หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: บทความพิเศษ.....พระราชพิธีบรมราชาภิเษก(๑)  (อ่าน 1239 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 07 มีนาคม 2562, 09:11:42 PM »

Permalink: บทความพิเศษ.....พระราชพิธีบรมราชาภิเษก(๑)
....วันนี้ผมก็จะมาเริ่มบทความพิเศษ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพระราชพิธีสำคัญที่กำลังจะมาถึงอีก ๒ เดือนข้างหน้านีเนะครับผม...โดยวันนี้เรามารู้จักกับพระราชพิธีกันก่อนนะครับ....

....พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ไทย ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษกและการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎโดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้แบ่งออกเป็น ๒ พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

....พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของศาสนาฮินดู และ ศาสนาพุทธ ซึ่งต้องย้อนกลับไปหลายศตวรรษโดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก,พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก,พระราชพิธีถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ และ การสถาปนาพระราชินีและพระราชวงศ์(ซึ่งจะกล่าวอีกที ครั้งละพระราชพิธีครับผม) ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ใน พระบรมมหาราชวัง

....ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้วพระมหากษัตริย์ที่ผ่านการสวมมงกุฎแล้วจะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

• ประวัติ   
....ตามโบราณราชประเพณีของไทย พระนามของผู้ได้รับการเลือกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ยังคงใช้ขานพระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า“ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” ต่อท้ายพระนาม เครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตร มีเพียง ๗ ชั้น มิใช่ ๙ ชั้น คำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่าพระบรมราชโองการ จนกว่าจะได้ทรงรับการบรมราชาภิเษก จึงถวายพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี ว่ามีขั้นตอนอย่างใด

....จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ครั้งหนึ่งก่อนแล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน ตั้งขึ้นเป็นตำรา แล้วทรงทำบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของรัชกาลต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาล ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ให้เหมาะแก่กาลสมัย ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์และโบราณราชประเพณี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูล ของพราหมณ์และราชบัณฑิต ขณะถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระราชพิธีนี้ มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนบทมนต์ต่างๆของพราหมณ์นั้น นักวิชาการภาษาตะวันออกโบราณ วินิจฉัยว่า เป็นภาษาทมิฬโบราณ
....ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ นั้น สำนักพระราชวังได้ยึดถือการบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เป็นหลัก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย

• การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขอไล่เลียงดังนี้....
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕– ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ประกอบพระราชพิธีเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕(วันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ บูรพาษาฒ ปีขาลจัตวาศก จ.ศ.๑๑๔๔) ทรงกระทำการปราบดาภิเษกครั้งแรก โดยเป็นพระราชพิธีอย่างสังเขป และในปีพ.ศ. ๒๓๒๘ (ปีมะเส็ง สัปตศก จ.ศ.๑๑๔๗) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่สองอย่างครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี มีการรวบรวมตำราแบบแผนการประกอบพระราชพิธีจากการประชุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต และมีการสร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่สูญหายจากภัยสงคราม
- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ – ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗) ทรงประกอบพระราชพิธีวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒(วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็งเอกศก จ.ศ.๑๑๗๑) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๑  กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗ – ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔) ทรงประกอบพระราชพิธีวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๖๗(วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ฉศก จ.ศ.๑๑๘๖) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔ – ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑) ทรงประกอบพระราชพิธีวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ (วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุนตรีศก จ.ศ.๑๒๑๓) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี โดยมีการเพิ่มเติมการใช้ภาษามคธในบางขั้นตอนของพระราชพิธี, โปรดเกล้าฯ ให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้เป็นครั้งแรก
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓) ทรงประกอบพระราชพิธีวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑(วันพุธ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ.๑๒๓๐) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ และในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๖   ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง เนื่องจากทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์พ้นจากหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ – ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ ทรงประกอบพระราชพิธีวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เฉพาะพิธีการสำคัญตามโบราณราชประเพณี งดการรื่นเริงต่างๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งที่สอง ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔   ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองอย่างครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี เพิ่มเติมการรื่นเริงต่างๆ และมีการเชิญพระราชอาคันตุกะจากนานาประเทศเข้าร่วมพระราชพิธี ในหมายกำหนดการเรียกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ว่า"พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช"
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ – ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ทรงประกอบพระราชพิธีวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ (ตามปฏิทินสากล ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ ตามปฏิทินแบบไทยและราชกิจจานุเบกษา) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี,โปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และมีการบันทึกภาพยนตร์ข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้เป็นหลักฐานครั้งแรกของประเทศสยาม
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ - ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙) ไม่มีการประกอบพระราชพิธีในรัชกาลนี้....   
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ – ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙) ทรงประกอบพระราชพิธีวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี โดยมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำและลดขั้นตอนบางอย่างในพิธีการให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ,โปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ - ปัจจุบัน) ซึ่งจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๔ - ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ นี้ครับผม....

....ครั้งต่อไป จะมากล่าวถึงขั้นตอนพระราชพิธีต่างๆครับผม....สวัสดีครับ     
บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: