-/> ภาวะสมองขาดเลือด

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาวะสมองขาดเลือด  (อ่าน 1291 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 2980
เหรียญรางวัล:
PJ ดีเด่นนักอ่านยอดเยี่ยม
กระทู้: 260
ออฟไลน์ ออฟไลน์
   
« เมื่อ: 12 ธันวาคม 2561, 06:30:56 PM »

Permalink: ภาวะสมองขาดเลือด
ภาวะสมองขาดเลือด
ภาวะสมองขาดเลือดคืออะไร


ภาวะสมองขาดเลือด (STROKE) ถือว่าเป็นหนึ่งในโรคสำคัญที่พบได้บ่อยในสังคมเรา
และกลายเป็นปัญหาหนักต่อตัวผู้ป่วยเอง ต่อครอบครัวของผู้ป่วย รวมทั้งต่อสังคมโดยทั่วไปด้วย
โรคนี้จะทำให้เกิดอาการอัมพาตเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการพูดและ/หรือการมองเห็น
ภาวะสมองขาดเลือดมีสาเหตุจากการที่ร่างกายไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือด
 ส่งผลให้ออกซิเจนและสารอาหารอื่นไม่สามารถขึ้นไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ หลังจากนั้นเซลล์สมองก็จะตายในเวลาเพียงสั้นๆ

นอกจากนี้ ภาวะสมองขาดเลือดอาจเกิดขึ้นจากการมีเลือดออกในสมองเนื่องจากภาวะหลอดเลือดแตก
ซึ่งอัตราการเกิดขึ้นของกรณีนี้มีประมาณ 12% ของภาวะสมองขาดเลือดทั้งหมด

ความรุนแรงของภาวะสมองขาดเลือดจะมากหรือน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้อเยื่อสมองที่ถูกทำลาย
 โดยธรรมชาติแล้วสมองด้านซ้ายจะควบคุมการทำงานของอวัยวะซีกขวาและการพูด
 โดยสมองด้านขวาควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย
 
อาการของภาวะสมองขาดเลือด
ภาวะสมองขาดเลือดอาจไม่ได้ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อทุกเซลล์ทันทีหลังเกิดการอุดตันที่เส้นเลือดในสมอง
 ดังนั้นถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะสามารถรักษาเซลล์ต่างๆ ให้ทำหน้าที่เหมือนเดิมได้ ยิ่งไปกว่านั้น
หากสามารถรักษาและป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นปัญหาเรื่องการไหลเวียนของเลือดเสียแต่เนิ่นๆ
 ภาวะสมองขาดเลือดก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้
 
สัญญาณเตือนของภาวะสมองขาดเลือด
มีความผิดปกติทางการมองเห็นที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
 โดยมีอาการตั้งแต่การมองเห็นภาพไม่ชัดจนถึงภาวะตาบอดช่วงสั้นๆ
อาการอ่อนแรงของนิ้วมือ มือ หรือทั้งแขนและขา หรือที่ร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง หากเป็นขั้นรุนแรงก็อาจมีอาการอัมพาตครึ่งซีก
มีความบกพร่องทางการพูดช่วงคราว หรือระบบการทำความเข้าใจผิดปกติ
เกิดอาการต่อไปนี้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน ได้แก่ รู้สึกเวียนศีรษะ มองไม่ชัด คลื่นไส้อาเจียน
ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง และมองเห็นภาพซ้อน
อาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสียหายชั่วคราวที่เกิดขึ้นกับการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง
เกิดอารมณ์สับสนเป็นเวลานานโดยไม่มีอาการหมดสติ

สาเหตุของภาวะสมองขาดเลือด

สาเหตุสำคัญและพบได้บ่อยของการเกิดภาวะสมองขาดเลือด ก็คือการตีบหรือแตกของเส้นเลือดในสมอง
หรือหลอดเลือดหลักที่ลำคอซึ่งจะนำเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงที่สมอง ภาวะดังกล่าวมักเป็นผลจากภาวะ
ผนังหลอดเลือดแดงหนาและมีความยืดหยุ่นน้อยลง การเป็นเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นของโรคเกี่ยวกับ
หลอดเลือดแดงที่ออกจากหัวใจ ซึ่งนำไปสู่การทำลายผนังหลอดเลือด
ผลที่ตามมาคือช่องว่างในหลอดเลือดจะลดน้อยลงมาก
 
ปัจจัยเสี่ยง
ความดันเลือดสูง
ระดับไขมันเลือดสูง
เบาหวาน
การสูบบุหรี่
ความอ้วน
โรคเก๊าท์
ยาเม็ดคุมกำเนิด

การป้องกัน
ปัจจุบันนี้ ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปีจะได้รับการแนะนำจากแพทย์
ให้ตรวจเพื่อหาปัจจัยของโรคนี้ ภาวะของผนังหลอดเลือดแดงหนาสามารถหลีกเลี่ยงได้
หากผู้ป่วยตระหนักถึงโรคนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมทั้งสังเกตอาการแรกเริ่มที่อาจเกิดขึ้น
 เพื่อหาทางป้องกันและควบคุมได้ทันท่วงที

ขั้นตอนที่ควรปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะผนังหลอดเลือดแดงหนา

ลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ
งดสูบบุหรี่
ตรวจความดันเลือดอยู่เสมอ ความดันโลหิตสูงต้องได้รับการตรวจและควบคุม
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะถ้าคุณต้องทำงานที่มีการเคลื่อนไหวน้อย
ผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรงดสูบบุหรี่
หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดเป็นระยะเวลานาน

ควรทำอะไรเมื่อเกิดภาวะสมองขาดเลือด

ภาวะสมองขาดเลือดจะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพของสมอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินบริเวณของสมองที่ถูกทำลาย
โดยดูจากอาการของผู้ป่วยและการตรวจวินิจฉัย
 
เทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรค

มีวิธีการทดสอบและวินิจฉัยเพื่อหาถึงปัจจัยความเสี่ยงที่มี และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดซึ่งปัจจุบัน
สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัดและได้รับความเจ็บปวดแต่อย่างใด วิธีต่างๆ นั้นได้แก่
เครื่องตรวจร่างกายโดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง (MRI & MRA)
ตัวอย่างเลือดเพื่อการทดสอบค่าสารต่างๆ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
การวัดคลื่นไฟฟ้าของสมอง (EEG)
การวัดความเร็วของกระแสเลือด เพื่อประเมินความตีบของเส้นเลือด
การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

หากมีอาการต้องทำอะไรบ้าง
ถ้ามีสัญญาเตือนเกิดขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที การตรวจและการรักษาที่รวดเร็ว
จะช่วยป้องการการทำลายสมองในขอบเขตที่กว้างขึ้นได้
หากมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม
กรุณาติดต่อขอรับความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษา
ด้วยยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic drugs) หรืออาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีใช้สายสวน
ไปเอาก้อนเลือดที่อุดกั้นออกภายในเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังการเกิดภาวะสมองขาดเลือด

ภาวะสมองขาดเลือดรักษาได้อย่างไร
เมื่อมีอาการทางสมองเกิดขึ้น วิธีการรักษาต่างๆ จะต้องนำมาใช้อย่างทันที
ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือเฉพาะทาง
ขอให้ตระหนักไว้ว่าภาวะสมองขาดเลือดถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน แม้ว่าอาการอาจดูไม่รุนแรงก็ตาม

สำหรับภาวะสมองขาดเลือดแบบสมบูรณ์นั้น การตรวจรักษาอาจต้องใช้ยา thrombolytic
ซึ่งช่วยสลายลิ่มเลือดให้กระจายออก เพื่อลดการทำลายเนื้อเยื่อให้น้อยลง และในบางครั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
อาจตรวจดูส่วนของสมองที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อสันนิษฐานการจัดการหน้าที่ของสมองที่ถูกทำลายไป

โรคแทรกซ้อน

ในช่วงอาทิตย์แรกมักจะมีโรคแทรกซ้อน ต่อไปนี้
การเกิดซ้ำของภาวะผนังหลอดเลือดแดงหนา (Arteriosclerosis) ในหลอดเลือด
อาการสมองบวมน้ำเนื่องจากเนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย
มีเลือดออกจากหลอดเลือดแตก ความผิดปกติที่น้ำไขสันหลังคั่งในกะโหลกศีรษะเนื่องจากเกิดการอุดตันในหลอดเลือด
เมื่อผ่านอาทิตย์แรกไปแล้ว อาจมีโรคแทรกซ้อน ได้แก่
ปอดบวม (Pneumonia)
การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ
อาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ
โรคเบาหวาน
การไม่สมดุลทางประจุของสารละลายอิเล็กโทรไลท์
แผลกดทับ
นอกจากวิธีทางการรักษาต่างๆ ที่ได้พิจารณานำมาใช้ในการรักษาแล้ว การรักษาด้านกายภาพบำบัดที่
 เหมาะสมก็มีความสำคัญอย่างมากและควรนำมาบำบัดให้แก่ผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดอาการ
เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ร่างกายอย่างถาวร

การทำนายอาการของโรค
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดไม่รุนแรง อาจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว มีอาการชามือหรือเท้า
หรือเป็นอัมพาตชั่วคราว (Transient Ischemic Attacks) นั้น ผู้ป่วยหนึ่งในสาม
อาจมีการทำลายร่างกายอย่างถาวรได้ในอนาคตอันใกล้ และ 50% ของภาวะสมองขาดเลือดประเภทนี้
อาจเกิดการทำลายร่างกายผู้ป่วยได้ในช่วงระหว่าง 1 ปีแรกหลังพบอาการ
อัตราการเสียชีวิต 15-30 % ของผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต เกิดจากอาการที่เกิดตามมาคือ ภาวะเลือดออกในสมอง
ภาวะเส้นเลือดตีบอย่างรุนแรง การติดเชื้อ และอื่นๆ
หลังจากได้รับการรักษาและมีอาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
 เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

การป้องกัน
การป้องกันเป็นความสำคัญลำดับแรกของเราในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะสมองขาดเลือด
ปัจจุบันนี้มียาสองชนิดที่สามารถป้องกันการอุดตันในเส้นเลือดได้
ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) เช่น ยาแอสไพริน, ยาทิโคลพิดีน และ ยาโคลพิโดเกรล
ยาต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด (Anticoagulant) เช่น ยาวาฟาริน หรือยาในกลุ่ม NOAC
การรักษานี้ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
 เพื่อที่แพทย์จะได้สามารถสังเกตและตรวจพบถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด
 
การดูแลผู้ป่วยอัมพาต
ความสำคัญอันดับหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตคือการป้องกันโรคแทรกซ้อนและไม่ให้เกิดการทำลายส่วนต่างๆ
 ของร่างกายเพิ่มขึ้น ในการดูแลผู้ป่วยจากภาวะสมองขาดเลือด ท่านอาจใช้แนวทางดังนี้
เนื่องจากมีความอ่อนแรงหรืออัมพาตที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ผู้ป่วยอาจช่วยเหลือตัวเอง ไม่ค่อยได้
 และต้องการความช่วยเหลือเพื่อเปลี่ยนท่าทางทุกสองชั่วโมงเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ
ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรักษาโดยให้ทำกิจกรรมเบาๆ
 รวมถึงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงและยากต่อการกลืนอาหาร
การหดตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ร่วมกับความไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้
เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นหลังการเป็นอัมพาต ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง
การสูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sensory loss) ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถรู้สึกได้ถึงความร้อน
ความเย็น ความเจ็บปวด ในส่วนของร่างกายที่เป็นอัมพาต จึงอาจทำให้ตัวเองบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการแนะนำให้ใส่ใจกับอวัยวะส่วนที่เป็นอัมพาตนั้น

ความวุ่นวายและสับสนทางอารมณ์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความสับสน สูญเสียความทรงจำ
และคิดอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นจึงสำคัญมากที่ครอบครัวจะมีความเข้าใจ แสดงความใส่ใจ
 และให้การช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
Aphasia คือ การสูญเสียความสามารถด้านภาษา-ทั้งการพูดและการฟัง
โดยอาจเป็นการสูญเสียความสามารถในความเข้าใจและการใช้คำศัพท์เพียงบางส่วนหรือทั้งหมด
การแก้ไขด้านการพูด (Speech therapy) จึงอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีทักษะ
ในการสื่อสารได้บ้างภายใน 6-12 เดือน
สรุป
การหลีกเลี่ยงภาวะสมองขาดเลือดก็คือการป้องกันไม่ให้มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น
 สามารถทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้น้อยที่สุด ปัจจุบันนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาให้หายได้
และการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบจะมีผลอย่างมากต่อการลดโอกาสเกิดภาวะสมองขาดเลือด
ท่านควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ
ความรวดเร็วในการตรวจพบและการรักษาถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยภาวะสมองขาดเลือด

 ที่มา  ร.พ.บำรุงราษฏร์
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: