได้
       ดนตรีเพื่อชีวี...................ช่วยชี  วิตนา
       สี่สิบปีฝากไว้...................ร่วมร้อยพันเพลง....

  ....โคลงโยงเยงส่งท้าย............ตำนาน
    “หลวงพ่อคูณ”ลูกหลาน........ช่วยด้วย
   “หลงวัฒน์””แม่สาย”หาญ.......”คนล่า   ฝัน”นา
    “นเรศวร” “บางระจัน” ด้วย.....พ่อ”เจ้าตาก”เอย.....



คาราบาว (อังกฤษ: Carabao) เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตและยังเป็นตำนานเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงโด่งดังและยังเป็นวงที่อมตะตลอดกาลของประเทศไทย โดยมี ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) เป็นหัวหน้าวง

ประวัติ
    วงคาราบาวเกิดจากการก่อตั้งโดยนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว กรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์ 3 คน คือแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล , เขียว - กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ ไข่ - สานิตย์ ลิ่มศิลา ขึ้นที่นั่น ในปี พ.ศ. 2523 โดยคำว่า คาราบาว เป็นภาษาตากาล็อก คือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ แปลว่า ควาย หรือคนใช้แรงงาน ซึ่งทางฟิลิปปินส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตร โดยหมายจะเป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต
    แอ๊ดได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน , จอห์น เดนเวอร์ , ดิ อีเกิ้ลส์ และ ปีเตอร์ แฟลมตัน จากแผ่นเสียงที่ไข่ได้สะสมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาทั้ง 3 คนจึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า คาราบาว เพื่อใช้ในการประกวดดนตรี แสดงบนเวทีในงานของมหาวิทยาลัย โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์คในเนื้อหาที่สะท้อนสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคม
      เมื่อกลับมาเมืองไทย แอ๊ดและเขียวได้ร่วมกันเล่นดนตรีในเวลากลางคืน โดยกลางวันแอ๊ดทำงานอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ ขณะที่เขียวทำให้กับบริษัทฟิลิปปินส์ที่มาเปิดในประเทศไทย ส่วนไข่ก็ขอลาออกจากวงและแยกตัวออกไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ภาคใต้ ทั้งคู่ออกอัลบั้มชุดแรกของวง ในชื่อ ขี้เมา เมื่อปี พ.ศ. 2524 และแอ๊ดก็ได้ติดต่อวงโฮป ให้มาช่วยโปรดิวซ์และเล่นดนตรีในห้องอัดให้ในอัลบั้มชุดนี้ และทำให้คาราบาวพอเป็นที่รู้จักบ้างในอัลบั้มนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้มีสมาชิกในวงเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน คือ เล็ก - ปรีชา ชนะภัย จากวงเพรสซิเดนท์ (โดยเล็กเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนอุเทนถวายกับแอ็ด) และได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 ในชื่อชุด แป๊ะขายขวด โดยเล็กได้ชักชวนสมาชิกวงเพรสซิเดนท์บางส่วน รวมทั้ง อ๊อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ มือเบสที่ตอนนั้นยังอยู่ในวงเพรสซิเดนท์ ให้มาเล่นเป็นแบ็คอัพของทั้ง 3 คน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีกครั้ง

รุ่งเรือง
    วงคาราบาว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในอัลบั้มชุดที่ 3 ในปี พ.ศ. 2526 จากอัลบั้มชุด วณิพก กับสังกัดอโซน่า ด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม โดยมีทีมแบ็คอัพชุดเดิม คือสมาชิกกวงเพรสซิเดนท์ บางส่วน และได้หมู - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เข้ามาร่วมเล่นเครื่องเคาะ, เพอร์คัสชั่นให้ด้วย(และร่วมออกทัวร์คอนเสิร์ทด้วยกัน) บทเพลงจากอัลบั้มนี้มีเนื้อหาที่แปลกแผกไปจากเพลงในยุคนั้น ๆ และดนตรีที่เป็นท่วงทำนองแบบไทย ๆ ผสมกับดนตรีตะวันตก มีจังหวะที่สนุกสนาน ชวนให้รู้สึกคึกคัก เต้นรำได้ จึงสามารถแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในดิสโก้เธคได้เป็นเพลงแรกของไทย และหลังจากอัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้แฟนเพลงหลายๆคนต้องไปหาซื้ออัลบั้มชุดแรกและชุดที่สองมาฟัง ทำให้สองชุดแรกขาดตลาดและเป็นชุดที่หายากมากในเวลานั้น

    ต่อมาในปลายปีเดียวกัน คาราบาวก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 คือ ท.ทหารอดทน ซึ่งได้ เป้า - อำนาจ ลูกจันทร์, เทียรี่ เมฆวัฒนา, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ รัช - ไพรัช เพิ่มฉลาด เข้ามาเป็นวงแบ็คอัพ แต่แอ๊ดกลับมีปัญหากับสังกัดอโซน่าในการทำเพลง เนื่องจากอโซน่าไม่อนุญาตให้วงคาราบาวไปอัดเสียงที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม และให้ใช้ห้องอัดของอโซน่าทั้งที่แอ๊ดรู้ว่าเครื่องมือไม่ทันสมัย รวมทั้งเป็นอัลบั้มแรกของทางวงที่ถูก คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศตามสื่อต่าง ๆ คือเพลง ท.ทหารอดทน และ ทินเนอร์ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายอย่างมาก
    ความโด่งดังของอัลบั้ม ท.ทหารอดทน ทำให้วงคาราบาวทั้งวงได้เป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์เรื่อง ปล.ผมรักคุณ รวมทั้งสมาชิกแบ็คอัพ คือ เทียรี่ เมฆวัฒนา และ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ด้วย พร้อมกับวงเพรสซิเดนท์ อดีตวงดนตรีที่เล็กและอ๊อดเคยอยู่ และด้วยความโด่งดังของวงคาราบาวนั้น ได้ทำให้เล็กได้รับบทเป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่อง หยุดหัวใจไว้ที่รัก ในปี พ.ศ. 2527

     คาราบาวประสบความสำเร็จมากที่สุดในปลายปี พ.ศ. 2527 เมื่อได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 เมด อิน ไทยแลนด์ เป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ซึ่งทำยอดขายได้ถึง 5,000,000 ตลับ  ซึ่งเป็นสถิติยอดจำหน่ายอัลบั้มเพลงของศิลปินไทยที่สูงที่สุดของไทยที่ขณะนั้นยังไม่มีใครทำลายได้
      และเมื่อคาราบาวจัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก คือ คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย ที่เวโลโดรม หัวหมาก ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ก็มียอดผู้ชมถึง 60,000 คน แต่นั่นกลับทำให้เกิดเหตุสุดวิสัยคือผู้ชมขึ้นไปชมคอนเสิร์ตบนอัฒจันทร์ที่เลิกใช้งานแล้ว และมีผู้ชมตีกันกลางคอนเสิร์ต จนกลายเป็นนิยามว่า คาราบาวเล่นที่ไหนก็มีแต่คนตีกัน แอ๊ดได้เตือนเรื่องความปลอดภัยของอัฒจันทร์เป็นระยะๆ ในที่สุดก่อนจบการแสดงครึ่งชั่วโมง และเหลือเพลงที่ยังไม่ได้แสดงอีก 3-4 เพลง เจ้าหน้าที่ตำรวจเกรงว่าอัฒจันทร์จะถล่มลงมาทับผู้ชมจนอาจจะทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก จึงสั่งยุติการแสดง แอ๊ดจึงประกาศยุติคอนเสิร์ตโดยทันที และเพลงสุดท้ายที่แอ๊ดร้อง คือ รอยไถแปร เพื่อเป็นการปลอบใจและส่งผู้ชมให้ค่อย ๆ ทยอยกลับบ้าน


สมาชิกคาราบาวยุคคลาสสิคทั้ง 7 คน ในอัลบั้ม เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2530)
สมาชิกในวงคาราบาวในยุคนั้นเรียกว่า ยุคคลาสสิก มีสมาชิกในวงทั้งหมด 7 คน
ประกอบไปด้วย

ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : หัวหน้าวง , ร้องนำ , กีตาร์ , แต่งคำร้องและทำนอง
ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : กีต้าร์, แบนโจ, ร้องนำ , แต่งคำร้องและทำนอง
เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) : กีต้าร์, ร้องนำ,ร้องประสาน , แต่งทำนอง
กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : กีตาร์,เบส, ร้องนำบางส่วน , ประสานเสียง , คีย์บอร์ด , ควบคุมการผลิต , เพอร์คัสชั่น
อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส , ร้องนำบางส่วน
อาจารย์ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (เล็ก , ธนิสร์) : คีย์บอร์ด, ขลุ่ย, ฟลุต , แซ็กโซโฟน , ประสานเสียง , ร้องนำบางส่วน
อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลอง , เพอร์คัสชั่น

ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2533 เรียกได้ว่าเป็นปีทองของวงคาราบาว โดยมีแอ๊ดเป็นผู้นำ โดยออกอัลบั้มออกมาทั้งหมด 5 ชุด ทุกชุดประสบความสำเร็จทั้งหมด ได้เล่นคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกา และในทวีปยุโรปหลายครั้ง รวมทั้งปี พ.ศ. 2528 วงคาราบาวได้แสดงภาพยนตร์เรื่องเสียงเพลงแห่งเสรีภาพร่วมกันทั้งวง และมีหลายเพลงของวงดนตรีคาราบาวที่ฮิตและติดอยู่ในความทรงจำของแฟน ๆ คาราบาวจนถึงปัจจุบัน เช่น เมด อิน ไทยแลนด์ , มหาลัย , เรฟูจี , บัวลอย (ถึกควายทุย ภาค 5) , คนจนผู้ยิ่งใหญ่ , ซาอุดรฯ , เจ้าตาก , เวลคัม ทู ไทยแลนด์ , กระถางดอกไม้ให้คุณ , คนหนังเหนียว , บาปบริสุทธิ์ , แม่สาย , ทับหลัง , รักทรหด เป็นต้น อีกทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเพลงไทยในด้านต่าง ๆ เช่นดังนี้

    วงคาราบาวเป็นศิลปินกลุ่มแรกของไทยที่มีโฆษณาลงในปกอัลบั้มและได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ในสังคม เช่นเครื่องดื่มโค้ก
คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวง ทำโดยคนไทย ในปี พ.ศ. 2528 นับเป็นคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ครั้งแรกของไทย และ เป็นครั้งแรกที่มีการแสดงดนตรีในเวทีกลางแจ้ง
อัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทย ถึงแม้เพลงนี้จะไม่มีมิวสิกวีดีโอ แต่เมื่อเพลงได้ถูกเผยแพร่ออกไป และ ได้รับความนิยมถึงขีดสุด ทางรัฐบาลในขณะนั้นนำโดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในเนื้อหาที่รณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย จึงได้จัดทำมิวสิกวีดีโอขึ้นมาต่างหากเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ไม่ได้ส่งเสริมการขายอัลบั้มแต่อย่างใด
แต่เพลงของวงคาราบาวบางเพลง แอ๊ดจะแต่งโดยมีเนื้อหาส่อเสียด จึงมักจะถูกคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศอยู่เสมอ ในแต่ละอัลบั้ม เฉพาะในยุคก่อตั้งจนถึงยุคคลาสสิกจะมีเพลง ท.ทหารอดทน, ทินเนอร์ ในอัลบั้ม ท.ทหารอดทน , หำเทียม ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ , หำเฮี้ยน ในอัลบั้ม อเมริโกย , วันเด็ก , ผู้ทน , ค.ควาย ค.คน ในอัลบั้ม ประชาธิปไตย และ พระอภัยมุณี ในอัลบั้ม ทับหลัง

แยกย้ายและปัจจุบัน


   จนถึงปัจจุบันนี้ คาราบาวมีอัลบั้มทั้งสิ้น 28 ชุด ไม่นับรวมถึงอัลบั้มพิเศษของทางวงหรือของสมาชิกในวง หรือบทเพลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากนับรวมกันแล้วคงมีไม่ต่ำกว่า 100 ชุด มีเพลงไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง โดยอัลบั้มชุดล่าสุดที่วงคาราบาวออกจำหน่าย คือ สวัสดีประเทศไทย ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2557 เป็นวงดนตรีที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดทั้งในวงการดนตรีทั่วไปและวงการเพลงเพื่อชีวิต เป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ฟังเพลง หรือผู้ที่นิยมในเพลงเพื่อชีวิตเท่านั้น จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ตำนานเพลงเพื่อชีวิต

สมาชิกปัจจุบัน
ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : หัวหน้าวง , ร้องนำ , กีตาร์ , แต่งเพลงและดนตรี , ประสานเสียง เกิด 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497
ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : ร้องนำ , กีตาร์ , แบนโจ , ซอ,คีย์บอร์ด,เบส,กลอง, แต่งเพลงและดนตรีบางส่วน , ประสานเสียง เกิด 18 เมษายน พ.ศ. 2498
เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) : ร้องนำ , กีตาร์ ,เบส, ประสานเสียง, แต่งดนตรีบางส่วน เกิด 23 เมษายน พ.ศ. 2501
เกริกกำพล ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส , ประสานเสียง , ร้องนำบางส่วน เกิด 14 มิถุนายน พ.ศ. 2494
ลือชัย งามสม (ดุก) : คีย์บอร์ด , ทรัมเป็ท, แอคคอร์เดียน , ร้องนำบางส่วน , ประสานเสียง เกิด 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2496
ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (หมี) : กีตาร์ , แมนโดลิน , พิณ ,เบส, ประสานเสียง เกิด 20 กันยายน พ.ศ. 2509
อัทธนันต์ ธนอรุณโรจน์ (โก้) : กลอง, เครื่องเคาะ , เพอร์คัสชั่น เกิด 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย (อ้วน) : กลอง , ขลุ่ย , เพอร์คัสชั่น , แซ็กโซโฟน , ประสานเสียง เกิด 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516

อดีตสมาชิก
ไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) : เบส เกิด 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 (เสียชีวิต)
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (เล็ก , ธนิสร์) : คีย์บอร์ด , แซกโซโฟน , ขลุ่ย ,ฟลุต, ร้องนำบางส่วน , ร้องประสาน เกิด 23 มกราคม พ.ศ. 2494 (;ร่วมวงในโอกาสครบรอบ 30 ปี คาราบาว)
อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลอง , เพอร์คัสชั่น,ทรัมเป็ต เกิด 20 มีนาคม พ.ศ. 2492 (เสียชีวิต)
กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : กีตาร์ , เบส, ร้องนำ , คีย์บอร์ด , เพอร์คัสชั่น, ประสานเสียง เกิด 25 มกราคม พ.ศ. 2495 (ร่วมทัวร์คอนเสิร์ตในโอกาสครบรอบ 30 ปี)
ศยาพร สิงห์ทอง (น้อง) : เพอร์คัสชั่น เกิด 19 กันยายน พ.ศ. 2506 (เสียชีวิต)
เส้นเวลา
บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #88 เมื่อ: 01 เมษายน 2566, 08:11:55 AM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @จินตหรา พูนลาภ
จินตหรา พูนลาภ

















....จินตหรา(พูนลาภ)เริ่มร้อง.............ทำเพลง
    อายุแค่สิบหกเอง.......................เก่งแท้
    “ถูกหลอกออกโรงเรียน”เพลง........ แรกเริ่ม  ดังนา
    ไม่เอาลูกออกแม้.......................แม่ต้องหยุดเรียน....    
    

....อดเรียนเขียนไม่ได้....................อับอาย  
    “วานเพื่อนเขียนจดหมาย”............ส่งให้
    ไปมาเพื่อนเลยกลาย.................แย่งแฟน   เรานา
   เธอช่างทำฉันได้......................อย่าไว้ใจคน....

....เหลือทน”เดือนละครั้ง................ยังดี”
    “แฟนจ๋า””มาทำ(ไม)”ที.............พี่(เบิร์ด)ร้อง
    “สาวเสียงพิณ”“ราชินี.................ลูกทุ่ง  หมอลำ”  
    “เต่างอย”ดังคนพ้อง..................เต้นม่วนคักดี.....

จินตหรา กวีสุนทรกุล เป็นที่รู้จักในชื่อ จินตหรา พูนลาภ (นามเดิม ทองใบ จันทร์เหลือง, เกิด 6 มีนาคม พ.ศ. 2512) ชื่อเล่น จิน เป็นนักร้องลูกทุ่งหมอลำหญิงชาวไทย เจ้าของฉายา "สาวเสียงพิณ" และ "ราชินีลูกทุ่งหมอลำ"คนแรกของประเทศไทย

ตลอดระยะเวลาในวงการกว่า 36 ปี เธอมีผลงานเพลงที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิเช่น ถูกหลอกออกโรงเรียน (2530), พลังรัก (2532), เจ้าบ่าวหาย (2536), รักโผล่โสนแย้ม (2540), ผู้หนีช้ำ (2541), น้ำตาสาววาริน (2542), รักสลายดอกฝ้ายบาน (2541), แตงโมจินตหรา (2544), มาทำไม (Feat. ธงไชย แมคอินไตย์) (2545), เต่างอย (2562) ฯลฯ และยังเคยได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงลูกทุ่งหมอลำ ประจำปีพุทธศักราช 2562

เธอเกิดที่บ้านจานทุ่ง ตำบลสิงห์โคก อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เริ่มร้องเพลงตั้งแต่ยังเด็ก หลังชนะการประกวดร้องเพลงก็ได้รับการชักชวนจากชาย สีบัวเลิศ ให้เข้าเป็นศิลปินสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เธอออกอัลบั้มชุดแรกใน พ.ศ. 2530 ชื่อชุด ถูกหลอกออกโรงเรียน

ในปี พ.ศ. 2545 เธอได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในการร่วมงานกับธงไชย แมคอินไตย์ ในเพลง "แฟนจ๋า" และ "มาทำไม" ใน พ.ศ. 2550 ค่ายมาสเตอร์เทปปิดตัวลง ได้ย้ายเข้าอาร์สยาม และออกอัลบั้มเดี่ยวทั้งหมด 9 อัลบั้ม ก่อนที่จะหมดสัญญาลง เมื่อปี พ.ศ. 2560 หลังจากนั้น เธอจึงมาเป็นศิลปินอิสระ และประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมอีกครั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 จากซิงเกิ้ลเพลง เต่างอย

ประวัติ
จินตหรา พูนลาภ มีชื่อเกิดว่าทองใบ จันทร์เหลือง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจริงเป็นจินตหรา จันทร์เหลือง, จินตหรา กวีสุนทรกุล ตามลำดับ) มีชื่อเล่นว่า ใบ (คนที่บ้านเกิดเรียก), จิน เธอเกิด วันพฤหัสบดี ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2512 แต่จินบอกว่าตนเองเกิด วันศุกร์ ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2514  เพราะตอนเธอเกิดได้เขียนวันเกิดไว้ที่ขื่อบ้านพอรื้อบ้านเพื่อสร้างใหม่วันเกิดที่แท้จริงก็หายไป จึงไม่ทราบว่าวันเกิดที่แท้จริงคือวันไหนกันแน่ เป็นลูกคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คนของประไพร (ชื่อเดิม : อุทัย) โดยได้อพยพมาจากประเทศลาว และจันทร์ จันทร์เหลือง (สกุลเดิม พูนลาภ) คนเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2526 เธอจึงได้ไปอยู่กับคณะหมอลำเมขลาลำเพลิน และได้เริ่มประกวดร้องเพลง โดยการชักชวนของเพื่อน หลังจากการประกวดร้องเพลงที่จังหวัดขอนแก่น ได้รับการติดต่อจาก "เฮียยิ้ง" ชาย สีบัวเลิศ นักจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่ง เข้าบันทึกเสียงเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกของค่ายแกรมมี่


เข้าสู่การเป็นนักร้อง
เธอมีผลงานเพลงชุดแรกเมื่ออายุ 16-18 ปี พ.ศ. 2530 ที่ออกภายใต้สังกัดค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่คือชุด "ถูกหลอกออกโรงเรียน" เป็นผลงานเพลงที่แต่งโดยสรเพชร ภิญโญ ผู้ที่แต่งเพลง "น้ำตาเมียซาอุ" ของ พิมพา พรศิริ ที่โด่งดังในขณะนั้นและเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า จินตหรา พูนลาภ ซึ่งเป็นชื่อจริงของเธอที่ว่า จินตหรา ซึ่งพ่อประไพรได้พาไปเปลี่ยนชื่อในขณะที่เธอกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากทองใบเป็นจินตหรา และชื่อตนเองจากอุทัยเป็นประไพร ส่วนนามสกุลจริง คือ จันทร์เหลือง แต่นามสกุลที่ใช้ในวงการ คือ พูนลาภ ด้วยเหตุที่ว่านามสกุลนี้มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งเป็นนามสกุลของแม่จันทร์ก่อนสมรสกับพ่อประไพร และก็หย่าร้างกันภายหลัง จินตหราจึงพาแม่มาอยู่ด้วยที่กรุงเทพมหานคร และพ่อก็แต่งงานใหม่กับเพื่อนสมัยเรียนของจินตหรา ตามจริงคำว่า พูน สกุลด้วย ล (พูลลาภ) แต่ใช้ น เนื่องจากเขียนผิด จากนั้นเป็นต้นมาชื่อ จินตหรา พูนลาภ ก็ได้เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากปรีชา ทรัพย์โสภา นักจัดรายการวิทยุ

วงการเพลง
ผลงานชุดแรก "ถูกหลอกออกโรงเรียน" ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำยอดขายได้ 8 แสนตลับ ถือเป็นการแจ้งเกิดในนามศิลปินลูกทุ่งเบอร์แรกของค่ายแกรมมี่ได้ดีทีเดียว หลังจากนั้น ปีเดียวกันก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 ตามมา ชื่อชุด "วานเพื่อนเขียนจดหมาย" อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จตามมาอีกครั้ง ทำยอดขายได้ 1 ล้านตลับ

งานเพลงของจินตหราในยุคแรก เป็นแนวเพลงลูกทุ่งภาคกลางและลูกทุ่งอีสาน แต่หลังจากชุดที่ 6 ก็ได้เริ่มออกแนวเพลงหมอลำแบบเต็มชุด ชื่อชุด "พลังรัก" เป็นผลงานการประพันธ์ของอาจารย์ "คำเกิ่ง ทองจันทร์" ผู้ปั้นนักร้องหมอลำชื่อดังทางภาคอีสาน และได้พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย นักร้องหมอลำชื่อดังเป็นครูสอนการร้องลำให้

หลังจากที่ปล่อยอัลชุดที่ 6 ออกมาก็ได้ก็ได้กระแสตอบรับที่ดีพอสมควร มียอดขายถล่มทลาย

โดยมีการคาดหมายว่าอัลบั้มชุดนี้น่าจะทำยอดขายสูงถึง 2 ถึง 3 ล้านตลับ

จากกระแสตอบรับที่ไปได้ดีในแนวเพลงหมอลำ หลังจากนั้น ก็ได้มีการออกแนวเพลงหมอลำควบคู่กับลูกทุ่งภาคกลาง,ลูกทุ่งอีสาน ตามมาในชุดต่อ ๆ ไป

จินตหราได้รับความนิยมตลอดเรื่อยๆมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2534 ชุดที่ 10 ขอเป็นคนสุดท้าย งานประพันธ์ของ เฉลิมพล มาลาคำ อัลบั้มชุดนี้ทางค่ายเปลี่ยนภาพลักษ์ให้เธอใหม่ โดยการสวมใส่วิกผมยาว แต่ภายหลังแฟนเพลงหลายคนกลับจำเธอไม่ได้ ประกอบกับปีเดียวกันปีนั่น มีนักร้องหมอลำสาวน้องใหม่มาแรงอย่าง ฮันนี่ ศรีอีสาน ผุดขึ้นมาในวงการ ทำให้อัลบั้มชุดที่ 10 ขอเป็นคนสุดท้าย ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก แต่ภายหลังจินตหราก็กลับมาโด่งดังอีกครั้ง กับผลงานอัลบั้มชุดที่ 13 คอยรักต่างแดน เป็นผลงานการประพันธ์โดยอาจารย์ "สุพรรณ ชื่นชม" นักแต่งเพลงชื่อดังจาก สาวติ๋มยิ้มบ่หวาน สายตาพิฆาต ของพิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย โบว์รักสีดำ ของศิริพร อำไพพงษ์ เป็นต้น
หลังชุดที่ 16 ชาย สีบัวเลิศ ผู้ปั้นจินตหรา พูนลาภให้โด่งดัง ได้แยกตัวออกจากค่ายแกรมมี่ มาเปิดเป็นค่ายมาสเตอร์เทป โดยได้จินตหรา พูนลาภเป็นศิลปินเบอร์หนึ่งของค่าย แต่ยังคงให้ทางแกรมมี่ (แกรมมี่ โกลด์) ทำการตลาดให้ต่อไป โดยระหว่างที่เธอเป็นศิลปินสังกัดมาสเตอร์เทปก็มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมายนับไม่ถ้วน อาทิ สิ้นหวังที่วังตะไคร้, สงสารหัวใจ, แอบรักหนุ่มยาม, ขอรักฝ่ายเดียว, อ้อนพ่อซื้อมอเตอร์ไซค์, คอยพี่ที่มออีแดง, รอพี่ที่ บขส., รักโผล่โสนแย้ม, รักสลายดอกฝ้ายบาน, ผู้หนีช้ำ, ห่วงพี่ที่คูเวต, น้ำตาสาววาริน เป็นต้น

โดยใช้ชื่อนำหน้าอัลบั้มว่า "ลูกทุ่งสะออน" และ "หมอลำสะออน" ผลิตใน รูปแบบ วีซีดี ซีดี และเทปเสียง ("สะออน" ในภาษาอีสานแปลว่า "สนุกสนาน")

จินตหรา พูนลาภได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในการร่วมงานกับธงไชย แมคอินไตย์ ในเพลง "แฟนจ๋า" และ "มาทำไม" และในปี พ.ศ. 2547 ได้ร่วมแสดงบนเวทีเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ที่สิงคโปร์ กับธงไชย แมคอินไตย์, แคทรียา อิงลิช และนัท มีเรีย

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 จินตหรา พูนลาภ ได้เซ็นสัญญากับค่ายใหม่อาร์สยาม ในสังกัดอาร์เอส หลังจากที่ค่ายเดิมคือมาสเตอร์เทปปิดตัวลง ต่อมาได้หมดสัญญากับค่ายอาร์สยามในปี พ.ศ. 2560 และหลังจากนั้นจึงเป็นศิลปินอิสระ

ชีวิตส่วนตัวจินตหรา พูนลาภ ใช้ชีวิตคู่ร่วมกับกอบกิตติ กวีสุนทรกุล หรือ "จังโก้ 1" นักประพันธ์เพลงสังกัดค่ายเพลงพันธมิตร และผู้จัดการวงของจินตหราเอง ตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเธอได้จดทะเบียนสมรสกับกอบกิตติ รวมถึงใช้คำนำหน้า "นาง" และนามสกุลของสามีในทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน
จินตหราสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในปี พ.ศ. 2550 และได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2547

ในปี พุทธศักราช 2562 จินตหรา พูนลาภ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงลูกทุ่งหมอลำ

ผลงานเพลง
อัลบั้ม สาวจินตหรา (2529)    บ่เสียดาย....ลูกกตัญญู...สาวจินตหรา (คิดถึงพี่ยาว)...ชีวิตจริงจินตหรา...โอ๊ยจับบ่ได้...น.ส. จันทร์...ของฟรีบ่เอา...ทิดทองอุกอั่ง...
สวัสดีพี่จ๋า...สาวทุ่งกุลา

สังกัด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ชุดที่ 1 ถูกหลอกออกโรงเรียน (กันยายน 2530)  ถูกหลอกออกโรงเรียน...เดือนละครั้งยังดี...ผัวขับรถเมียบดแป้ง...ถ้ารู้จะไม่รัก...สวรรค์บ้านทุ่ง...รำวงกลางบ้าน...สิ้นใจก่อนได้แต่ง...บุญมีอยู่ไหนมาลัยยังคอย...สงสารน้ำตา...น้ำตานองสองครั้ง...โชคดีที่รู้ตัว...ฉันไม่มีสิทธิ์ห้ามคุณ

ชุดที่ 2 วานเพื่อนเขียนจดหมาย (ธันวาคม 2530)    วานเพื่อนเขียนจดหมาย...ส่งใจไปร่มเกล้า...ผัวมีเมียน้อย...สิทธิ์หนูอยู่ที่แม่...สี่ทุ่มกลุ้มใจ...ลูกทุ่งหมอลำ...
คำขาดเมียน้อย (สาลี่ ขนิษฐา นำมาร้องใหม่)...วีระบุรุษร่มเกล้า...ความรักเกิดจากใจ...สาวนารำพัน...ขาดหนูแล้วจะรู้สึก...สาวอุดรนอนเดียว

ชุดที่ 3 โสดบริสุทธิ์ (กุมภาพันธ์ 2531)   โสดบริสุทธิ์...บวชเสียก่อนพี่...จนแล้วไม่เจียม...เผลอใจรัก...ความหลังเลื่อนลอย...เสียงเศร้าจากสาวนา...สายเสียแล้วอ้ายเวียง...ปากกับใจไม่ตรงกัน...น้ำตาคือเพื่อน...แม่ค้าริมทาง...ชื่อดีแต่ใจดำ...เนื้อคู่อยู่ไหน

ชุดที่ 4 สาวเวียง หนุ่มไทย (สิงหาคม 2531)   สาวเวียง หนุ่มไทย...ตามแฟน...ฮักหลายอ้ายเซียง...สาวอีสานจากแฟน...กินข้าวเหนียวก็สวย...นิดเดียวก็ไม่ได้...รักครึ่งใจ...น้ำตาไส้เดือน...เพลงรักนักจัดรายการ...จินตหราหาแฟน...รอยยิ้มก่อนลา...เกลียดคนจนสนทำไม

ชุดที่ 5 แรงงานข้าวเหนียว (ธันวาคม 2531)    ผู้บ่าวลืมเกิบ...แรงงานข้าวเหนียว (ต้นฉบับ ดวงเดือน โยธานัก ชื่อเดิม เมืองหมอแคน)...สาวอีสานเสี่ยงดวง...ลานายไปเยี่ยมบ้าน...คำสอนของแม่...ผ้าขี้ริ้วห่อทอง (ต้นฉบับ ดาวใต้ เมืองตรัง)...ลูกนกในฝูงแมว...เปล่ารัก...แฟนจ๋าอย่าหน้าบึ้ง...เมาแล้วอ้อน...ร้องเพลงในโอ่ง...หลวงให้ร้อยน้อยให้ล้าน

ชุดที่ 6 พลังรัก (มิถุนายน 2532)   พลังรัก...อดีตรักบุญบั้งไฟ...สาวไทยรำพัน...หน้าฝนเยือนเตือนให้คิด...อยากเอ่ยคำว่ารัก...ใครจะรักเธอเท่าฉัน...ลืมหนูเสียเถิดอา...
ได้เพียงแค่คิดถึง...อดีตไม่สำคัญ...อยากมีคนรู้ใจ...บาปบุญมีจริงไหม...รักน้องไม่ต้องช้ำ

ชุดที่ 7 ตามใจน้ำตา (พฤศจิกายน 2532)   ตามใจน้ำตา...ลำเพลินสลับเพลง...อวยพรให้แฟน...อกหักเพราะฮักเขา...ออนซอนเขา...เว้าแล้วลืม...อย่าหลอกฉันนะ...
บ่ง้อบ่งึด...เงินไม่พอพ่อไม่ว่า...เอิ้นอ้ายกลับ...โสด ซิงๆ...คิดฮอดบ้าน

ชุดที่ 8 สาวไร่มัน (เมษายน 2533)   สาวไร่มัน...หันหน้าเข้าวัด...หนีแม่ไปแห่เทียน...สาว กสช....สาวหนองคาย...เรียนจบไม่พบงาน...รักไม่ลืม...ของเก่า...มีดในรอยยิ้ม...สาวน้ำพอง...แพ้ปริญญา...บ้านนาของฉัน

ชุดที่ 9 สาวอีสานพลัดถิ่น (สิงหาคม 2533)   สาวอีสานพลัดถิ่น...พบแล้วจากไม่อยากพบ...คิดถึงบ้างนะ...ลูกพ่อพลาญชัย...ทนหนาวอีกปี...หญิง 3 ม.ขอสัญญา...
สั่งนาลาแฟน...ปลงตกแล้วพี่...ขอรักกันฉันท์พี่น้อง...ชะตาต้องใจ...ลำล่อง เรือนสามน้ำสี่...ลำล่อง ฝากใจไปกับเสียงลำ

ชุดที่ 10 ขอเป็นคนสุดท้าย (กุมภาพันธ์ 2534)   ขอเป็นคนสุดท้าย...วันนี้เขาแต่งแน่...รักเธอคนเดียว...กลัวรักไม่จริง...รักครึ่งทาง...อยากอยู่คนเดียว...ตลาดซื้อหัวใจ...
รักพระเอกทีวี...หม้ายขันหมาก...ปีใหม่ใจเศร้า...อดีตวันลอยกระทง...สามปีคืออดีต

ชุดที่ 11 จดหมายหลายฉบับ (กรกฎาคม 2534)   จดหมายหลายฉบับ...ติดป้ายขายหน้าบ้าน...มันมีเท่านี้...อะไรกันจ๊ะ...รูปหล่อรอไปเหอะ...วิหคปีกหัก...ร้องไห้กับแม่ (ต้นฉบับ ยอดขวัญ ลานทอง หรือพลอย ชมพู)...สุขสดชื่นสมหวัง...ความรักติดคอ...ดาราเงินพัน...ขอเวลาลืม...คนรักกับคู่หมั้น (ต้นฉบับ แวว มยุรา)...ขอเวลาที่เหลืออยู่

ชุดที่ 12 อำนาจรัก (ธันวาคม 2534)   อำนาจรัก...บัวไร้บึง...พรุ่งนี้ไม่มีน้ำตา...มนต์รักทุ่งรวงทอง...สุภาพบุรุษที่น่ากลัว...ข้าวดำน้ำขุ่น...สาวคำหล้า...อย่าทำเป็นสงสาร...ถ้าเราจะรักกัน...เมื่อไหร่จะรักกัน...กลับอีสานดีกว่า...สนุกวันสงกรานต์

ชุดที่ 13 คอยรักต่างแดน (สิงหาคม 2535)   คอยรักต่างแดน...สาวติ๋มคอยรัก...รักได้หากใจไม่เจ็บ...หลอกน้องแต่อย่าหลอกเขาเลย...สาวสวนผักรักเศร้า...ปีใหม่ใจอักเสบ...รักแค่ไหนก้ไม่ลืม...น้องขอเป็นฝ่ายไป...รักสักนิดหากคิดจะลืม...คอยรักจากหนุ่มถลุงแร่...อยู่ไกลใจเป็นห่วง...สายตามีพิษ

ชุดที่ 14 ลำ 3 แบบ 3 สไตล์ (มกราคม 2535)   หัวใจออนซอน (ลำขอนแก่น)...กลัวเหตุเกิด (ลำซิ่ง)...เอาไปเลยหัวใจ (ลำซิ่ง)...อาลัยพุ่มพวง (ลำซิ่ง)...ลุ้นกันต่อป (ลำขอนแก่น)...เป็นอันว่าลืม (ลำกาฬสินธุ์)...ขอให้มันผ่านไป (ลำกาฬสินธุ์)...ความรักความสุข (ลำกาฬสินธุ์)...คิดฮอดอ้าย (ลำขอนแก่น)...เจ็บอยู่ที่ใจ (ลำกาฬสินธุ์)...เตือนใจตัวเอง (ลำกาฬสินธุ์)...ปีนี้หนาวแล้ว (ลำขอนแก่น)...

ชุดที่ 15 ไร่อ้อยคอยรัก (เมษายน 2536)   ไร่อ้อยคอยรัก...ใจอ้ายคล้ายนาฬิกา...ใจหายที่ชายหาด...วาสนาดอกหญ้า...ภาพรักของคนลวง...รักน้องต้องสู่ขอ...จดหมายพิฆาต...ขอให้รักน้องคนเดียว...ผิดที่ใจ...ไม่มีเราในใจเขา...หน้าร้อนนอนหนาว...เสียงทวงสัญญา

ชุดที่ 16 เจ้าบ่าวหาย (สิงหาคม 2536)   เจ้าบ่าวหาย...รักแท้แต่ไม่กล้าฝืนดวง...หนึ่งฝนทนคอย...ภาพรักภาพหลอน...เมียอะไหล่...นี่หรือคนที่ฉันรัก...พี่จ๋าเจ็บตรงไหน...ปิดไฟใจลอย...ผู้ชายหูเบา...ต้มส้มมอรออ้าย...พอทีสำหรับเธอ...รักคนที่เขาไม่ได้รักเรา

อัลบั้มพิเศษ
รวมฮิต 1–2–3–4 (พ.ศ. 2532)
รวมฮิต รำพัน-ลำเพลิน (เมษายน พ.ศ. 2536)   สาวอีสานพลัดถิ่น...ขอเป็นคนสุดท้าย...เดือนละครั้งก็ยังดี...พบแล้วจาก..ไม่อยากพบ...สาวหนองคาย...ลำร่องฝากเสียงกับเสียงลำ...สิทธิ์หนูอยู่ที่แม่...ลำเพลินสลับเพลง...ผัวมีเมียน้อย...ส่งใจไปร่มเกล้า...ลำร่องเรือนสามน้ำสี่...ลูกพ่อผลาญชัย

สังกัด มาสเตอร์เทป
ชุดที่ 17 สิ้นหวังที่วังตะไคร้ (2537)   สิ้นหวังที่วังตะไคร้...หลอกกันทำไม...สาวอุดรรอรัก...ม่ายเจอกัน...กลับบ้านเถิดอ้าย...แบ่งใจให้บ้าง...คอยทาง (ต้นฉบับ ใหม่ แว่นทิพย์)...ดำนอกหลอกตา...แม่สื่อคือเจ้าสาว...กินน้ำตาแทนข้าว...อยากเป็นดารา...ลูกจ้างถางอ้อย

ชุดที่ 18 สงสารหัวใจ (เมษายน 2538)   สงสารหัวใจ...น้ำตาหล่นบนหลังจักร...ตรุษจีนเหมือนสิ้นใจ...ตัวแทนคงผิดหวัง...ผัวใครเท่จัง...อดีตรักสาวภูพาน...สุสานคนเศร้า...ขาดพี่น้องไม่แคร์...คนคอยน้อยใจ...ภาพยิ้มน้องเศร้า...ขอตายดาบหน้า...หนาวมาสัญญาสิ้น

ชุดที่ 19 อวยพรให้เพื่อน (2538)   อวยพรให้เพื่อน...แอบรักหนุ่มยาม...เสียงสะอื้นจากคนอกหัก...พี่แต่งน้องตรอม...เขามาทีหลังดังกว่า...สาวนาเกือกตม...พี่แดงแล้งน้ำใจ...ทายรักกับตุ๊กแก...หัวใจหล่นบนแท๊กซี่...น้ำตาล้นเตียง...ผิดหรือที่รักจริง...ร้องไห้ใต้ต้นพุทรา

ชุดที่ 20 ขอรักฝ่ายเดียว (มีนาคม 2539)   ขอรักฝ่ายเดียว...คอยคนสีซอ...แหล่...คิดถึงบ้าน...น้ำตาผู้แพ้...สองรักมักหลุดมือ...คอยหมอแคน (ต้นฉบับ ใหม่ แว่นทิพย์)...ฉีกจดหมายคนหลายใจ...อ้อนพ่อซื้อมอเตอร์ไซค์...เขาแต่งปุ๊บหลังยุบสภา...มนต์เสียงพิณ (ต้นฉบับ ใหม่ แว่นทิพย์)...ไปหนึ่งอย่ามาสอง...โดนกีดกั้นรัก

ชุดที่ 21 รักซ้อนรัก (2539)   รักซ้อนรัก...เขาหลอกให้ออกงาน...น้ำตาเมียน้อย...น้องไม่เหมาะสม...อยากมีแฟนเป็นทหาร...นึ่งข้าวคอยพี่...คอยพี่ที่มออีแดง...หนีหน้าเพราะว่าหลีกทาง...หัวอกเมียหลวง...ลืมคนอย่าลืมควาย...พ่อจอมตื๊อ...รักลาเหมือนปลาขาดน้ำ

ชุดที่ 22 รอพี่ที่ บ.ข.ส. (มกราคม 2540)   รอพี่ที่ บ.ข.ส....คิดถึงทิดมา...แฟนเพลงผู้อาภัพ...ดอกติ้วบาน...ขอบคุณแฟน ๆ...เชื่อยากปากชาย...อ้อมแขน...ลืมเขาเถิดหัวใจ...จากบ้าน...จินตหราส่งใจ...เป็นไปบ่ได้...ลืมสาวส้มตำ

ชุดที่ 23 ดื่มเพื่อลืมเศร้า (2540)   ดื่มเพื่อลืมเศร้า...ทำใจไม่ได้...คิดถึงตลอดเวลา...ยังมีคนรอ...เหมือนหญ้าคอยฝน...ส่งถึงส่งใจ...สนิมกินใจ...ไม่ไว้วางใจ...คนรักคนสุดท้าย...หน้าชื่นอกตรม...อยากเลือกเกิดได้...หาใหม่ดีกว่า

ชุดที่ 24 รักโผล่โสนแย้ม (พฤศจิกายน 2540)   รักโผล่โสนแย้ม...รักพังวังสามหมอ...นอนคอยที่บางแค...โดนหลอกก่อนออกพรรษา...แต่งหน้ารอ...รักน้องต้องลืมจน (ลูกทุ่ง)...อะไรก็ได้...ลมส่าคนเปลี่ยนใจ...ลืมยากลืมเย็น...ลาก่อนดอนอีดำ...อ้ายมาน้ำตานิ่ง...กระเป๋าตางค์เปื้อนน้ำตา

ชุดที่ 25 ผู้หนีช้ำ (มกราคม 2541)   ผู้หนีช้ำ (ต้นฉบับ พรทิพย์ แสงอุทัย ชื่อเดิม คนสุดท้าย)...ฝนนองน้องเศร้า...น้ำตาเปียกชอล์ก...ห่วงพี่ที่คูเวต...คนใจบ่ถึง...สาวร้อยเอ็ดเข็ดรัก...สาวคาเฟ่ระทม...แต่งงานเพื่อหนีงานแต่ง...หนองบัวลำภู...ไม่พ้นคนดำ...ขวัญใจสิบล้อ...ด่วนหนองคาย...

หมอลำสะออน ชุดที่ 1 รักสลายดอกฝ้ายบาน (ธันวาคม 2541)   รักสลายดอกฝ้ายบาน...ยืนเศร้าบนเขาพนมรุ้ง...ลืมใจไว้มุกดาหาร...แดงท้องพี่อย่าทิ้ง...ผิดหรือที่เป็นน้อย...บัวลานาขี้กระต่าย...สายตาเจ้าชู้...รักพี่กลัวหนี้สหกรณ์...ขาดพี่ขอเป็นโสด...พี่หมานร้านขายเทป...คนจนพี่ไม่แนม...แห่เทียนสัญญาเธอ

ลูกทุ่งสะออน ชุดที่ 2 น้ำตาสาววาริน (กันยายน 2542)   น้ำตาสาววาริน...รอพี่ที่ธาตุพนม...กางเกงยีนส์แห่งความหลัง (ต้นฉบับ หงษ์ทอง ดาวอุดร)...หัวอกคนตกงาน...
แฟนไปไม่กลับ...รักเรามีกรรม...วันที่รอคอย...ลำดวนตำใจ...ไม่หล่อก็โอเค...รักเราเขาเมิน (ต้นฉบับ ดวงตา นัยนา)...มอบใจให้คนเมา...อ๋อ...ยังพี่...

หมอลำสะออน ชุดที่ 3 น้ำตาหล่นบนเถียงนา (14 มิถุนายน 2543)   น้ำตาหล่นบนเถียงนา...เหงาใจในต่างแดน...นกตูมร้องน้องสะอื้น...รักร้าวที่บึงพลาญ...เดือนหงายอ้ายสัญญา...นั่งซึมใต้ต้นมะยม...หมอชิตสองน้องคอย...อ้อนอ้ายขายนา...ซังผู้ชายหลายเมีย...ไร่ข้าวโพดโกรธพี่...ปอสี่พี่ไม่มอง...คนสามใจไก่สามขา

ลูกทุ่งสะออน ชุดที่ 4 สาวน้ำพองสะอื้น (10 มกราคม 2544)   สาวน้ำพองสะอื้น...ขอเพียงแค่สงสาร...เจ็บแล้วพอแล้ว...รักคนหล่อขอบอก...ตำตาตำใจ...วอนอ้ายคืนนา...คนรักที่ปากแซง...วันนี้พี่เปลี่ยนไป...ห่วงอ้ายไปทหาร...คาวาน้ำตาริน...ทุ่งกุลาสัญญารัก...ชีวิตหมอลำ...


หมอลำสะออน ชุดที่ 5 แตงโมจินตหรา (กรกฎาคม 2544)   น้ำตาหยาดข้างพระธาตุนาดูน...แตงโมจินตหรา...น้องดาวใจเดียว...ที่นี่ตอนรับคนเจ็บ (ต้นฉบับ สุมาลี ศรีวิไล)...เสน่ห์พ่อหม้าย...สะใภ้เมืองขอน...รักเหนือแผ่นดิน...ไชโยโฮแซว...ขอส่งรักคืน...บองกัลเลาะ...ขอแค่พี่ชาย...ลาแล้วรักลวง

ลูกทุ่งสะออน ชุดที่ 6 ถ้วยป่นหลุดมือ (1 ธันวาคม 2544)   ถ้วยป่นหลุดมือ...อาลัยเวิร์ลเทรด...อดีตรักฝังใจ...วอนหนุ่มสุรินทร์...พี่จ๋ากล้า ๆ หน่อย...สายเดี่ยวเปลี่ยวใจ...สายตาผวารัก...ซุ่มดูงานแต่ง...หลอกให้น้องรอ...ตาเขม่นเป็นลาง...เสื้อลายอ้ายลืม...ครองสาวหนาวใจ

หมอลำสะออน ชุดที่ 7 นัดรอบ่พ้ออ้าย (กรกฎาคม 2545)   นัดรอบ่พ้ออ้าย...กอดหมอนข้าง...สัญญาจางส่างเมา...แอบรักคุณหมอ...สงสารคนข้างบ้าน...พระเอกในสายตา...บุญบั้งไฟใจช้ำ...ฟ้าร้องน้องคิดถึง...ให้ตายซิโรบิน...เมียมีพี่อย่าแซว...คอยอ้ายอยู่เด้อ...จินตหราถามข่าว (ลำล่อง)

จินมาแล้วจ้า ชุดที่ 1 ซังบ่าวเจ้าชู้ (3 มีนาคม 2546)   ซังบ่าวเจ้าชู้...ซิลองเบิ่ง...เขามีแฟนใหม่...แท็กซี่เมียเผลอ...ป้าดโธ่คนหล่อ...คนภูกระดึงดึงใจ...คิดฮอดผู้ลางคน...หัวอกชาวนา...พี่ชายแสนดี...ผู้อยู่เบื้องหลัง...หลงเยื่อมาลัย...แฟนจ๋าจินมาแล้วจ้า

หมอลำสะออน ชุดที่ 8 รูปหล่อหลายเมีย (กันยายน 2546)   รูปหล่อหลายเมีย...มีเจ้าของแต่น้องรัก...ไม่มาสัญญาหมั้น (ต้นฉบับ กนกพร จันทร์เพ็ญ หรือ เจี๊ยบ กนกพร)...สมน้ำหน้าตัวเอง...เจ็บนี้อีกนาน...สายเดี่ยวสิ้นหวัง...ให้บวชก่อนเบียด...ช้ำใจในงานช้าง...หน้างอข้างหม้อก๋วยเตี๋ยว...ผิดไหมที่ใจเดียว...น้ำตาซึมข้างราวผ้า...แฟนใครไม่ใส่กุญแจ

ลูกทุ่งสะออน ชุดที่ 9 สาวชุมแพแพ้รัก (2 เมษายน 2547)   สาวชุมแพแพ้รัก...คิดฮอดอ้ายแท้ ๆ แน่ว...เสน่ห์พ่อหม้าย...คอยรักจากเยอรมัน...เสื้อลายพ่ายรัก...ขอบคุณแฟน ๆ...ยัดหมอนเก้อ...คิดฮอดคราวฟังลำ...ทุ่งรักดอกจาน...ถอนคิว...คิดฮอดตลอดเวลา...ลืมคำแม่บอก...

ร็อคหมอลำสะออน ชุดที่ 10 พญานาคฝากรัก (11 ตุลาคม 2547)   ผู้บ่าวเปลี๋ยนไป...พญานาคฝากรัก...ฝันรักฝันร้าย...ชุดแต่งเปื้อนน้ำตา...หัวใจถูกขัง...ลาบงัวผัวป๋า...ลำเพลินเจริญใจ...แต่งบ่ได้ฮัก...มอเตอร์ไซค์หลังซอย...เมียเบอร์สอง...รักเก่าหมดกลิ่น...ถามข่าวบ่าวกรุงเทพฯ

ลูกทุ่งสะออน ชุดที่ 11 คนนำทางใจ (24 มิถุนายน 2548)   คนนำทางใจ...อยากมีคนคุ้มครอง...ตาเว็นแดงแทงใจ...ลืมใจไว้อุดร...เปลี่ยนใจให้บอก...ฝนลาฟ้าสั่ง...สึนามิ...ไอดินกลิ่นกรุง...ขโมยกอด...คนตั่งหวัด...รักคนหล่อขอทำใจ...สาวใช้ใจเหงา

หมอลำสะออน ชุดที่ 12 ฮัลโหลโทรผิด (14 กุมภาพันธ์ 2549)   ฮัลโหลโทรผิด...ไฉไล (เพลงประกอบภาพยนตร์ ไฉไล)...สัญญาที่นาดูน...อยากให้เว้าหยอก...วอนลมฝากรัก...มีคนโสดบ่...แฟนใครหล่อจัง...ผู้บ่าวตื่นสาย...ข่าวร้ายปลายปี...เปลี่ยนสีเปลี่ยนใจ...เสียงแคนแฟนเก่า...สาวชัยภูมิกลุ้มรัก

หมอลำสะออน ชุดที่ 13 ห่วงแฟนแดนชุมนุม (31 ตุลาคม 2549)   บอกฮักผ่าน ดี เจ...ห่วงแฟนแดนชุมนุม...ผ้าป่าน้ำตาซึม...หนุ่มบัวขาวสาวโพนทอง...ส่งฮักคืนอ้าย...ฝันโพดฝันเหลือ...บวชแล้วอย่าหนีรัก...สาวโรงงานบ้านจน...พบรักงานแข่งเรือ...ห่วงแม่ยามไกลบ้าน

ชุด สาวทุ่งดอกจาน (25 มีนาคม 2550)   สาวทุ่งดอกจาน...ภาพชีวิต...สมชาย 2007...ฮอยกอดตอดใจ...สาวบ้านไผ่ใจว่าง...น้ำตาเหี่ยเพราะเมียอ้าย...ขอโทษสวรรค์...อ้ายคือดวงใจ...ผู้หญิงลืมยาก...หลงบูชาน้ำตาอ้าย

อัลบั้มพิเศษ
เพลงรักจากจินตหรา ชุดที่ 1,2 (พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2541)
ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2538)   ถูกหลอกออกโรงเรียน...วานเพื่อนเขียนจดหมาย...พลังรัก...คอยรักต่างแดน...บัวไร้บึง...เฮื่อนสามน้ำสี่...เสียงเศร้าจากสาวนา...แรงงานข้าวเหนียว...อดีตรักบุญบั้งไฟ...สาวอีสานพลัดถิ่น...สาวติ๋มคอยรัก...ฝากใจไว้กับเสียงลำ

ชุดที่ 2 (พ.ศ. 2539)   พี่จ๋าเจ็บตรงไหน...เจ้าบ่าวหาย...อาลัยพุ่มพวง...จดหมายพิฆาต...ต้นส้มมอรออ้าย...ภาพรักภาพหลอน...ไร่อ้อยคอยรัก...เมียอะไหล่...ใจอ้ายคล้ายนาฬิกา...รักน้องต้องสู่ขอ...กลัวเหตุเกิด...เสียงทวงสัญญา

ชุดที่ 3 (พ.ศ. 2541)   สงสารหัวใจ...น้ำตาหล่นบนหัวจักร...ผัวใครเท่จัง...อดีตรักสาวภูพาน...คอยทาง...สาวอุดรรอรัก...อวยพรให้เพื่อน...พี่แต่งน้องตรอม...แอบรักหนุ่มยาม...พี่แดงแล้งน้ำใจ...ม่ายเจอกัน...สิ้นหวังที่วังตะไคร้

ลูกทุ่งล้วน ล้วน 10 ปีทอง (พ.ศ. 2540)
12 กลอนลำ (ตุลาคม พ.ศ. 2541)   รักโผล่โสนแย้ม...นอนคอยที่บางแค...คอยพี่ที่มออีแดง...รักซ้อนรัก...คอยรักต่างแดน...ไร่อ้อยคอยรัก...รักพังวังสามหมอ...ทำใจไม่ได้...พลังรัก...เจ้าบ่าวหาย...แอบรักหนุ่มยาม...สงสารหัวใจ

ลูกทุ่งหมอลำ (กันยายน พ.ศ. 2543)   ผู้หนีช้ำ...สาวคาเฟ่ระทม...รอพี่ที่ บ.ข.ส...อ้อมแขน...สาวอุดรรอรัก...แดงท้องพี่อย่าทิ้ง...รักสลายดอกฝ้ายบาน...โดนหลอกก่อนออกพรรษา...ดื่มเพื่อลืมเศร้า...สุสานคนเศร้า...อวยพรให้เพื่อน..ต้นส้มมอรออ้าย

เพลงเด่นกลอนดัง (9 ธันวาคม พ.ศ. 2543)   น้ำตาสาววาริน...ห่วงพี่ที่คู่เวต...เหงาใจในต่างแดน...ยืนเศร้าบนเขาพนมรุ้ง...ขอรักฝ่ายเดียว...สิ้นหวังที่วังตะไคร้...รักโผล่โสนแย้ม...อำนาจรัก...วานเพื่อนเขียนจดหมาย...ถูกหลอกออกโรงเรียน...สาวอีสานพลัดถิ่น...พลังรัก

จินตหราบอกรัก (25 ตุลาคม พ.ศ. 2544)   รักเหนือแผ่นดิน...รักร้าวที่บึงผลาญ...รักสลายดอกฝ้ายบาน...รักโผล่โสนแย้ม...รักซ้อนรัก...รักเรามีกรรม...รักคนหล่อขอบอก...รักน้องต้องลืมจน...รักเราเขาเมิน...รักพี่แต่กลัวหนี้สหกรณ์...รักพังวังสามหมอ...รักลาเหมือนปลาขาดน้ำ

14 ปีทอง (14 มีนาคม พ.ศ. 2545)   ขอเพียงแค่สงสาร...น้ำตาหยาดข้างพระธาตุนาดูน...น้ำตาหล่นบนเถียงนา...สายเดี่ยวเปลี่ยวใจ...ลำดวนตำใจ...เจ้าบ่าวหาย...สายตาเจ้าชู้...สิทธิ์หนูอยู่ที่แม่...อะไรก็ได้...คอยรักต่างแดน...สาวร้อยเอ็ดเข็ดรัก...อดีตรักบุญบั้งไฟ...

สนุกสนาน (19 ธันวาคม พ.ศ. 2545)   กอดหมอนข้าง...แตงโมจินตรา...พี่จ๋ากล้าๆหน่อย...หมอชิตสองน้องคอย...คาวาน้ำตาริน...ดำนอกหลอกตา...จินตหราส่งใจ...ผัวใครเท่ห์จัง...กางเกงยีนส์แห่งความหลัง...พี่หมานร้านขายเทป...คนใจบ่ถึง...มันมีเท่านี้...

แฟนจินตหรา (11 ธันวาคม พ.ศ. 2546)   กอดหมอนข้าง...แตงโมจินตรา...พี่จ๋ากล้าๆหน่อย...หมอชิตสองน้องคอย...คาวาน้ำตาริน...ดำนอกหลอกตา...จินตหราส่งใจ...ผัวใครเท่ห์จัง...กางเกงยีนส์แห่งความหลัง...พี่หมานร้านขายเทป...คนใจบ่ถึง...มันมีเท่านี้

ตำนานรักสาวอีสาน (9 ธันวาคม พ.ศ. 2547)   สาวชุมแพแพ้รัก...น้ำตาสาววาริน...คนภูกระดึงตั้งใจ...ลืมใจไว้มุกดาหาร...รักร้าวที่บึงพลาญ...สาวร้อยเอ็ดเข็ดรัก...คอยพี่ที่มออีแดง...วอนหนุ่มสุรินทร์...รอพี่ที่ธาตุพนม...สาวน้ำพองสะอื้น...สะใภ้เมืองขอน...สาวอุดรรอรัก.

ลูกทุ่งหมอลำ 2 (10 มีนาคม พ.ศ. 2548)   คิดฮอดตลอดเวลา...มีเจ้าของแต่น้องรัก...ซุ่มดูงานแต่ง...เจ็บแล้วพอแล้ว...ชุดแต่งเปื้อนน้ำตา...แอบรักคุณหมอ...เหงาใจในต่างแดน...อ๋อ ยังพี่...คิดฮอดผู้ลางคน...พระเอกในสายตา...ขอแค่พี่ชาย...ลำล่อง เฮือนสามน้ำสี่

รวมฮิต 19 ปีทอง ชุด 1, 2 (พ.ศ. 2549)
ชุดที่ 1   น้ำตาสาววาริน...สัญญาที่นาดูน...คนนำทางใจ...ผู้บ่าวเปลี่ยนไป...ถ้วยป่นหลุดมือ...สาวน้ำพองสะอื้น...คิดฮอดตลอดเวลา...ผู้หนีช้ำ...รอพี่ที่บ.ข.ส....สิ้นหวังที่วังตะไคร้...แรงงานข้าวเหนียว...ถูกหลอกออกโรงเรียน

ชุดที่ 2   รักสลายดอกฝ้ายบาน...พญานาคฝากรัก...เปลี่ยนสีเปลี่ยนใจ...น้ำตาหยาดพระธาตุนาดูน...รักพังวังสามหมอ...เจ้าบ่าวหาย...รักซ้อนรัก...อำนาจรัก...พลังรัก...ไร่อ้อยคอยรัก...สงสารหัวใจ...อวยพรให้เพื่อน

มาสเตอร์ฮิต ชุดที่ 1, 2 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550)
ชุดที่ 1
   บอกฮักผ่านดีเจ...ห่วงแฟนแดนชุมนุม...น้ำตาสาววาริน...ผู้หนีช้ำ...ผ้าป่าน้ำซึม...แตงโมจินตหรา...สาวชุมแพแพ้รัก...มีเจ้าของแต่น้องรัก...หนุ่มบัวขาวสาวโพนทอง...พญานาคฝากรัก...เหงาใจในต่างแดน...คนนำทางใจ...เปลี่ยนสีเปลี่ยนใจ...แดงท้องพี่อย่าทิ้ง

ชุดที่ 2   ลำล่อง...เฮือนสามน้ำสี่...ลำล่อง...จินตหราถามข่าว...ลำล่อง...ฝากใจกับเสียงลำ...ลำล่อง...ถามข่าวบ่าวกรุงเทพฯ...คิดฮอดตลอดเวลา...สาวโรงงานบ้านจน...สาวอีสานพลัดถิ่น...ห่วงแม่ยามไกลบ้าน...แหล่...คิดถึงบ้าน...สาวคาเฟ่ระทม...รักร้าวที่บึงพลาญ...พบรักงานแข่งเรือ...ถ้วยป่นหลุดมือ...จินตหราส่งใจ...

สังกัด อาร์ สยาม
จินตหราครบเครื่อง ชุดที่ 1 ธนาคารน้ำตา (28 พฤศจิกายน 2550)   จินตหราแอ๊บแบ๊ว (ร้องคู่กับ อี๊ด โปงลางสะออน อาร์ สยาม)...ธนาคารน้ำตา...น้ำตาไหลใส่มือถือ...บ่เหลือหยังให้หวังแล้ว...อ่อมหอยคอยอ้าย...น้ำตาหล่นบนเขื่อนลำปาว...กกส้มมอรอรัก...เย้..เย เท่หนออ้าย...คนข้าง ๆ ยังคอย...จินตหราแหลงใต้...จินตหราครบเครื่อง ...
ชุดที่ 2 อยู่ข้างเธอเสมอ (25 มิถุนายน 2551)   อยู่ข้างเธอเสมอ...กิ๊กทางใจ...เขามาในฐานะอะไร...คิดพ้อน้องแหน่เด้อ...บุญมหาชาติขาดอ้าย...ไม่อยากรีเทิร์น...อย่าลืมฮักเก่า...จินตหราห่วงน้อง...พ.ศ.ไหนใจก็รอ...จินตหราอ้อนแฟน

จินตหราครบเครื่อง ชุดที่ 3 มิสซิสเหี่ยน (28 มกราคม 2552)   มิสซิสเหี่ยน...ม็อบสีชมพู...บ๊ายบาย...ผู้บ่าวเมืองเลย...ให้น้องเอาหยังไปสู้เขา...จำได้เสมอ...สาวผ้าถุง...อย่าโพดหลายอ้ายขาร็อก...คนเดิมเคยรู้ใจ...สาวทุ่งกุลาถ่าอ้าย

จินตหราครบเครื่อง ชุดที่ 4 ชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้ (10 กุมภาพันธ์ 2553)   ชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้...สาวอุดรนอนกรุง...บั้งไฟโก้ยโสธร...จุ๊อ้า จุ๊อ้า...อยู่ร้านลาบ ทราบแล้วเปลี่ยน...สาวลำลูกกา...อกหักให้โทรหา...โดนกอดวันทอดกฐิน (ต้นฉบับ น.ส.เย็นฤดี ศรีร้อยเอ็ด)...ขอแล้วไม่แต่ง (ต้นฉบับ ฮันนี่ ศรีอีสาน)...รักยุ่งหนีทุ่งกุลา...

จินตหราครบเครื่อง ชุดที่ 5 ฝากคำขอโทษ (15 ธันวาคม 2553)   ฝากคำขอโทษ...ตำแหน่งที่ไม่ต้องการ...มือถือเหงา...ไหลถอน...สาวบิ๊กซี...ไม่เคยตายไปจากใจ...นางแมวโหย...เสริมสวยป่วยใจ...กันกราวเข้ากรุง...น้องกอดกับเหงา เขากอดกับอ้าย
บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
คะแนนน้ำใจ 5091
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักอ่านยอดเยี่ยมนักโพสดีเด่นนักโพสยอดเยี่ยม
กระทู้: 284
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« ตอบ #89 เมื่อ: 02 เมษายน 2566, 06:13:58 PM »

Permalink: Re: เชิดชูสยามศิลปิน ร่างโคลงสี่ @สาว สาว สาว

















....”รักปักใจ”เริ่มร้อง....................นอมแนม
    “สาว สาว สาว” มี”แอม”..........”แหม่ม””ปุ้ม”
     ประสานส่งเสียงแถม...............น่ารัก   วัยใส
     ยังไม่ดังพอคุ้ม........................ค่าได้เปิดตัว.....

....หันหัวไปต่อได้..........................ชุดสอง
    “รักคือฝันไป”จอง......................ท่วมท้น
    “ประตูใจ”ที่ตรอง......................ใช่รัก    เปิดนา
      รักที่“อยากลืม”ยากพ้น.............”ด้วยแรงแห่งรัก”....

....แปลกนัก”เป็นแฟน(กัน)ได้............ยังไง
    แตกต่างจนเกินไป......................ไคร่รู้  
   “เพียงเพราะว่า”เหงาใจ.................ไม่มี   ใครฤา
   “ไม่มีเธอ”ยอดชู้.........................”ฟ้ากว้างทางไกล”....

....ยาวไปนานเนิ่นได้.......................ตำนาน
    มาร่วมงานสุขสาน.......................ใส่ไว้
    “หาคนร่วมฝัน”ทาน.....................ต่อกาล  เปลี่ยนนา
     แยกไป่คำลา “ดอกไม้.................ของน้ำใจ”เอย....


สาว สาว สาว เป็นวงดนตรีหญิงล้วนในประเทศไทย สังกัดค่ายรถไฟดนตรี เน้นการประสานเสียง มีสมาชิก 3 คน ได้แก่ แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, แหม่ม พัชริดา วัฒนา, และปุ้ม อรวรรณ เย็นพูนสุข ทุกครั้งที่ขึ้นแสดงจะให้ความสำคัญแก่การแต่งตัวและท่าเต้นประกอบ คล้ายวงที่เรียกว่าเกิร์ลกรุ๊ปในยุคปัจจุบัน  จึงได้รับฉายาว่า เกิร์ลกรุ๊ปวงแรกของเมืองไทย

ประวัติ
สมาชิกวง สาว สาว สาว
พ.ศ. 2524 ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร (ระย้า) เจ้าของค่ายเพลงรถไฟดนตรี เห็นว่าวงการเพลงในประเทศไทยตอนนั้นมีแต่ผู้ใหญ่ที่เป็นศิลปิน แต่ยังไม่มีศิลปินที่เป็นวัยรุ่นเลย คุณระย้าจึงต้องการที่จะสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงเมืองไทย จึงไปปรึกษา อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร ซึ่งตอนนั้น อ.วิรัช ยังเป็นผู้จัดการโรงเรียนสอนดนตรีสยามยามาฮ่า และได้เห็นว่าเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มต้นยังไม่มีแวว จึงแนะนำลูกสาวของ ฉันทนา กิติยพันธ์ ซึ่งตอนนั้นแอม มีผลงานร้องเพลงโฆษณาปลาหมึกสคิ๊ดดี้ ทำให้คุณระย้าสนใจจึงเรียกมาคุย หลังจากนั้นสามสี่วันแม่เม้าและแม่แดงก็พาแอมและแหม่มมา โดยเอากีตาร์มาด้วย คุณระย้าเลยตะลึงในความสามารถของทั้งคู่ที่เป็นเด็กผู้หญิง

พ.ศ. 2525 อัลบั้มแรกของวง สาว สาว สาว ชื่อว่า รักปักใจ ได้ ชรัส เฟื่องอารมย์ มาดูแลด้านเนื้อร้องและดนตรีให้ทั้งอัลบั้ม แต่คุณระย้ายังไม่มั่นใจ จึงไปนำเพลง รักปักใจ ของลินจง บุญนากรินทร์ และ รักต่างแดน ของนันทิดา แก้วบัวสาย มารวมไว้ในอัลบั้ม ในอัลบั้มชุดนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สาเหตุมาจากภาพลักษณ์ทางวงยังไม่ชัดเจน ทางด้านยอดขายของอัลบั้มนี้ อยู่ที่หนึ่งหมื่นนิด ๆโดยภายหลังทางค่ายรถไฟดนตรีจึงต้องเปลี่ยนปกอัลบั้มใหม่ ให้ดูสมวัยของพวกเธอ อัลบั้มนี้จึงได้รับความนิยมมากขึ้น

พ.ศ. 2526 อัลบั้มชุดที่ 2 ประตูใจ มีเพลงฮิตอย่าง ประตูใจ, รักคือฝันไป, ด้วยแรงแห่งรัก, อยากลืม, รักทำไม, มิอาจรัก, อย่าโกรธกันเลย ฯลฯ ในชุดนี้ภาพลักษณ์ชัดเจน สดใส ร่าเริง น่ารัก แนวเพลง ป๊อป-ร๊อคบับเบิ้ลกัม และในตอนนั้นทางค่ายรถไฟดนตรีมีช่องทางโปรโมทผลงานในค่ายหลากหลายมากขึ้น ทั้ง รายการวิทยุและนิตยสาร ทำให้วง สาว สาว สาว โด่งดังจนฉุดไม่อยู่ หลังจากการแสดงสดในรายการโลกดนตรีครั้งแรก ก็ทำให้เทปขายดีมากจนขาดตลาด และเป็นที่เรียกร้องของแฟนเพลงอย่างมาก เพลงต่าง ๆ ติดอันดับหนึ่ง ในชาร์ตเพลงของทุกคลื่นวิทยุเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเพลง รักคือฝันไป ที่โด่งดังถล่มถลายอย่างสุด ๆในด้านยอดขายในอัลบั้มนี้อยู่ที่สามแสนตลับ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด และในปีเดียวกัน ทางค่ายรถไฟดนตรีก็ออกอัลบั้ม สาว สาว สาว In Concert มารับกระแสในชุดประตูใจ ซึ่งยอดขายก็อยู่ที่สองแสนตลับ ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมาก เพราะในช่วงนั้นอัลบั้มที่เป็นบันทึกการแสดงสด จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากเท่าไหร่นัก

พ.ศ. 2527 อัลบั้มชุดที่ 3เป็นแฟนกันได้ยังไง มีเพลงฮิตอย่าง เป็นแฟนกันได้ยังไง, ไม่มีเธอ, ฟ้ากว้างทางไกล, ติ๊กต่อก(อย่าหยุดนะ), เพียงเพราะว่า, แปลกดีนะ, บอกฉันว่าไง, คลื่นเสน่หา เป็นต้น อัลบั้มชุดนี้มีกริซ ทอมมัส จากวงบาราคูดัส มาทำดนตรีให้ ซึ่งทีมงานค่อนข้างพิถีพิถันในการผลิต ให้มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับเพลงสากลในยุคนั้นที่สุด และมีความทันสมัยกว่าชุดที่ผ่านมา เพราะอัลบั้มประตูใจประสบความสำเร็จถล่มทลาย จึงต้องทำให้เพลงในอัลบั้มนี้ต้องดีกว่าชุดที่แล้ว ซึ่งในอัลบั้มนี้ดังถล่มถลาย มียอดขายมากกว่าสี่แสนตลับในเวลาอันรวดเร็ว

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2527 อัลบั้มที่ 4 หาคนร่วมฝัน เพลงฮิต อย่าง รักโกหก, หาคนร่วมฝัน, แมวน้อยกับผีเสื้อ, จุดหมายปลายทาง, ยามไกล, ปฏิทินหัวใจ, คิดถึงทุกวัน, ไม่มีใครร้องให้กับเรา ฯลฯ ในอัลบั้มนี้แนวเพลงจะคล้ายกับชุดที่ผ่านมา แต่เนื้อหาอะไรต่าง ๆ ของเพลง ก็โตขึ้นมาอีกตามวัย และทั้งสามคนเธอได้โชว์ความสามารถทางด้านการแต่งเพลง โดย แอมแต่งและร้องเอง 2 เพลง ได้แก่ จุดหมายปลายทาง, อย่าให้ฝันเก้อและแหม่มแต่งเพลง ไม่มีใครร้องให้กับเรา (โดยให้ปุ้มร้อง) และปุ้มแต่งและร้องเองได้แก่ หาคนร่วมฝัน, แมวน้อยกับผีเสื้อ ในอัลบั้มนี้ได้วงดนตรีแนวหน้าของเมืองไทยหลากหลายวงมาทำดนตรีให้อาทิเช่น ววบาราคูดัส วงเพื่อน (วงดนตรีไทย) และวงปะการัง แม้อัลบั้มชุดนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าชุดที่แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

พ.ศ. 2528 สาว สาว สาว อัลบั้มชุดที่ 5 ในวัยเรียน มีเพลงฮิตอย่าง ในวัยเรียน, พบกันที่เขาดิน, ภาพฝัน, เพียงความทรงจำ, Thank you, เที่ยวทะเล และ Telephone ที่แอมเป็นคนแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษเอง ถึงในช่วงนั้นวงการเพลงไทยมีการแข่งขันกันสูง แต่อย่างไรสาว สาว สาว ก็ยังรักษาระดับความนิยมที่ยังอยู่ในระดับดี

พ.ศ. 2529 อัลบั้มชุดที่ 6 แมกไม้และสายธาร มีเพลงฮิตอย่าง ทุ้งอ้อ, คำสัญญา, คืนใจ, บทเพลงชีวิต, อยากมีรัก, รักไม่กลับคืน ฯลฯ ด้วยแนวเพลงโฟล์ก- คันทรี โดยดนตรีเน้นใช้ทำนองแบบอะคูสติคเป็นหลัก โดยได้ภูสมิง หน่อสวรรค์ มาเรียบเรียงดนตรีให้ โดยทางค่ายรถไฟดนตรีอยากจะนำเสนอรากเง่าของวง สาว สาว สาว ที่แท้จริง คือการร้องเพลง และร้องประสานเสียง ซึ่งมีความประณีตในการผลิต รวมถึงปกอัลบั้มและมิวสิควีดีโอ ที่ใช้ทุนในการถ่ายทำสูงสุด โดยเสียงวิจารณ์ส่วนมาก บอกกันว่าอัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดอัลบั้มหนึ่งของวง สาว สาว สาว เลยทีเดียว ส่วนด้านยอดขายก็อยู่ที่สองแสนตลับ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร

พ.ศ. 2530 อัลบั้มชุดที่ 7 Because I Love You อัลบั้มเพลงสากลอัลบั้มแรกของวง สาว สาว สาว เป็นการนำเพลงฮิตในช่วงนั้นและเพลงที่พวกเธอนำไปร้องในคอนเสิร์ตต่าง ๆ นำมาคัฟเวอร์และเรียบเรียงดนตรีใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย มีเพลงฮิตอย่าง Because I Love You, When We Make A Home, Memory, You’re The Inspiration, Walking In The Rain, Starship Of Love, Careless Whisper, Last Song For You ฯลฯ ในอัลบั้มนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง บางเพลงก็ดังและเป็นที่รู้จักมากกว่าต้นฉบับ ถือว่าเป็นอัลบั้มที่ทำให้สาวสาวสาวกลับมาอยู่ในแถวหน้าอย่างเต็มตัวอีกครั้ง มีการจัดมินิคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม Because I love You ที่ เดอะฟัลคอน เดอะมอลล์ ได้รับความตอบรับจากแฟนเพลงอย่างสูง

พ.ศ. 2531 อัลบั้มชุดที่ 8ว้าว..ว! มีเพลงฮิตอย่าง ฉันบอกเธอเอง, ลองทำดู, ห่วงใยทุกนาที, คืนสุดท้าย, เพียงแค่เธอลืมฉันไป เป็นต้น สาวสาวสาวกลับมาพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ปราดเปรียว เปรี้ยวสะดุดตา และลีลาการเต้นที่แปลกใหม่ ทำให้โชว์บนเวทีสมบูรณ์แบบมากขึ้น รวมถึงแนวเพลง ที่เปลี่ยนจากเพลงฟังสบาย ๆเป็นแนวเพลงป๊อบแดนซ์ร่วมสมัย และซาวด์ดนตรีในอัลบั้มนี้ มีการพัฒนาขึ้นให้ทันสมัยและใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลในยุคนั้น โดยเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นอัลบั้มที่สมบูรณ์แบบที่สุดของวง สาว สาว สาว

ปลายปี 2531 อัลบั้มชุดที่ 9 Togetherอัลบั้มเพลงสากลชุดที่ 2 ของวง สาว สาว สาว มีเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่าง Four Latter Words, Afternoon Delight, If You Remember me Last Christmas และที่สร้างความฮือฮากับแฟน ๆ ก็คือเพลง Something That Used To Be Mind ที่แอมแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษเป็นเพลงที่ 2 ความหมายของอัลบั้มนี้คือ ความรักและความผูกผันที่มีต่อกันยังคงอยู่รวมกันอยู่เสมอ และทั้งสามได้โชว์ความสามารถในด้านการประสานเสียงและลีลาการเต้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย

พ.ศ. 2532 สาว สาว สาว เป็นแขกรับเชิญ ในคอนเสิร์ต สบายอยู่แล้ว ของบุปผา ธรรมบุตร ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2532 ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ และในปีเดียวกัน สาว สาว สาว ได้รับเชิญจากประเทศญี่ปุ่นให้ไปเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปร่วมงาน Tokyo Music Festival 1989 ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ขออนุญาตนำเพลง Hana ของ ชินจิ ทานิมูระ มาร้องในฉบับภาษาไทยในอัลบั้มชุดต่อไป

พ.ศ. 2533 อัลบั้มชุดที่10 ดอกไม้ของน้ำใจ เป็นอัลบั้มชุดสุดท้าย ในนาม สาว สาว สาว มีเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่าง ดอกไม้ของน้ำใจ, มีแต่เสียใจ, ไม่รู้ใจ เป็นต้น อัลบั้มชุดนี้ฉีกความเป็น สาว สาว สาว จากเดิมออกไปอย่างสิ้นเชิง เสื้อผ้าหน้าผมทันสมัยมากกว่าเก่า แนวเพลงที่ชัดเจน โดยทั้งสามตกลงกันว่าอัลบั้มชุดนี้จะเป็นชุดสุดท้ายของวง และมีการขึ้นแสดงเพลงในอัลบั้มนี้บนเวทีรายการ 7 สีคอนเสิร์ต เป็นครั้งสุดท้าย โดยไม่มีการแถลงข่าวใด ๆ

ชีวิตในปัจจุบันของสมาชิกวง

แอม เข้าทำงานในบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นนักแต่งเพลงให้กับศิลปินต่าง ๆและได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกในปี พ.ศ. 2536 ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง จึงมีผลงานออกมาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

แหม่ม เรียนต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรับงานร้องเพลงประกอบละคร ร้องคอรัส และร้องไกด์ให้กับศิลปินอื่น ๆทุก ๆ ค่าย จนได้เป็นศิลปินในสังกัดอาร์เอส ก็ประสบความสำเร็จและมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้แหม่มมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสของฝ่ายพัฒนาศิลปินค่ายอาร์เอส รวมถึงเป็นเทรนนิ่งให้กับศิลปินในอาร์เอสปัจจุบันลาออกจากค่ายอาร์เอส เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ปัจจุบันแหม่มรับงานอิสระ และเปิดร้านกาแฟชื่อ Pat's Tea Room & Coffee Club ในซอยสุขุมวิท 101/1

ปุ้ม มีผลงานอัลบั้มเดี่ยวกับสังกัดอินเทอร์นอล และประสบความสำเร็จจนมีผลงานต่อเนื่องมาหลายชุด และทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ในบ้าน ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเซีย

หลังจากที่ได้แยกย้ายกันไป สมาชิกวง สาว สาว สาว ทั้งสามคน ก็กลับมารวมตัวกันในรายการทีวีต่าง ๆ อยู่ตลอด โดยในปี พ.ศ. 2554 กลับมารวมตัวกันในงาน All Hearts for Japan เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อมาร่วมส่งกำลังใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศญี่ปุ่น จากภัยพิบัติสึนามิ โดยได้ร่วมร้องเพลง ดอกไม้ของน้ำใจ เพื่อไว้อาลัยต่อเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 พวกเธอทั้ง 3 ตัดสินใจที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งใน คอนเสิร์ต สาวสาวสาว ที่ห่างจากคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้ายถึง 34 ปี โดยขายบัตรหมดทั้ง 3 รอบ แสดงในวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ สยามพารากอน

สมาชิก
อรวรรณ เย็นพูนสุข (ปุ้ม)
เสาวลักษณ์ ลีละบุตร (แอม)
พัชริดา วัฒนา (แหม่ม)

คอนเสิร์ต

ได้มีโอกาสแสดงคอนเสิร์ตเป็นจำนวนมาก

ผลงานอื่น ๆ
เพลงเมตตาธรรม พ.ศ. 2528
เพลงชมทะเล พ.ศ. 2532 เพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
โลกและสันติภาพ ร่วมกับ ภูสมิง หน่อสวรรค์, ประวิทย์ ฟรีเบิร์ดส, หรั่ง ร็อคเคสตร้า, ชัยรัตน์ เทียบเทียม, ฤทธิพร อินสว่าง, พัณนิดา เศวตาสัย

รางวัล
2566   โทตี้มิวสิกอวอร์ดส์ 2022   Lifetime Achievement Award

บันทึกการเข้า

♪♪♪ รวมผลงาน ของพงศภัค  http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,16566.msg39174.html#msg39174
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต เพลงจากยูทูป
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 9   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: