หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ....วันขึ้นปีใหม่  (อ่าน 1277 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 24 ธันวาคม 2561, 09:30:26 PM »

Permalink: ประวัติ....วันขึ้นปีใหม่
....อีกไม่กี่วันข้างหน้า เราก็จะก้าวข้ามปี ๒๕๖๑ กันแล้ว....
หลายสิ่งหลายเรื่องได้เกิดขึ้นมากมาย ดีบ้างร้ายบ้าง ก็ลองๆตรองดูแล้วนำไปปรับตัวในปี ๒๕๖๒ กันนะครับ....
สำหรับวันนี้กระผมก็จะขอเอาประวัติวันขึ้นปีใหม่คร่าวๆมาเสนอครับผม....

...อันวันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม
ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่างๆของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ
เมื่อครบ ๑๒ เดือนก็กำหนดว่าเป็น ๑ ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล
จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก ๑ เดือน เป็น ๑๓ เดือนในทุก ๔ ปี

....ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข
อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน
ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุงให้ปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน ในทุก ๆ ๔ ปี
ให้เติมเดือนที่มี ๒๘ วัน เพิ่มขึ้นอีก ๑ วัน เป็น ๒๙ วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน
ซึ่งเมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี ๒๙ วันในทุกๆ๔ ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก
คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน
และในวันที่ ๒๑ มีนาคมตามปีปฏิทินของทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน
เป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกพอดิบพอดี
วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม(Equinox in March)

....แต่ในปี พ.ศ.๒๑๒๕ วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ ๑๑ มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ ๒๑ มีนาคม
ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ ๑๓ จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป ๑๐ วันจากปีปฏิทิน
และให้วันหลังจากวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๑๒๕ แทนที่จะเป็นวันที่ ๕ ตุลาคม
ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ ๑๕ ตุลาคมแทน (เฉพาะในปีพ.ศ. ๒๑๒๕ นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน
 จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา.....

....ในส่วนของความเป็นมาวันขึ้นปีใหม่ไทยนั้น ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว ๔ ครั้ง
คือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม
ครั้งที่ ๒ กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน

 การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน ๒ ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน
 โดยกำหนดให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม
ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน
 ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่
ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๗ ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก....

....การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา
และในปี พ.ศ.๒๔๗๙ ก็ได้มีการจัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน
 ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์ ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ
ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม
โดยกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นวันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

....เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายนมาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ก็คือ
๑. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
๒. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
๓. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
๔. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

....กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
๑. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
๒. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
๓. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

...วันขึ้นปีใหม่ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก
 อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป
ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย....

....ในด้านการเริ่มเข้าสู่ศักราชใหม่นั้น แต่ละที่จะแตกต่างกันครับ...ประเทศแรกของโลกที่มีโอกาสนับศักราชใหม่ก่อนใคร
 คือเกาะคิริติมาตี (Kiritimati) เกาะเล็กๆในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างประเทศออสเตรเลียกับรีฐฮาวาย
สหรัฐอเมริกา เกาะนี้เป็นดินแดนของสาธารณรัฐคิริบาส หรือ สาธารณรัฐคิริบาตี (Kiribati)
อยู่ทางตะวันออกที่สุดของโลก คิริติมาตี จะฉลองปีใหม่ก่อนประเทศไทย ๗ ชั่วโมงครับ
นั่นคือตอนที่คนที่นั่นเขาฉลองปีใหม่ เรายังเป็นตอนเย็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม
....จากนั้น ก็เป็นคิวฉลองของชาวนิวซีแลนด์และชาวออสเตรเลีย เพราะนิวซีแลนด์
นับเวลาออสเตรเลียเร็วกว่าเมืองไทย ๖ ชั่วโมง ส่วนประเทศออสเตรเลีย เวลาทางการของเขาเร็วกว่าบ้านเรา ๔ ชั่วโมง
....หลังจากนั้น ก็เป็นช่วงเวลาของชาวเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีเวลาก่อนประเทศไทย ๒ ชั่วโมง คือญี่ปุ่นกับเกาหลี
....ถัดมาอีก ๑ ชั่วโมง ก็ถึงคิวเพื่อนร่วมทวีปของเรา คือจีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
ที่ทั้งหมดใช้เวลาราชการเวลาเดียวกัน พวกเขาจึงร้องเพลง"แฮปปี้นิวเยียร์"พร้อมกัน
ส่วนประเทศที่ฉลองปีใหม่ตอนเที่ยงคืนตรงพร้อมกับประเทศไทย ก็มีประเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชาและลาว

....จากนั้น ก็เป็นคิวประเทศในเอเชียใต้ โดยประเทศแรกในย่านนี้ที่ฉลองคือ บังกลาเทศ กับ ศรีลังกา
ที่เริ่บนับปีใหม่ตอนเข็มนาฬิกาบ้านเราไปอยู่ที่ ๐๑.๐๐ น. อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา ก็เป็นคนอินเดียได้เวลาเฉลิมฉลอง
ส่วนปากีสถาน ได้ร่วมฉลองพร้อมกับอุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และคีร์กิสถาน ซึ่งช้ากว่าบ้านเรา ๒ ชั่วโมง
อีกชั่วโมงต่อมา เป็นเวลาฉลองของชาวอาหรับ คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน มอริเชียส และโอมาน
....กระทั่งเมื่อเวลา ๐๓.๐๐ น.ในบ้านเรา ก็ถึงเวลาฉลองของประเทศอิหร่าน และครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น
 ก็ถึงคิวของ รัสเซีย อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ที่ฉลองพร้อมกับหลายประเทศในทวีปแอฟริกา
 อาทิ เคนยา ซูดาน เอธิโอเปีย แทนซาเนีย
....อนึ่ง รัสเซียนั้นเป็นประเทศใหญ่ ดังนั้น เมื่อคนฝั่งตะวันออกบางคนเตรียมตัวเข้านอน
ก็อาจจะมีชาวรัสเซียฝั่งตะวันตกหลายคนเพิ่งตื่นมาฉลองปีใหม่
....ส่วนอียิปต์ ตุรกี แอฟริกาใต้ และประเทศในยุโรปตะวันออกหลายประเทศ เช่น กรีซ โรมาเนีย เบลารุส เอสโตเนีย
และฟินแลนด์ พวกนี้ตามมาเพราะช้ากว่าประเทศไทย ๕ ชั่วโมง

....พอเมืองไทย ๖ โมงเช้า เวลาเที่ยงคืนของการเคาต์ดาวน์นับปีใหม่ของคนยุโรปตะวันตก คือฝรั่งเศส อิตาลี สเปน
สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และอีกชั่วโมง คือ ๗ โมงเช้าเมืองไทย คนลอนดอนก็ได้เวลาใช้ปฏิทินใหม่
....จากนั้นอีก ๒ ชั่วโมง ก็จะมีเสียงไชโยต้อนรับปีใหม่ในอีกฟากของมหาสมุทรแอตแลนติก เริ่มที่บราซิลและอุรุกวัย
ตามมาด้วยการฉลองในประเทศแถบละตินอเมริกาอื่นๆ
....พอเที่ยงตรงบ้านเรา ก็เป็นการเคาต์ดาวน์ที่หลายคนไม่ยอมพลาด นั่นคือที่ ไทมส์สแควร์ มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ
แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาใหญ่มาก เพราะ ๒ ฝั่งประเทศเวลาต่างกัน ถึง ๔ ช่วงเวลา โดยสองรัฐสุดท้าย
ที่ได้ฉลองปีใหม่ของประเทศนี้ คือรัฐอลาสกา และฮาวาย ซึ่งอยู่นอกแผ่นดินใหญ่ทั้งคู่
...เอาล่ะครับ..ฉลองกันเกือบครบแล้ว รู้ไหมว่า...ประเทศไหนฉลองปีใหม่ประเทศสุดท้าย???

....คำตอบก็คือ รัฐอิสระซามัว (Independent State of Samoa) หรือ ซามัว เป็นประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะ
ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยกว่าที่ชาวซามัวจะได้ฉลองปีใหม่ ก็เป็นเวลา ๖ โมงเย็นวันที่ ๑ มกราคมของบ้านเราไปแล้ว....
....และหากนับกับประเทศแรกคือสาธารณรัฐคิริบาส ก็จะห่างกันถึง ๒๕ ชั่วโมง
ทั้งๆที่อยู่เกาะทั้งสองอยู่ไม่ไกลจากกัน แต่เนื่องจากมีเส้นแบ่งซีกโลกตะวันตกและตะวันออกคั่นกลาง
 ทำให้ทั้งสองประเทศมีเวลาห่างกันกว่า ๑ วัน นั่นเองครับ....

....."สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าครับผม สมาชิกทุกๆท่าน"
บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: