หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 3.2....วิทยุ  (อ่าน 1324 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 1676
เหรียญรางวัล:
ผู้ดูแลบอร์ดมีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 120
ออฟไลน์ ออฟไลน์
หนุ่มภูธร...ผู้ผิดหวังจากการเป็นครู
อีเมล์
   
« เมื่อ: 26 ตุลาคม 2561, 10:13:43 PM »

Permalink: ของนี้มีที่มา ตอนที่ 3.2....วิทยุ



....วันนี้มาต่อกันกับตอนที่สอง ซึ่งแบ่งมาจากเมื่อวานครับผม....
๕.วิทยุเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์
....ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง โลกได้เข้าสู่ยุคของสงครามเย็น เป็นการต่อสู้ทางความคิดของระบบประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ซึ่งในไทย ก็เริ่มมีการแพร่อิทธิพลของคอมมิวนิสต์จากจีนเข้ามา รัฐบาลใช้วิทยุเป็นสื่อในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
...จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขยายกิจการวิทยุสองส่วนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ มีการจัดตั้ง"สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์" และ"สถานีวิทยุ วปถ. เครือข่ายกองทัพบก"
....จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ให้สิทธิรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการก่อตั้งสถานีวิทยุเอเชียเสรีขึ้นเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังแพร่ขยายอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
 
๖.ยุควิทยุกับการเรียกร้องประชาธิปไตย (พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๒๕)
  
....ในช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๖ -๒๕๒๕ เป็นช่วงที่เหตุการณ์ในประเทศไทยนั้นไม่สงบ มีการปฏิวัติรัฐประหารและการเดินขบวนเรียกร้องของนักศึกษาและประชาชนอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะเหตุการณ์ "๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ในช่วงนั้นวิทยุได้ถูกใช้เพื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในการโฆษณาชวนเชื่อและบิดเบือนข่าวสารเกี่ยวกับการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษา รัฐบาลมีการประกาศใช้"ระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๑๘"และจัดตั้งหน่วยงานชื่อ กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) เพื่อคอยตรวจสอบและดูแลการนำเสนอรายการ ในเวลานั้นรัฐบาลได้ใช้มาตรการ “ขวาพิฆาตซ้าย” โดยใช้วิทยุปลุกกระแสต่อต้านนักศึกษา โดยขวา เท่ากับ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนซ้าย เท่ากับ คอมมิวนิสต์ ปลุกระดมมวลชนจนคนให้เชื่อว่านักศึกษาจะต่อสู้กับรัฐเป็นฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ รัฐบาลบังคับให้ทุกสถานีวิทยุถ่ายทอดรายการข่าวและรายการ “เพื่อแผ่นดินไทย” เพื่อเสนอข่าวสารของรัฐบาล ช่วงนี้เป็นจุดที่วิทยุถูกใช้เป็นกระบอกเสียงทางการเมืองอย่างชัดเจนมาก
....ภายหลังรัฐบาลสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อครั้งเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ นักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีเข้าป่า และใช้สื่อวิทยุ “เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย” ตอบโต้รัฐบาล โดยส่งสัญญาณผ่านวิทยุคลื่นสั้น จากสถานีที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน รายงานข่าว วิเคราะห์วิจารณ์การเมืองและสังคม สมัยนี้มีเพลงเพื่อชีวิต เพลงวีรชนต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น บทเพลงของคาราวาน เป็นต้น

๗.ยุคขยายตัวทางธุรกิจและเสรีภาพวิทยุ (พ.ศ. ๒๕๒๕-ปัจจุบัน)

....ความคิดของวงการวิทยุในไทยเปลี่ยนไปสู่เรื่องของการค้า และ เครื่องมือในการทำกำไรทางธุรกิจ แต่จะว่าไปแล้ว การที่เมืองไทยมีโฆษณาระหว่างรายการในวิทยุนั้นก็มีมาตั้งนานแล้ว โดยเริ่มจากการขยายตัวของคลื่นวิทยุ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินเพียงรายเดียว จึงเกิดการเปิดช่องทางให้เอกชน บริษัท ห้างร้านมีการโฆษณาได้เพื่อสนับสนุนรายการ...
...ย้อนไปในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๔๘๒ การดำเนินงานเริ่มเปลี่ยนไปในแบบที่สอดแทรกโฆษณาเข้ามาในลักษณะของการให้ ความร่วมมือของบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่จัดหาแผ่นเสียงมาให้ออกอากาศ หรือจัดทำรายการมาให้สถานี แล้วทางสถานีก็ตอบแทนบริษัทห้างร้านนั้น ด้วยการโฆษณากิจการให้ในตอนหัวหรือตอนท้ายของรายการ บางครั้งก็โฆษณาให้ทั้งหัวและท้ายรายการ ต่อมามีหน่วยงานของราชการก่อตั้งสถานีวิทยุทดลองเพิ่มขึ้น การโฆษณาก็เปลี่ยนรูปมาในแบบบริษัทห้างร้าน จัดหาการแสดงมาออกอากาศเพื่อแลกเปลี่ยนกับโฆษณากิจการของตน เมื่อการโฆษณาทางวิทยุให้ผลกับบริษัทห้างร้าน ก็เกิดมีการจัดทำสปอตโฆษณาเพื่อว่าจ้างให้สถานีนำออกอากาศ ในระยะนั้นประเทศไทยยังไม่มีสถานีวิทยุที่ดำเนินงานเพื่อการค้าโดยตรง แต่ก็มีสินค้าโฆษณาออกอากาศอย่างแพร่หลายจนทำให้มีกลุ่มบุคคลคิดก่อตั้ง "สถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการค้า"ขึ้น....
....อย่างไรก็ตามในช่วยการขยายตัวทางธุรกิจของวิทยุตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมานั้น บทบาทของวิทยุเพิ่มเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ศิลปินและเพลงของค่ายเพลงต่างๆ สถานีวิทยุเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็นเท่าตัว ในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๓๕ โดยส่วนมากเป็นสถานีวิทยุ FM เพื่อตอบสนองการเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายของค่ายเพลง โดยสถานีวิทยุที่เกิดขึ้นนั้น ดำเนินกิจการโดยรัฐเก็บค่าสัมปทาน และ ค่าเช่าเวลา
….ในยุคนี้การแข่งขันระหว่างสถานีต่างๆ มีความรุนแรงมากเพื่อนำมาซึ่งกำไรจากผลประกอบการ หลังเกิดเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ"สมัยนายกอานันท์ ปันยารชุน เริ่มมีความคิดของ “การเปิดเสรีสื่อ” เพื่อเป็นช่องทางให้สื่อสามารถนำเสนอข่าวสารในยามวิกฤตได้อย่างเต็มที่ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล จึงมีการออก"ระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๕"ขึ้นมา....
....มีการประกาศใช้"พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๔๓" กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย จัดทำแผนแม่บทกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สาระสำคัญคือ ให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ภาคประชาชน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๐

๘.กำเนิดวิทยุชุมชน...เพื่อนคู่ชนบทไทย

...ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๕๑ “วิทยุชุมชน” ได้กำเนิดขึ้นและมีการผลักดันจนเกิดกฎหมายรองรับสิทธิของประชาชนในการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ นับจากนั้นจึงมีกลุ่มคนทำวิทยุชุมชนมากขึ้นๆแทบจะทุกปี โดยอาจจะมีการดึงสัญญาณข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์มาออกอากาศด้วยในช่วง ๐๗.๐๐ น. และ ๑๗.๐๐ น. ส่วนเวลาที่เหลือก็เป็นข่าวสารในชุมชนบ้าง เป็นรายการเพลงบ้าง แล้วแต่สถานี(ในช่วงหลังๆบางสถานีมีการขายสินค้าควบคู่ไปด้วย) ซึ่งวิทยุชุมชนนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้...
- ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตชัดเจน
- ไม่แสวงหาผลกำไร
- นโยบายและผลการดำเนินงานกำหนดโดยชุมชน
...โดยสถานีวิทยุชุมชนนั้นยังไม่มี กสช. มาควบคุมดูแล กรมประชาสัมพันธ์จึงต้องกำกับดูแลไปก่อน
...วิทยุชุมชนนั้นมี 2 ลักษณะ คือ

๑) ตั้งโดยประชาชน ไม่แสวงหากำไร ทำเพื่อคนในชุมชน ส่วนนี้จะสังกัด"สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ"
๒) ตั้งโดยผู้ประกอบการวิทยุท้องถิ่น เน้นเพลงและโฆษณา ซึ่งส่วนนี้จะสังกัด"กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.)"

....นอกจากนี้ ในยุคปัจจุบันนี้ยังมี "วิทยุผ่านระบบอินเตอร์เน็ต" หรือ "เว็บเรดิโอ" เกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนนั้นมีช่องทางในการรับฟังวิทยุมากขึ้น กิจการวิทยุก็มีแข่งขันกันสูงตามมาด้วยเช่นกัน....

....จบแล้วครับกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของวงการวิทยุในบ้านเรา ถึงแม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีจะมาอำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้สื่อหลายๆสื่อ รวมทั้งวิทยุต่างก็ค่อยๆล้มหายไปทีละนิดๆ แต่ตามชนบทนั้น สิ่งเหล่านี้กลับยังไม่ตายจากไปไหน ยังอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานแสนนาน....ก็ต้องขอกล่าวคำว่า สวัสดีครับผม....




บันทึกการเข้า

รวมบทประพันธ์ของ หนุ่มภูธร ณ ลุ่มน้ำป่าสัก คลิ๊กที่นี่
http://www.khonphutorn.com/index.php/topic,12043.0.html
ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจาก YouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: