-/> ของนี้มีที่มา ตอนที่ 3.....วิทยุ

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 3.....วิทยุ  (อ่าน 1329 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 25 ตุลาคม 2561, 10:19:21 PM »

Permalink: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 3.....วิทยุ
....กราบสวัสดีทุกๆท่านครับ....หลังจากหายหน้าไปหลายวัน เพราะกล้ามเนื้อหลังอักเสบ วันนี้ก็ได้เวลามาประจำการแล้ว....เอาละเข้าเรื่องกันดีกว่า

....หลายๆท่านคงจะรู้จักวิทยุกันแล้วนะครับ(โดยเฉพาะเหล่าบรรดานักเก็งกำไรวันที่ ๑ และ ๑๖ อิอิ...)แต่หลายท่านคงจะไม่ทราบว่าวิทยุในไทยนั้นมีมานานเท่าไหร่แล้ว วันนี้จะหยิบมานำเสนอกันครับ แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า วิทยุในไทยนั้นมีหลายช่วงสมัยมาก เลยจะขอแยกย่อยๆเยอะหน่อยนะครับ....

....ในการจะทำความเข้าใจวิวัฒนาการของกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยนั้น เราจะต้องเข้าใจถึง “บทบาท” ของวิทยุ และการใช้กิจการวิทยุในเรื่องที่แตกต่างกันในแต่ละยุค ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น ๘ ยุค ดังนี้ครับ....

๑.ยุควิทยุโทรเลข (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๖๙)

....ประเทศไทยเริ่มรับเทคโนโลยี “โทรเลข” เข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว...โดยในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ บริษัทเทเลฟุงเก็น ได้ขออนุญาตทดลองจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขชั่วคราว ที่บริเวณภูเขาทอง และเกาะสีชัง แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรเท่าไหร่นัก ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๕๐ จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต นำเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนีของอังกฤษมาใช้ในกรมทหารเรือ
....ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ รัชกาลที่ ๖ ทรงได้ให้กระทรวงทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขแบบถาวร ที่ศาลาแดง กรุงเทพฯ และที่ จ.สงขลา
- ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ รัชกาลที่ ๖ ทรงบัญญัติศัพท์คำว่า "วิทยุ" เพื่อใช้แทนคำว่า "ราดิโอ" ซึ่งใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษกันมาตลอด(Radio - เรดิโอ) พร้อมทั้งประกาศใช้ "พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลข"เป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยมีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้กำกับดูแลการนำเข้าเครื่องส่งและการใช้วิทยุโทรเลขในประเทศไทย...
- พ.ศ.๒๔๖๙ กรมไปรษณีย์โทรเลข เข้ามาโอนกิจการสถานีวิทยุโทรเลขที่ศาลาแดงและสงขลามาจากกองทัพเรือ รวมไปถึงการโอนพนักงานวิทยุของทหารเรือเข้ามาเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลขด้วย และยังมีการขยายงานวิทยุโทรเลขออกไปยังจังหวัดต่างๆ รวม ๕๐ สถานี แต่ในขณะนั้นวิทยุโทรเลขยังไม่เป็นที่นิยมของประชาชนมากนักเพราะประชาชนยังไม่เชื่อว่าการติดต่อทางวิทยุโทรเลขนั้นจะเป็นไปได้จริง....

๒.ยุคทดลองส่งกระจายเสียง (พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๔)

....เมื่อมีกิจการโทรเลขแล้ว ประกอบกับความก้าวหน้าของวิทยุในต่างประเทศ ทำให้มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งมีความสนพระทัยในการส่งกระจายเสียงวิทยุเป็นอย่างมาก นั่นคือ "พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน" ซึ่งเรายกย่องให้พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเป็น “บิดาแห่งวงการวิทยุกระจายเสียงไทย”....พระองค์ทรงเริ่มทดลองวิทยุในวังก่อน จนกระทั่งวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๗๑ จึงเริ่มทดลองส่งกระจายเสียงวิทยุเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า สถานี ๔ PJ (PJ เป็นพระนามย่อของพระองค์) โดยทรงทำการทดลองการส่งกระจายเสียง ณ อาคาร “ไปราณียาคาร” ซึ่งใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรก ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง นับเป็นการเริ่มกระจายเสียงวิทยุเป็นครั้งแรก ในการกระจายเสียงครั้งนั้น ทรงสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงที่มีขนาดกำลังส่ง ๒๐๐ วัตต์ ขนาดความยาวคลื่น ๓๖.๔๒ เมตร ซึ่งเป็นคลื่นสั้นเข้ามา ๑ เครื่อง ซึ่งการทดลองกระจายเสียงก็ได้รับความสนใจจากประชาชนมาก
....กองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ย้ายสถานีจากปากคลองโอ่งอ่างไปตั้งที่ศาลาแดง โดยสัญญาณที่เรียกว่า “๒ พีเจ ” แต่การกระจายเสียงโดยคลื่นสั้นนั้นยังไม่ได้ผลที่ดีมากนัก เนื่องจากมีการจางหายของคลื่นไปมาก เจ้าหน้าที่วิทยุที่ศาลาแดง จึงได้ประกอบเครื่องส่งขึ้นเองอีกเครื่องหนึ่ง มีกำลังส่งออกอากาศสูงขึ้นเป็น ๑ กิโลวัตต์ ขนาดคลื่น ๓๒๐ เมตร ส่งกระจายเสียงโดยสัญญาณที่เรียกว่า “๑๑ พีเจ ” (อ่าน หนึ่ง -หนึ่ง - พีเจ)
....เมื่อประชาชนให้ความสนใจและนิยมซื้อเครื่องรับวิทยุที่เรียกว่า"เครื่องแร่"ในสมัยนั้นกันมากขึ้น สมเด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จึงได้ทรงสั่งเครื่องส่งที่มีกำลังสูง ๒.๕ กิโลวัตต์จากบริษัทฟิลลิปราดิโอ ประเทศฮอลันดา(เนเธอร์แลนด์) เข้ามาอีกเครื่องหนึ่ง โดยใช้ขนาดคลื่น ๓๖๓ เมตร ติดตั้งสถานีส่งกระจายเสียงที่วังพญาไท และจัดตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท”
....สาเหตุที่มีการย้ายจากศาลาแดงมาที่วังพญาไทเพราะเดิมที่ศาลาแดงเป็นสถานีส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขด้วย ซึ่งทำให้เกิดการรบกวนของคลื่น จึงต้องย้ายแยกออกมา และพญาไทในขณะนั้นก็ถือว่าเป็นส่วนนอกเมืองออกมา เสียงและสัญญาณรบกวนต่างๆก็ลดน้อยลง การกระจายเสียงระยะแรกของสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไทนั้น จัดว่าอยู่ในขั้นทดลองมิได้ออกอากาศประจำทุกวัน และจำนวนเครื่องรับก็มีอยู่น้อยมากราว ๑๐ เครื่อง ความสนใจของกรมไปรษณีย์โทรเลขในช่วงนั้นอยู่ที่การค้นคว้าการส่งและรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียงให้มีคุณภาพเสียงที่ชัดเจน ไม่ขาดหายเป็นช่วงๆ ต้องติดตามผลว่าในสภาพอากาศและภูมิประเทศแบบใดจึงจะส่งคลื่นได้ดีและยังต้อง ประดิษฐ์เครื่องส่งขึ้นใช้เองด้วย
....การตื่นตัวในการมีวิทยุของประชาชนไทยก็ขยายวงออกไปกว้างขวางขึ้นเมื่อมีการ ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลข (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. ๒๔๗๓ อนุญาตให้ประชาขนทั่วไปมีเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงได้ ในปีต่อมาพบว่ามีเครื่องรับฟังกว่า ๑๑,๐๐๗ เครื่อง และสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท ก็สามารถออกอากาศเป็นประจำทุกคืน ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕

๓.ยุควิทยุกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๐)

....ในปี พ.ศ.๒๔๗๕นั้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยคณะราษฎ์ซึ่งนำโดยพันเอกพหลพลพยุหเสนา ในยุคนั้นคณะราษฎ์ได้ใช้วิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย สภาพของวิทยุกระจายเสียงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทางราชการต้องการสถานที่วังพญาไทเพื่อจัดสร้างเป็นโรงพยาบาล (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน) สถานีวิทยุพญาไทจึงย้ายไปอยู่ร่วมกับสถานีวิทยุที่ศาลาแดง ทำการส่งกระจายเสียงโดยใช้ชื่อสถานีใหม่ว่า “ สถานีวิทยุกรุงเทพฯที่ศาลาแดง ๗ พีเจ ” ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๙
....วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๒ รัฐบาลจัดตั้ง"กรมโฆษณาการ"ขึ้นในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี โอนวิทยุจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาสังกัดไว้ที่นี้ และกรมโฆษณาการทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่กิจกรรมของรัฐบาลและเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน
 ต่อมา สถานีวิทยุกรุงเทพที่ศาลาแดง ๗ พีเจ ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย"นั่นเอง...

๔.ยุควิทยุกับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหาร (พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๕๑๕)

....การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเห็นได้ชัดในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมีนโนบายเรื่องชาตินิยม รัฐนิยม และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้มีลักษณะสากลนิยม โดยใช้วิทยุเป็นสื่อในการปลุกเร้าความรู้สึก ความคิด และความเชื่อของประชาชนให้เป็นไปตามนโยบายของตัวเอง ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีรายการสนทนารายการหนึ่งชื่อว่า “รายการสนทนาของนายมั่น นายคง” ที่เริ่มกระจายเสียงตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ เป็นรายการสนทนาด้วยภาษาง่ายๆ สลับด้วยเพลงปลุกใจ ความยาวประมาณ ๓๐ นาที ออกกระจายเสียงเวลา ๑๙.๐๐ น.โดยจะคุยเรื่องราวที่เป็นหัวข้อกำหนดมาโดยจอมพล ป. เช่น จะให้ทุกบ้านติดธงชาติ ก็จะมีการนำมาพูดในรายการด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่นโยบายที่รณงรงค์ให้ประชาชน สวมหมวก เลิกกินหมาก และแต่งกายแบบสากล เพื่อส่งเสริมศิลปะแบบใหม่แทนแบบจารีตของเจ้านายและขุนนางยุคเก่า เพลงรำวงได้รับความนิยมมาก และมีการนำเพลงปลุกใจมาทำเป็นเพลงรำวง สร้างความสนุกสนาน และปลุกเร้าความรู้สึกรักชาติ และความสามัคคีไปพร้อมกัน
....ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ นั้น คำสั่งให้ทุกจังหวัดต้องมีวิทยุกระจายเสียงเปิดให้ประชาชนฟัง รัฐบาลพยายามชักชวนให้ประชาชนฟังวิทยุ ซึ่งเป็นปากเสียงสำคัญของรัฐบาล
....ในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๓ –๒๔๖๘นั้น เป็นระยะเวลาที่ไทยต่อสู่กรณีเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส สมัยนั้นรัฐบาลจอมพล ป. (หลวงพิบูลสงครามในสมัยนั้น) ตั้งสถานีวิทยุเคลื่อนที่ ๑๒ สถานีตามแนวชายแดน เพื่อให้ประชาชนร่วมเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสร่วมกันกับฝ่ายรัฐบาลด้วย....
....ในสมัยนั้น วิทยุสามารถสร้างกระแสชาตินิยมให้เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดย เฉพาะ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เป็นยุวชนและเป็นยุวชนทหาร ข้าราชการ มีการแต่งเพลงกราว เพลงปลุกใจจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เพลง"ตื่นเถิดชาวไทย" ของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น
....ในปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘ ได้มีเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น วิทยุกระจายเสียงมีบทบาทในการโฆษณาชวนเชื่อลิทธิการเมืองของประเทศสองฝ่ายที่ทำสงครามกัน ในช่วงสงครามนั้น กิจการวิทยุกระจายเสียงประสบวิกฤตอย่างหนัก คือหาอุปกรณ์ชิ้นส่วน อะไหล่ของเครื่องส่งวิทยุยากมาก และสถานีวิทยุต้องย้ายไปต่างจังหวัดเพื่อหนีภัยสงคราม ซึ่งทำให้การออกอากาศชะงักลงบ้าง เมื่อประเทศไทยถูกโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตร โรงไฟฟ้าในไทยได้ถูกทิ้งระเบิดเสียหายจำนวนมาก ส่งผลทำให้การส่งวิทยุกระจายเสียงต้องหยุดชะงักลง ประชาชนต้องอาศัยข่าวจากหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงได้สั่งให้กรมไปรษณีย์โทรเลขเตรียมสำรองเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงไว้ จนในที่สุดได้พัฒนาจนสามารถอกอากาศส่งกระจายเสียงเป็นประจำได้ โดยใช้ชื่อ สถานีว่า  “สถานีวิทยุ ๑ ปณ.”
....จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก่อตั้งสถานีวิทยุ ท.ท.ท. บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ตั้งที่สี่แยกคอกวัว วิทยุท.ท.ท. จดทะเบียนเป็นบริษัท เป็นสถานีวิทยุในรูปแบบบริษัทแห่งแรก เริ่มออกอากาศด้วย AM แต่ต่อมาพัฒนาเป็นออกอากาศด้วย FM แห่งแรกของประเทศ
....ในปีพ.ศ.๒๔๙๕ ได้เปลี่ยนชื่อกรมโฆษณาการ เป็นกรมประชาสัมพันธ์
.....อนึ่ง ในปีพ.ศ. ๒๔๙๓นั้น รัฐบาลได้ประกาศ "พระราชบัญญัติการโฆษณากระจายเสียง"ขึ้น ซึ่งมีผลดังนี้
- ยกเลิกการจดทะเบียนเครื่องรับ ทำให้คนมีวิทยุได้ไม่ต้องขออนุญาต
- หน่วยงานอื่นตั้งสถานีวิทยุขึ้นได้ ทำให้เกิดสถานีวิทยุเพิ่มขึ้นหลายแห่ง

....เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาว่าต่ออีกสี่ยุคนะครับผม ยาวเกินกลัวจะอ่านกันไม่หมด  ...สวัสดีครับผม
บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: