-/> ของนี้มีที่มา ตอนที่ 13 การประปาในไทย

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 13 การประปาในไทย  (อ่าน 1264 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2561, 09:13:00 PM »

Permalink: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 13 การประปาในไทย
...."ประปา" เมื่อเอ่ยชื่อนี้คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มนะครับว่า คืออะไร??? แทบทุกบ้าน ทุกสำนักงาน เอาง่ายๆคือ ทุกๆที่นั้น จะต้องมีน้ำประปาประกอบอยู่ด้วยเสมอ....แล้วการประปาไทยนั้นมีจุดเริ่มต้นอย่างไรละ???....

....เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยแรกการใช้น้ำยังคงอาศัยน้ำจากแม่น้ำลำคลองและน้ำฝนเป็นน้ำอุปโภคบริโภค ฉะนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าให้มีการขุดคลองเชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมากมายให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน

....ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีพระราชดำริการหาน้ำบริโภคสำหรับประชาชนในเขตพระนคร เพื่อให้บรรดาพสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ถูกสุขลักษณะ ปราศจากโรคภัยร้ายแรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าในขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังคงใช้น้ำซึ่งปราศจากความสะอาดบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับต่ำทำให้น้ำทะเลเข้ามาถึง น้ำจะมีรสกร่อยไม่เหมาะสำหรับการบริโภคและน้ำก็มีแนวโน้มที่จะทวีความสกปรกเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากสภาพการขยายตัวของชุมชนและบ้านเมืองซึ่งจะทำให้สภาพการใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นบ่อเกิดของโรคระบาดได้ ประกอบกับได้ทรงพบเห็นความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาการต่าง ๆ ของการผลิตน้ำจากต่างประเทศเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ปี พ.ศ.๒๔๔๐ ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลเป็นหน่วยงานรับสนองพระราชดำริ....

....ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ กรมสุขาภิบาลได้จ้าง นายเดอลาม โฮเตียร์ ผู้ชำนาญวิชาช่างจากประเทศฝรั่งเศสเข้ามารับราชการเป็นช่างสุขาภิบาล และได้ยื่นรายงานความเห็นในวิธีการจัดหาน้ำใช้คือ
๑. ทำทำนบกั้นขังน้ำในที่ลุ่ม
๒. ทดเอาน้ำแม่น้ำซึ่งมีน้ำดีไม่ต้องกรองมาใช้
๓. เอาน้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยาในที่ซึ่งน้ำเค็มขึ้นไม่ถึงมากรองใช้
....ในระหว่างนี้ได้ทรงตรวจสอบและปรึกษากับเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ถึงผลดีและผลเสีนต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน และในปี พ.ศ.๒๔๔๐ เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์ วิวัฒน์ ผู้บัญชาการกรมสุขาภิบาลในเวลานั้นได้มีจดหมายบันทึกการหาน้ำบริโภคไว้ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าในที่ประชุมเสนาบดี พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการหาน้ำบริโภค(วอเตอร์เวิก)สำหรับกรุงเทพ....ครั้นปี พ.ศ.๒๔๕๒ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ได้ประกาศพระบรมราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลจัดการที่จะนำน้ำมาใช้ในพระนคร ตามแบบอย่างที่สมควรแก่ภูมิประเทศ การที่จะต้องทำนั้นคือ
๑. ให้ตั้งทำที่ขังน้ำที่คลองเชียงราก แขวงเมืองปทุมธานี อันเป็นที่พ้นเขตน้ำเค็มขึ้นถึงทุกฤดู
๒. ให้ขุดคลองแยกจากที่ขังน้ำนั้นเป็นทางลงมาถึงริมคลองสามเสนฝั่งเหนือแนวทางรถไฟ
๓. ตั้งโรงสูบขึ้น ณ ตำบลนั้น สูบน้ำขึ้นขังยังที่เกรอะ กรอง ตามวิธีให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งซึ่งจะเป็นเชื้อโรค แล้วจำหน่ายน้ำไปในที่ต่าง ๆ ตามควรแก่ท้องที่ของเขตพระนคร

...กิจกรรมอย่างนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกตามภาษาสันสกฤต เพื่อจะให้เป็นคำสั้นว่า “การประปา” โดยได้กำหนดวิธีการเตรียมงานและก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
- ทำการซื้อที่ดินในระยะแรกรวมเนื้อที่จะต้องใช้ทั้งสิ้น ๑,๑๒๒ ไร่ ๒ งาน ๗๒ ตารางวา หรือ ๔๔๙,๐๗๒ ตารางวา และเริ่มขุดคลองรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือวัดสามแล แขวงเมืองปทุมธานี เมื่อ ปลายเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๕๒
- ได้เริ่มการฝังท่อจ่ายน้ำตลอดทั่วพระนคร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๔ ใช้เวลารวมทั้งสิ้น ๒ ปีเต็ม
- ได้ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องกวนสารส้ม และเครื่องกรองน้ำ รวมทั้งถังพักน้ำและถังขังน้ำบริสุทธิ์ขึ้นที่ตำบลสามเสน และถังช่วยแรงส่งน้ำรูปหอคอย ๒ ถัง ขึ้นที่ตำบลบ้านบาตรตรงสี่แยกวรจักรและถนนบำรุงเมืองแล้วเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๗
....“การประปากรุงเทพ” ได้กระทำพิธีเปิดขึ้นเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๗ อันมีเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นผู้กล่าวรายงานกิจการประปา และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมี พระราชดำรัสตอบดังนี้....
“...เราได้ฟังข้อความในรายงานที่มีมาแล้ว มีความยินดีแลรู้สึกว่า การใหญ่ของการประปาอันเป็นของค้างมาครั้งรัชกาลแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้มาทำสำเร็จไปโดยเร็วในรัชสมัยของเราเช่นนี้ เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศของเรา ในการที่ได้มีของสำคัญขึ้นสำหรับพระนครแลเป็นการสมควรอยู่แล้วที่จะต้องแสดงให้ปรากฏว่า การนี้สมเด็จพระบรมชนกนารถของเราเป็นผู้ทรงเริ่มดำริห์กับสมควรนับว่าเป็นอนุสาวรีย์ของพระองค์ได้ส่วนหนึ่งเหมือนกัน
....การที่เจ้าพระยายมราช และข้าราชการและเจ้าหน้าที่ซึ่งได้พร้อมใจกัน ทำการนี้สำเร็จประกอบด้วยอุสาหะวิริยภาพอย่างยิ่งดังนี้ ก็เพราะมีกตัญญูกตเวทีธรรมเป็นเครื่องหนุนใจ เพื่อให้ทำการให้สมควรตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ผู้ทรงเริ่มทรงดำริห์ และให้สมประสงค์ของเราผู้เป็นทายาทรับราชภาระอันนั้นสืบต่อมา ควรได้ความชมเชยแลได้รับความขอบใจของเราเป็นอย่างยิ่ง
....อนึ่ง ท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยเราทำการอันนี้ให้สำเร็จไปได้ ควรรู้สึกปลื้มใจว่าได้ทำการอันเป็นประโยชน์แลกุศลอย่างยิ่ง เพราะน้ำซึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ใคร ๆ ย่อมรู้อยู่แล้วทั้งในโบราณแลบัดนี้ว่าเป็นของจำเป็นเพื่อประโยชน์ แลเพื่อความสุขสำหรับป้องกันโรค อันตรายของมนุษย์ น้ำใสสะอาดย่อมเป็นเครื่องบำบัดโรคได้ดีกว่าโอสถหรือเภสัชทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสิ่งใรที่นับว่าเป็นมลทินโทษ ท่านโบราณาจารย์จึงต้องสอนให้ใช้น้ำเป็นเครื่องชำระล้าง ในที่สุดแม้จะกล่าวเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นของชั่วร้าย เพื่อจะบำราบสิ่งชั่วร้ายนั้นก็จะบำราบให้พ่ายแพ้โดยอาศัยอำนาจน้ำ เป็นต้นว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระมุนินทรชินสีห์ประทับอยู่ที่ภายใต้โพธิบัลลังก์ พระยามารซึ่งสมมุติว่าเป็นผู้คิดร้ายต่อพระองค์ได้หวังผจญต่อพระบรมศาสดา โดยเดชะอำนาจพระบารมีของพระพุทธองค์บันดาลให้นางพระธรณีมาสยายผมบีบน้ำบำราบมารได้ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งน้ำ อันไหลมาจากผมของนางด้วยอำนาจสัจจะวาจาภาษิตนี้ ขอการประปาจงเป็นผลสำเร็จสมความพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกนารถของเรา แลสมความประสงค์ของเรา แลสมความประสงค์ของท่านทั้งหลายบรรดาที่ช่วยทำการอันนี้สำเร็จ ขอน้ำใสอันจะหลั่งไหลจากประปานี้ จงเป็นเครื่องประหารสรรพโรคร้ายที่จะเบียดเบียนให้ร้ายแก่ประชาชนผู้เป็นผศกนิกรของเรา ขอน้ำอันนี้ที่ได้รับพรแล้วโดยพระสงฆ์ได้สวดมนต์แลโดยเราได้ตั้งใจให้พร จงบันดาลให้เป็นน้ำมนต์ทำให้ประชาชนมีความสุขสวัสดิ์ผ่องแผ้ว เจริญถ้วนทั่วทุกตัวคนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

....ประชาชนในกรุงเทพฯ จึงเริ่มมีน้ำประปาใช้เป็นครั้งแรกนับแต่นี้ไป  เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงได้มีการขุดเจาะบ่อบาดาลขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี และต่อมาได้ทำการขุดเจาะเพิ่มเติมในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดนนทบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ และ พ.ศ.๒๕๐๓ ตามลำดับ ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จ้างบริษัทเดอเกรมองค์แห่งประเทศฝรั่งเศสมาก่อสร้างปรับปรุงโรงกรองน้ำสามเสน และโรงกรองน้ำธนบุรีให้มีกำลังผลิตน้ำสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการของประชาชน ซึ่งงานก่อสร้างปรับปรุงได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๐๖

...ส่วน การประปาส่วนภูมิภาคนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้ง "กรมสุขาภิบาล" เพื่อบริหารจัดการน้ำมาใช้ในพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ รัฐบาลในขณะนั้นได้อนุมัติให้ กรมโยธาธิการ ดำเนินการก่อสร้างการประปาขึ้น ณ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ โคกกระเทียม ใช้ชื่อว่า "การประปาพิบูลสงคราม" เพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำให้ประชาชน และได้ขยายไปยังต่างจังหวัดในปี พ.ศ.๒๔๙๗ รวม ๖ แห่ง คือ ขอนแก่น ราชบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และ ภูเก็ต

...การผลิตและจำหน่ายน้ำสำหรับประชาชน เดิมแบ่งออกเป็น ๒ หน่วยงาน คือ

• กองประปาภูมิภาค กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบระบบประปาในเขตชุมชนที่มีจำนวนประชากรตั้งแต่ ๕,๐๐๐ คน ขึ้นไป
• กองประปาชนบท กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบระบบประปาในหมู่บ้าน
....ต่อมาได้มีการศึกษาวิธีการจัดรูปแบบการบริหารจัดการประปาภูมิภาค โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมีการตราพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ.๒๕๒๒ มีผลให้กิจการประปาของกรมโยธาธิการ และกรมอนามัย ถูกโอนมารวมกันเป็น "การประปาส่วนภูมิภาค" ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นต้นมา....

....ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ ช่วงนี้อาจหายหน้านานหน่อย คิดหัวข้อไม่ออกสักที 555 สวัสดีครับผม....

 
บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: