หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 4.....โทรทัศน์  (อ่าน 1754 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 28 ตุลาคม 2561, 10:12:37 PM »

Permalink: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 4.....โทรทัศน์



....หลังจากคราวที่แล้ว ได้เล่าเรื่องประวัติวิทยุในไทยแล้ว....วันนี้เราจะหยิบยกอีกสิ่งที่คู่บ้านคู่เมืองเรา นั่นคือ"โทรทัศน์"นั่นเองครับ....เอาละ เราไปติดตามประวัติทีวีในไทยแต่ละยุคดีกว่าครับ....

๑.ทศวรรษ ๒๔๙๐ ยุคบุกเบิกโทรทัศน์ไทย (๒๔๙๑-๒๔๙๙)

....ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้อ่านบทความของสรรพศิริ วิริยศิริ เจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศของกรมโฆษณาการ เกี่ยวกับปรากฏการณ์การประดิษฐ์โทรทัศน์ในยุโรปและ อเมริกา นั่นจึงทำให้จอมพล ป. มีความคิดที่อยากจะตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นในประเทศไทยบ้าง เพื่อใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข และเป็นเครื่องมือตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามและเสริมอิทธิพลทางการเมืองให้กับตัวเอง ซึ่งในตอนแรกจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่เนื่องจากประเทศยังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่ จนมีคนคัดค้านเรื่องนี้พอสมควร สุดท้ายจึงมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นภายใต้ชื่อ "บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด" ด้วยทุนจดทะเบียน ๒๐ ล้านบาท และมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานและฝึกอบรมด้านโทรทัศน์ที่บริษัท อาร์ซีเอ ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการประกวดราคาเครื่องรับส่งโทรทัศน์และการเตรียมงานด้านเทคนิคโทรทัศน์ขึ้น และในช่วงทศวรรษนี้เอง กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ได้ทรงบัญญัติศัพท์ "วิทยุโทรทัศน์"ขึ้นใช้
....ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำวิทยุ โทรทัศน์เข้ามาเป็นครั้งแรกคือ นายประสิทธิ์ ทวีสิน ประธานกรรมการบริษัทวิเชียรวิทยุและโทรภาพ โดยนำเครื่องส่ง ๑ เครื่อง เครื่องรับ ๔ เครื่องหนักกว่า ๒ ตัน ทำการทดลองให้คณะรัฐมนตรีชมเป็นครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล และต่อมาเมื่อ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๕ เปิดให้ประชาชนที่ศาลาเฉลิมกรุง ได้มีผู้ชมอย่างล้นหลามด้วยเป็นของแปลกใหม่
....วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๘ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำพิธีเปิด"สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม" ขึ้น เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีคุณจำนง รังสิกุล เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก และออกอากาศในระบบขาวดำ ซึ่งรายการในระยะแรกนั้นเป็นรายการเพื่อความบันเทิง เช่น นำลิเกมาเล่นสดออกทีวี มีรายการสนทนา รายการตอบคำถามชิงรางวัล และ ละคร

๒.โทรทัศน์กับเครื่องมือทางการเมือง (พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๙)

....โทรทัศน์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทหารและการเมือง ระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอม พลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ยึดอำนาจได้จากการปฏิวัติและได้ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งที่ ๒ ขึ้นในประเทศไทย โดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานทหารในการจัดตั้ง"สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗" (ระบบขาวดำ) ขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างทหารและประชาชน และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๑ (ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ขาวดำ ได้เปลี่ยนมาออกอากาศในระบบสีภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๕)
....ดังนั้น ในยุคนี้ มีโทรทัศน์ในไทยแล้ว ๒ ช่อง คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม และ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ (ระบบขาวดำ)

๓.ยุคเติบโตและการก้าวสู่โทรทัศน์ระบบสี (พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๙)

...วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๐ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ เริ่มแพร่ภาพออกอากาศในระบบสีเป็นสถานีแรกในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินการของ"บริษัทกรุงเทพฯและวิทยุ จำกัด" ซึ่งได้รับสัมปทานจากกองทัพบก โดยออกอากาศการถ่ายทอดการประกวดนางสาวไทยเป็นรายการแรก
....ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในระบบสี ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ ๒ ของประเทศไทยที่ออกอากาศในระบบสี ภายใต้การดำเนินการของ"บริษัทบางกอก เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด" ในระหว่างนั้น ช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๑ เมื่อมีโทรทัศน์แล้ว ๓ ช่อง จึงมีความคิดก่อตั้ง"ทีวีพูล" หรือ "โทรทัศน์รวมกันเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย"ขึ้น เพื่อให้โทรทัศน์แต่ละช่องได้ร่วมถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญด้วยกัน โดยใช้ทรัพยากรเดียวกัน จึงมีการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๑ มีพลตรีประสิทธิ์ ชื่นบุญ เป็นประธานคนแรก
....เมื่อมีโทรทัศน์สีเกิดขึ้นสองช่อง ทำให้โทรทัศน์ระบบขาวดำต้องปรับตัวเองเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาด ในปี ๒๕๑๗ ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านเทคโนโลยีโทรทัศน์ของประเทศไทย เพราะสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศในระบบขาวดำ ๒ ช่องที่มีอยู่เดิมได้เปลี่ยนระบบออกอากาศมาเป็นระบบสี คือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ (ระบบขาวดำ) เปลี่ยนมาเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๙ (ระบบสี) และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ (ระบบขาวดำ) เปลี่ยนมาเป็น สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๕(ระบบสี)

๔.เกิดการควบคุมสื่อทีวีขึ้น
....ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ช่อง ๙ เป็นช่องเดียวที่รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเกิดผลกระทบต่อรัฐบาล และรัฐบาลรู้ถึงอิทธิพลของทีวีในการสื่อสาร ดังนั้น จากเหตุการณ์นั้นทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อช่อง ๙ ดังต่อไปนี้...
- กรรมการผู้จัดการและทีมข่าวถูกปลด
- รัฐบาลควบคุมสี่อ กำหนดเนื้อหารายการที่เสริมความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- ให้ออกอากาศข่าวภาคค่ำตอน ๒๐.๐๐ น.
- ให้บันทึกเทปรายการที่เกี่ยวกับการเมืองล่วงหน้า
- ยุบช่อง ๙ เปลี่ยนเป็น สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อสมท. ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ


๕.การพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๙)

....เมื่อเกิดโทรทัศน์สีแล้ว ทุกช่องก็ต่างต้องแข่งขันกันอย่างเต็มที่ โดยสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแข่งกันปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพระบบสีของตัวเอง แต่จากเหตุการณ์ที่เริ่มมีการควบคุมสื่อในการนำเสนอข่าวสารมากขึ้น และการแสดงความคิดทางการเมืองก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มุ่งเน้นนำเสนอความบันเทิง และมุ่งผลิตรายการที่จะทำให้ได้ผลกำไรทางธุรกิจ ในยุคสมัยนี้มีการนำเข้าละครจีนที่เป็นหนังชุดหลายเรื่องจนได้รับความนิยมและสร้างเรตติ้งให้สถานีโทรทัศน์อย่างมาก ด้านบริษัทไทยโทรทัศน์นั้นถูกยุบด้วยเหตุผลว่าขาดทุน และก่อตั้งขึ้นเป็น"องค์การสื่อสารมวลชน"มาบริหารงานสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ แทน

๖.ยุคทองของโทรทัศน์ไทย (พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๙)

....ทศวรรษนี้ถือเป็นยุคทองของกิจการโทรทัศน์ไทยเนื่องจากเป็นทศวรรษที่ประเทศไทยมีครบทั้งโทรทัศน์ประเภทรับชมได้โดยไม่เสียค่าสมาชิก หรือ ฟรีทีวี (Free TV) และ โทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก (Subscription TV) นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยเติบโตเป็นอย่างมาก ในทศวรรษนี้มีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้น ดังนี้....
๑) วันที่ ๑พฤศจิกายน ๒๕๓๑ มีการทดลองออกอากาศสถานีโทรทัศน์สีแห่งประเทศไทยช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ขึ้น ซึ่งเป็นสถานีที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการสู่ประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึง การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนเป็นสถานีโทรทัศน์แม่ข่ายให้แก่ สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ในเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ (ปัจจุบันก็คือ ส.ท.ท ๑๑ หรือ NBT นั่นเอง)
 
๒) นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกขึ้น ๓ รายคือ
- เดือนตุลาคม ๒๕๓๒ สถานีโทรทัศน์ ไอบีซี เคเบิ้ล ทีวี เริ่มดำเนินกิจการธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกรายแรกของประเทศ ภายใต้การดำเนินงานโดย บริษัท อินเตอร์เนชันแนล บอร์ดคาสติ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด
 
- ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ สถานีโทรทัศน์ ไทยสกาย เคเบิ้ล ทีวี เริ่มดำเนินธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก ภายใต้การดำเนินการของบริษัทสยามบอร์ดคาสติ้ง จำกัด (ต่อมาสถานีโทรทัศน์ ไทยสกาย เคเบิ้ล ทีวี ได้ยุติการดำเนินธุรกิจลงในปี ๒๕๔๐ เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ)
- พ.ศ. ๒๕๓๗ บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค จำกัด เริ่มดำเนินการธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกในนามของ ยูทีวี
๓) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวี ภายใต้ปรัชญาทีวีเสรี โดยมีบริษัทสยามเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และดำเนินการบริหารสถานี ต่อมาสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีการเปลี่ยนสมาชิกผู้ถือหุ้น และการซื้อขายกิจการผ่านตลาดหลักทรัพย์ จนภายหลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อ เป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟทีไอทีวี และเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลาต่อมาสถานีโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟทีไอทีวีต้องยุติการออกอากาศไป โดยช่องสัญญาณดังกล่าวได้นำมาใช้ส่งสัญญาณสถานีโทรทัศน์สาธารณะช่องทีพีบีเอสแทน
....นอกจากนี้ ในยุคนี้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโต สื่อมีรายได้มากขึ้นจากเม็ดเงินของโฆษณาจากภาคธุรกิจ ทำให้สื่อโทรทัศน์มีเงินลงทุนในการผลิตรายการดีๆ และมีคุณภาพมากขึ้น ในช่วงนี้ มีการผลิตรายการต้นทุนสูง เช่น ละครที่มีการลงทุนมาก ไปถ่ายทำต่างประเทศ รายการต้นทุนสูง ถ่ายทำนอกสถานที่ หรือแม้แต่ข่าวภาคภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม รายการโทรทัศน์ก็ยังมุ่งเน้น “ความบันเทิง” อยู่นั่นเอง ในประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รากฐานของรสนิยมในการชมโทรทัศน์ที่ “ต้องการความบันเทิง” มากกว่าอย่างอื่นนั้นเป็นเพราะตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการมีโทรทัศน์ในไทย รายการก็เน้นความบันเทิงมาตั้งแต่แรก โดยมีปัจจัยทั้ง รายการบันเทิงผลิตได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง ประกอบกับ การควบคุมเรื่องการเมืองและการนำเสนอข่าวสารทำให้โทรทัศน์ไม่อยากเจ็บตัว อีกทั้งรายการบันเทิงสามารถสร้างกำไรทางธุรกิจให้สถานีโทรทัศน์ได้มาก ตามแนวคิด "โทรทัศน์เชิงพาณิชย์" ที่ประเทศไทยคงได้แนวคิดมาจากการไปฝึกและดูงานจากบริษัท RCA ของสหรัฐ ซึ่งมีระบบโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ทำให้ การชมโทรทัศน์ในไทยมุ่งเน้นในเรื่อง “ความบันเทิง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

๗. การแข่งขันทางธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก

...สภาพเศรษฐกิจในทศวรรษ ๒๕๔๐ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย โดยสถานีโทรทัศน์ต่างต้องปรับตัวและการบริหารสถานีให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเขตเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่แตก เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ในทศวรรษนี้ มีดังนี้
- วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ได้จัดตั้งโครงการ "Thai TV Global Network"ขึ้นเพื่อเผยแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ไทยผ่านดาวเทียมไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
- วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ยูทีวี และ ไอบีซี ตัดสินใจรวมกิจการกันเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระทางการเงินที่เกิดจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น บริษัท ยูไนเต็ด บอร์ดคาสติ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และออกอากาศโทรทัศน์ประเภทบอกรับเป็นสมาชิกภายใต้ชื่อ "ยูบีซี" (ต่อมาในปี 2549 ยูบีซีได้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น ทรูวิชั่นส์)
- เดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๙ อสมท. ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี"

....ก็จบลงแล้วครับกับประวัติทีวีไทย ก่อนก้าวสู่ยุคทีวีดิจิตอลแบบทุกวันนี้ครับ...คราวหน้าจะเป็นประวัติอะไร รอติดตามกันนะครับ สวัสดีครับ....





บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: