หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 7.1 ภาพยนตร์ในไทย....  (อ่าน 1301 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2561, 09:12:05 PM »

Permalink: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 7.1 ภาพยนตร์ในไทย....


....เวลาเราเบื่อๆเซ็งๆ สิ่งหนึ่งที่เราเลือกทำนั่นคือ การดูหนังหรือภาพยนตร์ดีๆสักเรื่อง แต่ภาพยนตร์ที่เรารับชมกันทุกวันนี้ มีประวัติมาอย่างไรละ??? วันนี้มาล้อมวงรับชมรับฟังกันครับ....
 
....วิวัฒนาการของภาพยนตร์ในไทย สามารถแบ่งออกเป็น ๖ ยุค ได้ดังนี้(วันนี้ขอเอามาสาม ยุคก่อนนะครับ)

ยุคที่ ๑ ยุคเริ่มต้น

....ชาวสยามได้รู้จักและชื่นชม"ซีเนมาโตกราฟ" ประดิษฐกรรมภาพยนตร์ของตระกูลลูมิแอร์แห่งฝรั่งเศส โดยนักฉายภาพยนตร์เร่คนหนึ่ง นาม เอส. จี. มาร์คอฟสกี เข้ามาจัดฉายเก็บค่าดูจากสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๐ ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ กรุงเทพ ชาวสยามเรียกมหรสพนี้ว่า "หนังฝรั่ง" เป็นมหรสพฉายแสงเล่นเงาบนจอผ้าขาว ทำนองเดียวกับหนังใหญ่ หนังตะลุง มหรสพดั้งเดิมที่ชาวสยามรู้จักกันดีอยู่แล้ว ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ คณะฉายภาพยนตร์แบบหนังเร่ชาวญี่ปุ่นนำหนังเข้ามาฉาย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์การสู้รบระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย เมื่อเห็นว่าการฉายหนังครั้งแรกได้ผลดี จึงกลับมาฉายหนังเร่ในเมืองไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ได้สร้างโรงภาพยนตร์ชั่วคราวขึ้น จนในที่สุดตั้งโรงฉายหนังฝรั่งเป็นโรงถาวรรายแรกของสยาม เปิดฉายหนังประจำ บริเวณหลังวัดตึก ถนนเจริญกรุง ชาวสยามจึงได้ดูหนังฝรั่งกันทุกคืน จึงค่อยๆเปลี่ยนมาเรียกมหรสพชนิดนี้ว่า หนังญี่ปุ่น แทนคำว่าหนังฝรั่ง

...พ.ศ. ๒๔๖๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีกลุ่มนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันจากบริษัทยูนิเวอร์ซัล ได้มาถ่ายภาพยนตร์ในประเทศไทยเรื่อง "นางสาวสุวรรณ" โดยได้รับความช่วยเหลือ จากกรมมหรสพหลวงและกรมรถไฟหลวง โดยใช้นักแสดงไทยทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเมืองไทย โดยมีนายเฮนรี่ แมคเรย์ กำกับการแสดง นายเดล คลองสัน ถ่ายภาพ นำแสดงโดย ขุนรามภรตศาสตร์,นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร และหลวงภรตกรรมโกศล ซึ่งถือได้ว่าทั้งสามได้เล่นเป็นพระเอก นางเอกและผู้ร้าย คนแรกของเมืองไทย ภาพยนตร์เรื่อง "นางสาวสุวรรณ" ออกฉายในกรุงสยามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่ามกลางความตื่นเต้นของประชาชน

....ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ คณะสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูดอีกคณะ เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "ช้าง" โดยใช้ผู้แสดงเป็นชาวสยามทั้งหมดเช่นกัน ในเวลาที่ภาพยนตร์เรื่อง ช้าง ออกฉายในประเทศสยามนั้น คนไทยได้สร้างหนังบันเทิงและนำออกฉายแล้วหลายเรื่อง ผู้คนจึงไม่ค่อยตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่อง ช้าง กันมากเท่าที่ควร

ยุคที่ ๒ ความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุคเบิก (๒๔๗๐-๒๔๘๙)

....บริษัทกรุงเทพภาพยนตร์สร้างหนังเรื่องแรกเสร็จ ให้ชื่อเรื่องว่า "โชคสองชั้น" เนื้อเรื่องแต่งโดย หลวงบุณยมานพพานิช (อรุณ บุณยมานพ) กำกับการแสดงโดย หลวงอนุรักษ์รถการ (เปล่ง สุขวิริยะ) ถ่ายภาพโดยหลวงกลการเจนจิต ผู้แสดงเป็นพระเอกคือ มานพ ประภารักษ์ ซึ่งคัดมาจากผู้สมัครทางหน้าหนังสือพิมพ์,ม.ล. สุดจิตร์ อิศรางกูร นางเอกละครร้องและละครรำมีชื่ออยู่ในขณะนั้น,หลวงภรตกรรมโกศล ตัวโกงจากเรื่อง นางสาวสุวรรณ แสดงเป็นผู้ร้าย  ภาพยนตร์ออกฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีมหาชนไปดูกันมากที่สุด ได้การยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย อีกเดือนเศษต่อมา บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย จึงสร้างหนังของตนเรื่อง "ไม่คิดเลย" สำเร็จออกฉายในเดือนกันยายนปีนั้น

....ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องต่างเป็นภาพยนตร์เงียบที่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นทั้งสองบริษัทได้พยายามสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อๆมา และมีผู้สร้างภาพยนตร์รายใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา ปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นปีที่เริ่มยุคหนังเสียงที่เรียกว่า ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม(sound on film)หรือ ภาพยนตร์พูดได้(talkie) ของฮอลลีวู้ด ปี พ.ศ.๒๔๗๑ ก็เริ่มมีผู้นำอุปกรณ์และภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเข้ามาฉายในกรุงเทพ
....ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก โดยพี่น้องวสุวัต ประเดิมถ่ายทำได้แก่ภาพยนตร์ข่าว สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จนิวัตพระนคร เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายสู่สาธารณะที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ได้รับความชื่นชม ต่อมาพี่น้องวสุวัต ซึ่งขณะนั้นเรียกชื่อกิจการสร้างภาพยนตร์ของพวกตนเป็นทางการว่า "บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง"
....ภาพยนตร์เสียงเรื่อง "หลงทาง" ถือเป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก ฉายในช่วงวันขึ้นปีใหม่ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งพิเศษกว่าทุกปีเพราะเป็นปีที่รัฐบาลจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศจะเดินทางเข้ามาในเมืองหลวงมากกว่าปรกติ ภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง จึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ยุคนี้จัดว่าเป็นยุคทองยุคหนึ่งของวงการหนังไทย เพราะบริษัทเสียงศรีกรุงสร้างหนังตามที่เห็นว่าเหมาะสม และยังได้พัฒนาการสร้างหนังอยู่ตลอดเวลา หนังของบริษัทนี้ได้รับการต้อนรับในทุกแห่ง และยังเป็นที่กำเนิดของดาราคู่แรกของวงการภาพยนตร์ไทย คือ จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฎ และยังเกิดบริษัทคู่แข่งอย่าง "บริษัทไทยฟิล์ม"ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ,พจน์ สารสิน ,หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ,ประสาท สุขุม และ ชาญ บุนนาค
....ภาพยนตร์เงียบค่อยๆเสื่อมความนิยมลงไปและถูกแทนที่โดยภาพยนตร์เสียง ภาพยนตร์นำเข้าหลายเรื่องไม่มีบรรยายไทยจึงจำเป็นต้องพากย์เสียงบรรยาย นักพากย์ที่มีชื่อเสียง คือ ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) ต่อมา ทิดเขียวก็ได้ผันตัวเองไปเป็นนักพากย์หนังพูดด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทิดเขียวทดลองพากย์เป็นภาพยนตร์อินเดีย เรื่อง "อาบูหะซัน" ด้วยความคึกคักของกิจการภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์ไทย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยบางรายซึ่งไม่มีทุนรอนมากนักเริ่มมองเห็นทางที่จะสร้างภาพยนตร์ให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงทุนมากมายวิธีดังกล่าวคือ ลงมือถ่ายทำโดยไม่บันทึกเสียงเช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบ หลังจากนั้น จึงเชิญนักพากย์ฝีมือดีมาบรรเลงเพลงพากย์ในภายหลัง ผู้ที่เริ่มบุกเบิกวิธีดังกล่าว คือ บริษัทสร้างภาพยนตร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัทบูรพาภาพยนตร์ และบริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ ซึ่งได้ทดลองสร้างหนังเรื่อง "อำนาจความรัก"และ"สาวเครือฟ้า" ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง จึงทำให้เกิดผู้สร้างรายเล็กรายใหญ่ตามมาหลายราย
....ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๓ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรป ได้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ขนาด ๓๕ มม. ผู้สร้างหนังในประเทศไทยจึงหันมาใช้ฟิล์มขนาด ๑๖ มม. แทนฟิล์มขนาด ๓๕ มม. กิจการหนังพากย์สามารถยืนหยัดจนผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ด้วยการหันมาใช้ฟิล์ม ๑๖ มม. ซึ่งยังพอหาได้จากท้องตลาด ดังนั้น ตลอดเวลาที่เกิดสงครามจึงมีหนังพากย์ ๑๖ มม. ออกฉายโดยตลอดแม้จะไม่ต่อเนื่องก็ตาม
....ในช่วงสงคราม ผู้สร้างหนังหลายรายสามารถสร้างหนังออกมาได้เรื่อย ๆ การสร้างหนังไปหยุดชะงักลงอย่างถาวรก็ในช่วงปลาย สงคราม ทั้งนี้เพราะในช่วงเวลานั้น กรุงเทพถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้ไฟฟ้าดับอยู่เสมอ โรงหนังหลายโรงจึงต้องปิดกิจการชั่วคราว

ยุคที่ ๓ ภาพยนตร์ไทยในยุค ๑๖ มม. (๒๔๙๐ - ๒๕๑๕)
....ผู้สร้างหนังไทยหันมานิยมสร้างด้วยฟิล์ม ๑๖ มม.แทน ๓๕ มม. ที่เคยสร้าง ภาพยนตร์ ๑๖ มม.เรื่อง "สุภาพบุรุษเสือไทย" ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย หนังเรื่องนี้นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์,ละออ ทิพยวงศ์,สอางค์ ทิพยทัศน์,ประชุม จุลละภมร,และเกื้อกูล อารีมิตร ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำชมเชย การสร้างภาพยนตร์ไทยในระบบ ๑๖ มม.ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้ว่าภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มม.จะไม่จัดว่าได้มาตรฐาน แต่การถ่ายทำสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถล้างฟิล์มแล้วนำออกฉายได้เลยแล้ว อีกทั้งต้นทุนต่ำกว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบ ๓๕ มม. และสามารถกอบโกยกำไรได้อย่างงดงาม จึงเป็นแรงจูงใจให้มีนักสร้างภาพยนตร์มือสมัครเล่น กระโดดเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้างกันมาก โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๑๕ ช่วงเวลา ๑๕ ปีเต็มอันเป็นช่วงรุ่งเรือง ของภาพยนตร์ไทยในระบบ ๑๖ มม. นี้ แต่ก็เป็นในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ และในบางครั้งภาพยนตร์เหล่านี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกันจนดูเป็นสูตรสำเร็จที่เน้นความเพลิดเพลินเพื่อนำคนดูออกจากโลกแห่งความจริงเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่จะต้องมีครบรสทั้งตลก ชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา บู๊ล้างผลาญรวมไปถึงโป๊บ้างในบางฉาก เรื่องราวมักเป็นแบบสุขนาฏกรรมและจบลงด้วยธรรมะชนะอธรรมเสมอ ปัจจัยสำคัญของภาพยนตร์ยุคนี้ คือ ดาราในยุคนั้น "มิตร ชัยบัญชา" ได้เล่นหนังเป็นพระเอกมาแล้วถึง ๓๐๐ เรื่อง  ส่วนฝ่ายหญิงก็จะมีดาราหญิงอยู่กลุ่มหนึ่งผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอันดับดารายอดนิยม นับตั้งแต่วิไลวรรณ วัฒนพานิช, อมรา อัศวนนท์ และ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ทั้งนี้ ก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๒ คู่พระ-คู่นางที่ผูกขาดวงการภาพยนตร์ไทยก็ยังไม่ปรากฏ มีเพียงกลุ่มนักแสดงชั้นนำที่คนดูให้การยอมรับหรือชื่นชมเท่านั้น จนมาในปี พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๑๓ พระเอก-นางเอก ของวงการภาพยนตร์ไทยจึงได้ถูกผูกขาดโดย 'มิตร-เพชรา'
....ระบบการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ยุคนั้น ตัวแสดงพูดไปตามบทโดยไม่มีการบันทึกเสียง นักพากย์จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เหล่านั้นสามารถสื่อสารกับคนดูได้ ก็เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงให้ผู้ชมมาชมภาพยนตร์ ในช่วงเวลานั้นนักพากย์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ได้แก่ รุจิรา-มารศรี พันคำ (พร้อมสิน สีบุญเรื่อง),เสน่ห์ โกมารชุน,จุรี โอศิริ,สีเทา,สมพงษ์ วงศ์รักไทย ฯลฯ

....พรุ่งนี้มาต่ออีกสามยุคครับผม....สวัสดีครับ


บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: