-/> *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***

หน้า: 1 2 [3]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***  (อ่าน 14954 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #30 เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2559, 06:23:24 PM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๒๙  การเห็นสมณะ
(สมนานญฺ จ ทสฺสนํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** สมณะแปลว่าความสงบ
ซึ่งประสบทางสว่างที่สร้างสรรค์
สำรวมกายวาจาใจไม่ผูกพัน
กับกิเลสนับอนันต์ในโลกา

** อันการเห็นคือการที่เคารพ
เมื่อได้พบน้อมกายใจเข้าไปหา
การบำรุงการระลึกด้วยศรัทธา
ฟังวาจาแนะนำธรรมคุณ

** สมณะมีลักษณะต่อไปนี้
เป็นผู้ที่ไม่ว่าร้ายให้เคืองขุ่น
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นคอยค้ำจุน
เป็นบรรพชิตจิตการุณอบอุ่นใจ

** รู้จักประมาณในปัจจัยสี่
ทั้งยินดีความสงัดวัตรยิ่งใหญ่
หมดกิเลสทั้งปวงสิ้นห่วงใย
หนีความชั่วห่างไกลอย่างยืนยง

** เห็นสมณะควรจะนอบน้อมไหว้
นิมนต์ให้แสดงธรรมตามประสงค์
พึงถวายสิ่งของดังจำนง
อุปถัมภ์มั่นคงด้วยศรัทธา

** อานิสงส์มากมีที่พึ่งได้
เกิดจากความสงบใจควรใฝ่หา
ได้ทำบุญสร้างกุศลผลตามมา
ทั้งชาตินี้ชาติหน้าชั่วกัปกัลป์

** ได้รับการอบรมและสั่งสอน
ละนิวรณ์หลีกอบายหมายสวรรค์
ละความชั่วทำความดีชั่วชีวัน
มีความสุขนิรันดร์ไม่สั่นคลอน

เรื่อง คุณธรรมอันทำให้เป็นสมณะ

** ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระชินศรี
ทรงเกิดมีพระประสงค์จะสั่งสอน
ให้เหล่าพระภิกษุได้สังวร
จะยืนเดินนั่งนอนต้องสำรวม

** จึงตรัสว่าพวกเธอเป็นสมณะ
ต้องเป็นผู้สมถะไม่หละหลวม
ทั้งหิริโอตตัปปะอย่ากำกวม   
เธอจงสวมหัวใจใส่ด้วยธรรม

** สมณะต้องเป็นผู้มีสัจจะ
ยึดถือธรรมของสมณะจะคมขำ
เราบอกแล้วพวกเธอต้องจดจำ
เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติตัดบ่วงมาร

** อันข้อความธรรมหมวดนี้ที่จะกล่าว
คือเรื่องราวดีเด่นเป็นรากฐาน
การประพฤติปฏิบัติมาช้านาน
พวกเธอจงสืบสานให้ยืนยาว

** หนึ่ง “กายสมาจาร” การระวัง
ไม่ให้กายพลาดพลั้งต้องอื้อฉาว
จะรักษาให้บริสุทธิ์ประดุจดาว
ที่ผ่องใสสุกสกาวไร้ราคิน

** ประพฤติตนเป็นคนที่เปิดเผย
ไม่มีช่องใดเลยให้ติฉิน
สำรวมกายไร้ตำหนิเป็นอาจิณ
งามผ่องใสสูญสิ้นคำนินทา

** สอง “วจีสมาจารบริสุทธิ์”
งามผ่องผุดกล่าวขานไม่มุสา
ไม่ส่อเสียดไม่เพ้อเจ้อให้ระอา
มีปิยวาจาชั่วฟ้าดิน

** สาม “มโนสมาจารบริสุทธิ์”
ระวังใจประดุจไข่ในหิน
ไม่ยกตนข่มท่านจะเคยชิน
เกิดเป็นรอยมลทินสิ้นความอาย

** สี่ “อาชีวะบริสุทธิ์” ดุจผ้าขาว
ที่ไม่เปื้อนราคีคาวงามเหลือหลาย
การเลี้ยงชีพสุจริตไม่กล้ำกราย
พาตัวห่างหนีหายการโกงกิน

**  ห้า “สำรวมอินทรีย์หก” ไม่หมกมุ่น
ไปติดในกามคุณจะถูกหมิ่น
ถ้าเผอเรอศีลขาดธรรมพังภินท์
สติบินหนีไปไกลจากกาย

** ไม่ยินดียินร้ายให้ไหวหวั่น
เมื่อตานั้นเห็นรูปงามเฉิดฉาย
เมื่อหูได้ยินเสียงทั้งหญิงชาย
ไม่งมงายสำรวมใจไว้เร็วพลัน

** จมูกได้รับกลิ่นทั้งเหม็นหอม
ก็ไม่ยอมหวั่นไหวใจตั้งมั่น
หรือลิ้นได้รับรสทั้งหวานมัน
ไม่ผูกพันยินดีและปรีดา

** หก “รู้จักประมาณการบริโภค
เพราะความหิวเป็นโรคต้องรักษา
ด้วยอาหารที่เราหาได้มา
แต่จงอย่าติดใจในรสเลย

** ทานอาหารเพื่อขจัดอาการหิว
ไม่ใช่เพื่อประเทืองผิวขอเฉลย
ไม่ใช่เพื่อมัวเมานะเธอเอย
เพื่อพรหมจรรย์ขอเอ่ยจงจดจำ

** เจ็ด “ประกอบความเพียรอยู่เสมอ”
ไม่เลยละเผอเรอจนระส่ำ
ไม่เห็นแก่หลับนอนให้ระกำ
เพียรบำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ร่ำไป

** แปด “มีสติสัมปชัญญะ”
เป็นธรรมมีอุปการะที่ยิ่งใหญ่
ระลึกได้ว่าเคยทำซึ่งสิ่งใด
รู้สึกตัวว่าอะไรกำลังทำ

** เก้า ”อยู่ในเสนาสนะอันสงัด”
เพื่อขจัดกิเลสที่กระหน่ำ
มีนิวรณ์ทั้งห้าพาชอกช้ำ
ละเสียได้จะนำความสุขมา

** ใจบริสุทธิ์ผ่องใสไม่เศร้าหมอง
ดุจนำโซ่ที่คล้องนานหนักหนา
ออกจากคอทรมานทุกเวลา
รู้สึกเบากายาหาใดปาน

** ละนิวรณ์ได้แล้วผ่องแผ้วยิ่ง
เป็นความสุขแท้จริงขอกล่าวขาน
ทำฌานสี่ให้เกิดทุกประการ
ถึงอาสวักขยยานสำเร็จพลัน
(อาสวักขยญาณ = อา-สะ-วัก-ขะ-ยะ-ยาน)

** หมดตัณหาสิ้นกิเลสเหตุแห่งทุกข์
พบความสุขได้ชื่อว่าพระอรหันต์
นี่แหละธรรมที่สมณะประพฤติกัน
สุขนิรันดร์นั่นหรือคือนิพพาน

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #31 เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2559, 06:30:56 PM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๐  การสนทนาธรรมตามกาล
(กาเลน ธมฺมสฺสากจฺฉา  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** สนทนาธรรมตามกาลบันดาลให้
เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ไพศาล
เรื่องไม่รู้จะได้รู้อย่างเบิกบาน
ไม่หดหู่ฟุ้งซ่านจนร้อนรน

** หลักการสนทนาธรรมจำเอาไว้
แบ่งออกได้สามชนิดจิตกุศล
จะได้บุญจุนเจือเป็นมงคล
มีสุขล้นเพลิดเพลินเกินพรรณนา

** หนึ่ง “สนทนาในธรรม” คำของพระ
เรื่องที่จะพูดคุยหรือปรึกษา
จะต้องเกี่ยวกับธรรมของศาสดา
จึงสมควรนำพามาจำนรรจ์

** สอง “สนทนาด้วยธรรม” จำเถิดหนา
ผู้ที่จะพูดจามีธรรมมั่น
เช่นสัมมาคารวะสร้างสัมพันธ์
กราบไหว้กันตามฐานะจะอำนวย

** สาม “สนทนาเพื่อธรรม” นำมาใช้
เพื่อจะได้สุขใจเพราะธรรมช่วย
จะศึกษาเรียนรู้ไม่งงงวย
พ้นความซวยด้วยธรรมช่วยนำทาง

** เรื่องที่ควรสนทนานำมากล่าว
เป็นเรื่องราวของธัมมะเพื่อสะสาง
ทั้งกิเลสและตัณหาให้จืดจาง
จะพบทางสว่างอย่างแน่นอน

** หนึ่ง “คุยกันในเรื่องความมักน้อย”
เพื่อปลดปล่อยความอยากได้ให้ถ่ายถอน
ทั้งเอารัดเอาเปรียบก็แคลนคลอน
ต้องม้วยมรณ์เพราะมักน้อยคอยกีดกัน

** สอง “คุยกันในเรื่องความสันโดษ”
เพราะฟุ้งเฟ้อมีโทษอย่างมหันต์
ไม่ดิ้นรนอยากได้ทรัพย์อนันต์
ใช้ชีวิตประจำวันแบบพอดี

** สาม “คุยกันในเรื่องความสงัด”
เพื่อขจัดอกุศลหม่นหมองศรี
ความสงบเป็นบ่อเกิดบารมี
หนทางชี้พ้นอบายคลายกังวล

** สี่ “คุยกันในเรื่องไม่คลุกคลี”
เป็นวิธีให้เกิดบรรลุผล
คลุกคลีกันจะทำให้วกวน
โลภโกรธหลงที่ร้อนรนจะตามมา

** ห้า “คุยกันในเรื่องทำความเพียร”
เพื่อขจัดสิ่งเบียดเบียนคือตัณหา
และกิเลสทั้งปวงในโลกา
ให้เบาบางร้างราลดน้อยลง

** หก “คุยกันในเรื่องรักษาศีล”
ไม่ต้องปีนต้นงิ้วดังประสงค์
พ้นนรกทุกขุมเมื่อปลดปลง
ศีลมั่นคงอบายอย่าหมายเลย

** เจ็ด “คุยกันในเรื่องสมาธิ”
ตั้งจิตมั่นมีสติอย่านิ่งเฉย
ประพฤติธรรมภาวนาอย่าเฉยเมย
ให้คุ้นเคยเป็นนิสัยไปชั่วกาล

** แปด “คุยกันในเรื่องของปัญญา”
เพื่อนำพาให้รอบรู้กัมมัฏฐาน
โลกธรรมวิปัสสนาญาณ  
ได้พบพานความจริงสิ่งไม่ตาย

** เก้า “คุยกันในเรื่องของวิมุตติ”
ใจผ่องผุดสมหวังดังจันทร์ฉาย
สิ้นตัณหาไร้กิเลสเหตุวุ่นวาย
เมื่อหลุดพ้นสบายทั้งกายใจ

** สิบ “คือเรื่องภาวะการพ้นทุกข์”
.ใจเกษมคือสุขที่ยิ่งใหญ่
ปราศจากมลทินสิ้นเยื่อใย
ละโลกไปสุคติมีแน่นอน

** การพูดคุยเป็นเบื้องต้นพ้นอาสวะ
แต่ผลจะบังเกิดด้วยการถอน
ทั้งกิเลสทั้งตัณหาและนิวรณ์
ปฏิบัติไม่ขาดตอนมองเห็นธรรม

** สนทนาธรรมเป็นมงคลผลที่ได้
จะทำให้จิตผ่องใสใจอิ่มหนำ
ขจัดข้อสงสัยใจน้อมนำ
ไม่ให้หลงในทางต่ำจิตสำราญ

ทางเสื่อม – ทางเจริญ

** ในสมัยที่องค์พระศาสดา
เสด็จมาเชตวันพระวิหาร
สาวัตถีพาราทรงเบิกบาน
ท่ามกลางบริวารของพระองค์

** ในครั้งนั้นเมื่อล่วงปฐมยาม
เทวดารูปงามร่างระหง
มาเข้าเฝ้าด้วยเหตุเจตจำนง
เพื่อเจาะจงถามปัญหาพระภูมี

** บังคมแล้วยืนในที่อันควร
ซึ่งเป็นส่วนที่เหมาะสมก้มเกศี
ประณมมือขึ้นทำอัญชลี
บังคมแล้วเอ่ยวจีทูลถามมา

** ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ตัวข้าน้อยบังเอิญมีปัญหา
จึงใคร่ที่จะขอความเมตตา
โปรดทรงวิสัชนาตามเห็นควร

** อะไรที่เป็นทางของคนเสื่อม
ซึ่งจะเชื่อมสู่อบายได้หลายส่วน
อีกทั้งความเจริญไม่เรรวน
โปรดใคร่ครวญสงเคราะห์ตามเหมาะเทอญ

** พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงสาเหตุ
แยกประเภทด้วยลีลาดังหงส์เหิน
เหล่าพุทธบริษัทฟังกันเพลิน
ใคร่ชวนเชิญมวลประชามาฟังกัน

** คนจะเสื่อมเพราะประมาทขาดธรรมะ
ทั้งทอดทิ้งธุระละเรื่องขันธ์
ไม่สำรวมอินทรีย์ทุกวี่วัน
ขอจำนรรจ์สาธกยกถ้อยคำ

** “ผู้ชังธรรม  ผู้รู้ชั่ว” พามัวหมอง
เป็นครรลองของอบายหมายกระหน่ำ
ความเสื่อมทรามถามหาพาระกำ
ต้องชอกช้ำทุกข์โหมโทรมใจกาย

** ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ”
จะยื้อยุดปัญญาพาเสียหาย
ความชั่วร้ายจะคลอบคลุมซุ่มทำลาย
ความสุขหายกิเลสหนาพาร้อนรน

** “คนชอบนอนเกียจคร้านและโกรธง่าย”
ตกเป็นเหยื่อแพ้พ่ายให้หมองหม่น
อกุศลกรรมนำพาให้อับจน
เกิดเป็นคนมีธรรมะจะรุ่งเรือง

** “ไม่เลี้ยงบิดามารดา” ชั่วช้านัก
ไม่คิดถึงความรักอันฟูเฟื่อง
ที่มอบให้ทั้งชีวิตจิตประเทือง
ทั้งสิ้นเปลืองข้าวปลาหาให้กิน

** “คนที่ลวงสมณะ” มุสาวาท
ทำลายปราชญ์ผู้หวังดีมิใจหิน
การพูดปดตกนรกเป็นอาจิณ
มีมลทินติดกายจนวายปราณ

** “ผู้ตระหนี่” ไม่มีมิตรสหาย
เหมือนทำลายทางชีวิตติดสงสาร
ความตระหนี่คือพิษจิตเป็นพาล
ละสันดานตระหนี่เถิดสุขเกิดมา

** “นักเลงหญิงหรือสุรา” จะพาวุ่น
มีความทุกข์เป็นทุนเศร้าหนักหนา
เสียทรัพย์สินเงินทองหมองอุรา
สิ้นชีวาไฟนรกหมกไหม้ตัว

** “ไม่พอใจในภรรยาสามีตน”
เที่ยวซุกซนกับใครใครเขาไปทั่ว
หลงระเริงลูกเมียเขาเพราะเมามัว
เดินทางผิดคิดชั่วสร้างกรรมเวร

** “เป็นคนทะยานอยากมากตัณหา”
คือเหตุพาอับอายชั่วหลานเหลน
ใช้ชีวิตในทางเสื่อมไร้กฎเกณฑ์
นับเป็นเดนสังคมจมโลกันต์

** ส่วนข้อธรรมตรงกันข้ามตามที่กล่าว
เป็นเรื่องราวทางเจริญเดินสู่ฝัน
ที่ยิ่งใหญ่ในโลกาค่าอนันต์
มีสวรรค์เป็นแดนเกิดเลิศธาตรี

** ผู้รู้ดีมีบัณฑิตเป็นที่รัก
มีความเพียรยิ่งนักขมันขมี
เลี้ยงบิดามารดาเป็นอย่างดี
มีปิยะวจีเป็นพลัง

** มีจิตใจเอื้อเฟื้อและเผื่อแผ่
ไม่ท้อแท้หยิ่งยโสหรือโอหัง
รักสันโดษมักน้อยอย่างจริงจัง
ปลูกสำนึกให้ฝังอย่างมั่นคง

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #32 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 10:41:23 AM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๑  การบำเพ็ญตบะ
(ตโป จ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “ตปะ” แปลว่าการเผาบาป
กรรมที่หยาบให้หมดไปไม่ไหลหลง
ทำให้ใจบริสุทธิ์ด้วยการปลง
ปล่อยวางลงจะสว่างห่างอบาย

** ความหมายของการบำเพ็ญตบะ
คือการใช้ธัมมะเผาสลาย
ซึ่งกิเลสเหตุพาให้วุ่นวาย
กิเลสสิ้นทุกข์คลายสบายใจ

** ตบะธรรมในพุทธศาสนา
ขอยกมาให้รู้แจ้งแถลงไข
เป็นแนวทางปฏิบัติขจัดไฟ
ที่เผาไหม้ในอุรามานานครัน

** คือ “อินทรีย์สังวร” อ้อนเฉลย
ขอเปิดเผยสิ่งจะมารังสรรค์
ช่วยประหารอภิชฌามาโรมรัน
คอยฟาดฟันทำลายให้ร้อนรน

**  “อาตาปี” คือความเพียรและมุ่งมั่น
ช่างขยันทำงานไม่หมองหม่น
คอยกำจัดความเกียจคร้านให้อับจน
ชีวิตไม่มืดมนและหมองมัว

** “ขันติ” ความอดทนเพื่อพ้นทุกข์
เมื่อผลสุกจะสลายซึ่งความชั่ว
คือย่อท้ออ่อนแอและความกลัว
ปิดรอยรั่วของใจที่ไหวเอน

** ธุดงค์วัตร” จะขัดเกลากิเลส
ซื่งเป็นเหตุมักมากอยากดังเด่น
ธุดงค์จะทำให้ไม่เหลือเดน
จะป้องกันกรรมเวรให้ห่างไกล

** “ศีล” รักษาใจกายและวาจา
ให้สงบดูสง่าและสดใส
อีกหมดจดจากทุจริตผ่องอำไพ
อกุศลใดใดไม่เกี่ยวพัน

**  “สมาธิ” ความตั้งมั่นแห่งดวงจิต
จะพิชิตนิวรณ์ห้ามาขวางกั้น
ไม่ให้บรรลุความดีนิจนิรันดร์
ตกนรกปิดสวรรค์และนิพพาน

** “วิปัสสนาปัญญา” ความรู้รอบ
ส่วนประกอบที่สำคัญของสังขาร
มีเกิดแก่เจ็บตายไปตามกาล
จะเผาผลาญความเห็นเป็นอัตตา

** การบำเพ็ญตบะมีอานิสงส์
ให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา
ป้องกันบาปและกำจัดบาปนานา
บรรลุฌานสิ้นตัณหามาครอบงำ

** พร้อมทำให้รู้แจ้งอริยสัจ
เป็นธัมมะปรมัตถ์อันดื่มด่ำ
จะทำลายความทุกข์ความระกำ
ที่ล่วงล้ำจิตใจผู้ใฝ่ดี

เรื่อง การบำเพ็ญตบะ

** เมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้ประทับ
ณ ที่บรรพตาพาสุขี
ชื่อภูเขาคิชฌกูฏขุนคีรี
ราชคฤห์ธานีที่งดงาม

** สันธานคหบดีมีศรัทธา
ได้มุ่งหน้าไปเฝ้าเพื่อทูลถาม
ข้อสงสัยในธรรมที่ลุกลาม
เพื่อลดความร้อนรนกระวนกระวาย

** เมื่อเดินถึงปริพาชการาม
ของนิโครธผู้ลือนามกับสหาย
ร่วมประชุมคุยกันอย่างมากมาย
จึงแวะเข้าทักทายเชื่อมไมตรี

** พวกนิโครธต่างสรวลเสและเฮฮา
คำพูดจาชวนให้น่าบัดสี
หาสาระสักนิดก็ไม่มี
เห็นสันธานคหบดีหยุดคุยกัน

** สันธานจึงได้เอ่ยเผยวจี
ปริพาชกนี้ช่างขยัน
พูดคุยไร้สาระทุกวี่วัน
เสียงดังลั่นโวยวายคล้ายคนพาล

** ส่วนองค์สมเด็จพระโคดม
น่าชื่นชมชอบสงบได้ประสาน
ความสงัดวิเวกเป็นประธาน
เป็นความสุขสำราญของพระองค์

** นิโครธปริพาชกจึงกล่าวว่า
พระศาสดาทรงมีจุดประสงค์
จะหลบหลีกผู้คนอย่างเจาะจง
เพราะท่านคงไร้ปัญญามาพูดคุย

** ถ้าพระองค์ทรงอยู่ในที่นี่
จะต้อนให้หัวหมุนจี๋จนหลุดลุ่ย
เหมือนหม้อเปล่าถูกหมุนจนกระจุย
เราจะลุยจนพระองค์ทรงเหนื่อยแรง

** พระพุทธองค์ทรงสดับสนทนา
ด้วยทิพย์โสตอภิญญาไม่หน่ายแหนง
รู้เรื่องราวทั้งหมดไม่เคลือบแคลง
อยากแสดงให้เห็นความเป็นจริง

** จึงเสด็จมาจงกรมริมสระน้ำ
ที่งามล้ำสดใสไปทุกสิ่ง
ชื่อสุมาคธาน่าพักพิง
ทั้งค่างลิงสัตว์นานาระเริงไพร

** นิโครธได้มองเห็นจึงสั่งศิษย์
เลิกคุยโววิปริตเรื่องเหลวไหล
พระพุทธองค์จึงได้ทรงคลาไคล
เสด็จไปที่ประชุมกลุ่มสัมพันธ์

** สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสถาม
ถึงเนื้อความที่ปรึกษาเฮฮาลั่น
นิโครธจึงเล่าถวายไปโดยพลัน
ทุกถ้อยคำที่จำนรรจ์กับบริวาร

** ปริพาชกทูลถามซึ่งปัญหา
กับสมเด็จพระศาสดาอย่างอาจหาญ
ว่าทรงสอนสาวกให้เบิกบาน
ในพรหมจรรย์อันโอฬารด้วยธรรมใด

** พระองค์จึงได้ตรัสพระวัจจนะ
ว่าธรรมะที่สอนนั้นยิ่งใหญ่
แม้เราบอกพวกท่านไม่เข้าใจ
เพราะลัทธิต่างไปคนละทาง

** เรามาคุยในเรื่องที่ท่านรู้
เราคิดดูเหมาะสมกันทุกอย่าง
เพราะท่านรู้ท่านเข้าใจไม่ระคาง
จะได้ไม่ต้องอ้างถูกรังแก

** อันพวกเราพอใจรังเกียจบาป
บำเพ็ญตบะเพื่อปราบสิ้นกระแส
จึงอยากทราบความคิดเห็นที่แน่แท้
อย่างไรแน่สมบูรณ์ไม่สมบูรณ์

** พระพุทธองค์ตรัสว่าฟังนะท่าน
อันว่าการล้างบาปให้สิ้นสูญ
เป็นสิ่งที่ประเสริฐเจิดจำรูญ
จะเพิ่มพูนซึ่งบุญอันสุนทร

** ตบะที่พวกท่านนั้นบำเพ็ญ
ไม่ว่าเป็นเปลือยกายให้ล่อนจ้อน
ไร้มารยาทเลียมือเฝ้าอ้อนวอน
ให้คนจรสนใจใคร่ศรัทธา

** ไม่กินเนื้อไม่กินปลาอดอาหาร
ทรมานนอนบนหนามให้กังขา
ในบรรดาตบะที่กล่าวมา
ท่านคิดว่าสมบูรณ์แล้วหรือยัง

** ฝ่ายนิโครธตอบว่าสมบูรณ์แล้ว
เพราะเป็นแนวรังเกียจบาปที่ฉมัง
แต่เราว่ายังบกพร่องโปรดจงฟัง
ท่านจงนั่งเราจะอรรถาธิบาย

** พระพุทธองค์ทรงกล่าวเป็นข้อข้อ
ครั้นบำเพ็ญไม่ทำต่อเพราะเบื่อหน่าย
จึงยึดมั่นตบะละใจกาย
เพราะมั่นหมายว่าสำเร็จตามต้องการ

** ยกตนข่มผู้อื่นเพราะหลงผิด
มัวหลงคิดมัวเมาเป็นกิ่งก้าน
ติดในลาภสักการะเป็นสันดาน
ติดรสชาติอาหารจนเมามัว

** บำเพ็ญตบะเพียงให้คนเคารพ
แล้วประจบเอาหน้าพายิ้มหัว
คอยรุกรานสมณะให้เกรงกลัว
กล่าวโอ้อวดไปทั่วตบะเรา

** ไม่ยอมรับในเรื่องที่ควรรับ
มักผูกโกรธประกอบกับความโง่เขลา
ลบหลู่คุณถือตัวจัดไม่ขัดเกลา
ยึดถือเอาความตระหนี่มีมายา

** นิโครธเอ๋ยสิ่งที่เรากล่าวมานี้
ตัวบ่งชี้อุปกิเลสเหตุปัญหา
ของผู้บำเพ็ญตบะในโลกา
ที่เรียกว่าความเศร้าหมองใช่หรือไร

** ฝ่ายนิโครธฟังจบสงบนิ่ง
ก้มหน้ารับความจริงว่าใช่ใช่
บางคนมีอุปกิเลสทุกอย่างไป
แล้วแต่ใครจะฝึกฝนให้พ้นมัน

** ดูกรนิโครธโปรดฟังเถิด  
จะได้เกิดความเข้าใจไม่ไหวหวั่น
ยึดตบะแต่บริสุทธิ์มีเหมือนกัน
อุปกิเลสไม่มีวันเศร้าหมองเลย

** เช่นสาวกของเราเป็นตัวอย่าง
มีสังวรคอยขัดขวางขอเปิดเผย
ได้แก่ความระวังจนคุ้นเคย
ความเศร้าหมองถูกสังเวยด้วยคุณธรรม

** สังวรสี่มีฤทธามหาศาล
กำจัดมารทำหน้าที่อุปถัมภ์
แก่ผู้บำเพ็ญตบะเป็นประจำ
ได้ชื่นฉ่ำบริสุทธิ์ดุจเดือนเพ็ญ

** หนึ่ง “งดเว้นจากการฆ่าหมู่สัตว์
เที่ยวประหัตประหารเป็นของเล่น
ไม่ดีใจเมื่อผู้อื่นต้องลำเค็ญ
ทุกข์ทรมานแสนเข็ญทั้งใจกาย

** สอง “ไม่ลักทรัพย์หรือใช้ให้ลักทรัพย์”
เป็นการทำที่นับว่าเสียหาย
ไม่ยินดีพฤติกรรมน่าอับอาย
ผิดศีลธรรมอย่างเลวร้ายในสังคม

** สาม “ไม่พูดปดหรือใช้ให้พูดปด”
พูดเพ้อเจ้อจะรันทดพาขื่นขม
ตกนรกอบายให้โศกตรม
เว้นเสียได้น่าชื่นชมสุขกายใจ

** สี่ “ไม่เสพกามหรือใช้ให้เสพกาม”
ดูไม่งามจะหมกมุ่นและฝันใฝ่
อยู่ในกามตัณหาอยู่ร่ำไป
เป็นสาเหตุทำให้เกิดมลทิน

** เมื่อเกิดมีสังวรทั้งสี่แล้ว
ดวงจิตจะผ่องแผ้วเป็นนิจสิน
พึงเสพความสงัดอยู่อาจิณ
ชำระจิตตัดสิ้นจากนิวรณ์

** จิตสงบตั้งอยู่ในพรหมวิหาร
ครบทั้งสี่ประการไม่ทอดถอน
คือเมตตากรุณาครบวงจร
และคำสอนอุเบกขามุทิตา

** ธรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำสอน
เป็นขั้นตอนเริ่มต้นแสวงหา
โมกขธรรมอันล้ำเลิศของศาสดา
สอนสาวกเรื่อยมาทั่วหน้ากัน

** ธรรมเหล่านี้ที่เราใช้สอนสั่ง
ให้สาวกลุกนั่งหฤหรรษ์
ทุกคนจึงสดใสในพรหมจรรย์
มีคืนวันล่วงไปอิ่มในบุญ

** ถึงตอนนี้สันธานได้ไต่ถาม
ที่นิโครธลวนลามให้เคืองขุ่น
ว่าพระพุทธองค์ไร้ปัญญามาเจือจุน
จะแกล้งให้หัวหมุนจนเสียคน

** นิโครธได้ประจักษ์อย่างแน่วแน่
พุทธองค์เป็นเพชรแท้ไม่มัวหม่น
ทรงเลิศด้วยปัญญาในสากล
ผู้หลีกพ้นสังสารวัฏตัดบ่วงมาร

** จึงได้เอ่ยวาจาขมาโทษ
ขอจงโปรดอโหสิที่กล่าวขาน
ได้ล่วงเกินเพราะความโง่ดักดาน
ขอพระองค์ทรงประทานความเมตตา

** พระพุทธองค์ตรัสว่าช่างมันเถิด
เรื่องที่เกิดผ่านไปไม่ถือสา
โปรดจงลืมมันไปไม่นำพา
แล้วเสด็จไคลคลามิช้าพลัน

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #33 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 10:58:54 AM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๒  การประพฤติพรหมจรรย์
(พรฺหฺมจริยญฺจ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** พรหมจรรย์คือความประพฤติอันประเสริฐ
เป็นแดนเกิดของพรหมในสวรรค์
คือความดีน่าสรรเสริญเกินจำนรรจ์
และหนทางสร้างสรรค์สู่นิพพาน

** พรหมจรรย์นั้นมีความหมายว่า
ปรมัตถโชติกาได้กล่าวขาน
ขุททกนิกายคือคำนาน
มีอยู่สี่ประการโปรดจงฟัง

** หนึ่ง “เมถุนวิรัติ” จัดว่างาม
เว้นจากการเสพกามอย่างขึงขัง
แม้ภรรยาของตนอย่างจีรัง
ไม่อินังในกลกามโลกีย์

** สอง “สมณธรรม” เป็นธรรมที่สดใส
เหนืออื่นใดคือคำสอนพระชินศรี
ปฏิบัติธรรมสมณะไร้ราคี
เจริญกัมมัฏฐานนั่นดีไม่ขุ่นมัว

** สาม “ศาสนา” คือคำสอนพระพุทธองค์
ปฏิบัติตรงปฏิบัติดีหนีความชั่ว
จิตผ่องใสใจสงบค้นพบตัว
กิเลสที่พันพัวถูกฆ่าพลัน

** สี่ “อริยมรรค” คือหนทางที่ยิ่งใหญ่
เพื่อเดินไปสู่นิพพานอันสุขสันต์
ความเห็นชอบดำริชอบคุณอนันต์
อรหันต์สุดท้ายพึงหมายปอง

** ส่วนในมังคลัตถทีปนี
กล่าวว่ามีสิบข้อขอสนอง
เป็นความรู้เสริมศรัทธาให้เรืองรอง
พรหมจรรย์ไม่บกพร่องจนเสียการ

** “ทาน” คือการเสียสละและแบ่งปัน
เพื่อมนุษย์ด้วยกันเพราะสงสาร
ทั้งสิ่งของความรู้มาเจือจาน
ให้อภัยเป็นทานด้วยเมตตา

** “เวยยาวัจจะ” คือการขวนขวาย
ทำประโยชน์หลากหลายไม่กังขา
ให้บังเกิดแก่ผู้อื่นด้วยเจตนา
เพื่อสังคมล้ำค่าทุกข์ไม่มี

** “เบญจศีล” ตั้งอยู่ในศีลห้า
จะควบคุมกายวาจาให้ถ้วนถี่
ไม่ลักทรัพย์ฆ่าสัตว์ตัดชีวี
ไม่เบียดเบียนด้วยวจีให้ร้อนรน

** “อัปปมัญญา” แผ่เมตตาแก่หมู่สัตว์
ในสังสารวัฏทุกแห่งหน
ไม่จำเพาะเจาะจงตัวบุคคล
แบ่งส่วนบุญและกุศลด้วยเต็มใจ

** “สทารสันโดษ” โปรดเมียตน
พอใจไม่ดิ้นรนไปมีใหม่
มีรักเดียวใจเดียวตลอดไป
ไม่เยื่อใยใฝ่หามาครอบครอง

** เมถุนวิรัติ” เว้นจากเสพเมถุน
กามคุณจะทำให้เศร้าหมอง
อย่าเอาแต่สนุกควรไตร่ตรอง
เพราะผลของสนุกจะทุกข์นาน

** “วิริยะ” ทำความเพียรชำระบาป
ที่แสนหยาบชั่วช้ามาเผาผลาญ
ให้ใจใสสะอาดตลอดกาล
อกุศลวายปราณจบสิ้นลง

** “อุโบสถ” รักษาศีลอุโบสถ
ที่กำหนดข้อห้ามปรามโลภหลง
ให้มีกายวาจามั่นดำรง
อยู่ในองค์ความดีที่ยงยืน

** อริยมรรค” คือแนวทางที่ใหญ่ยิ่ง
เป็นความจริงเพื่อหลุดพ้นอันราบรื่น
คือการเดินสายกลางไม่หวนคืน
สุขอื่นอื่นเทียบไม่ได้อย่ารอรี

** “ศาสนา” คือปฏิบัติธรรมทุกข้อ
ไม่ย่อท้อตั้งมั่นเพื่อสุขี
ปฏิบัติตามคำสอนองค์ภูมี
ไม่ให้ทุกข์ย่ำยีจงตริตรอง

** ทั้งหมดนี้ข้าศึกพรหมจรรย์
ที่ห้ำหั่นทำให้ใจเศร้าหมอง
สามประการสำคัญหมั่นยึดครอง
คอยจ้องมองทำลายให้ยับเยิน

** “กามตัณหา” คือความทะยานอยาก
เกิดยินดีมักมากต่อสรรเสริญ
ทั้งรูปเสียงกลิ่นรสจนเพลิดเพลิน
หลงมัวเดินในวังวนจนหลงทาง

** “ปมาทะ” ประมาทในวัยเวลา
ด้วยคิดว่ายังหนุ่มสาวราวฟ้าสาง
ยังอีกนานชีวิตจึงวายวาง
บุญกุศลไม่สร้างปล่อยว่างฟรี

** “โกธะ” ความขัดเคืองและอึดอัด
ที่ต้องถูกจำกัดเฉพาะที่
ให้อยู่แต่ในกรอบของความดี
สุดแสนที่จะรำคาญบ่นพึมพำ

** จงฟังก่อนเถิดภิกษุทั้งหลาย
มีมนุษย์มากมายที่ถลำ
ปล่อยให้อวิชชาเข้าครอบงำ
ดังม่านดำบังตาให้มืดมน

** เห็นสิ่งที่ไม่ดีว่าเป็นดี
ปัญญามีเหมือนไม่มีขาดเหตุผล
เสมือนทารกน้อยที่ซุกซน
หลงเข้าป่าผจญอันตราย

** อันมนุษย์ในโลกของเราไซร้
ดูร่าเริงสดใสมีความหมาย
แต่ส่วนลึกของใจแสนวุ่นวาย
ว้าเหว่และเดียวดายสักปานใด

** ถ้าหากว่าว้าเหว่ในชีวิต
ไม่มีสิ่งจะยึดติดเป็นหลักให้
เหมือนไม้หลักปักเลนที่เอนไกว
เป็นที่พึ่งไม่ได้โปรดจงฟัง

** ธรรมคือสิ่งสำคัญมากที่สุด
ในชีวิตมนุษย์สุดจะหยั่ง
จะเพศใดภาวะใดมั่นจิรัง
ประดุจดังเกราะหุ้มคุ้มกันภัย

** แม้ว่าจะประสบความทุกข์ยาก
จะลำบากหมดสิ้นที่อาศัย
ไม่ทิ้งธรรมทิ้งคำสอนหมดอาลัย
ทุกเพศและทุกวัยจงจดจำ

** พรหมจรรย์เป็นมงคลที่ดลให้
เมื่อตายไปก็เกิดในสวรรค์
เป็นปัจจัยเพื่อบรรลุธรรมสำคัญ
อนาคตปัจจุบันตลอดกาล

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #34 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 11:26:30 AM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๓  การเห็นอริยสัจ
(อริยสจฺจาน ทสฺสนํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “อริยสัจ” เป็นปรมัตถ์ธรรมชั้นสูง
เครื่องลากจูงมีค่ามหาศาล
คือสภาวะเป็นจริงอันยาวนาน
จะกล่าวขานพอเข้าใจในเนื้อความ

** การเห็นอริยสัจต้องใช้ญาณ
มีทั้งหมดมาประสานรวมเป็นสาม
จงตั้งใจเรียนรู้อย่าวู่วาม
จะรู้เห็นเป็นไปตามกฎความจริง

** “สัจจญาณ” รู้ความจริงอริยสัจ
อย่างเด่นชัดแต่ละข้อหมดทุกสิ่ง
เช่นรู้ว่ามีทุกข์คอยพักพิง
จะเดือดร้อนอย่างยิ่งเมื่อทุกข์มา

** “กิจจญาณ” รู้หน้าที่จะพึงทำ
ควรเว้นควรน้อมนำควรใฝ่หา
กำหนดรู้เรื่องทุกข์ทุกเวลา
รู้แจ้งนิโรธพาให้สุขใจ

** “กตญาณ” รู้ว่ากิจเหล่านั้น
 ได้ทำมันให้สำเร็จดังฝันใฝ่
พยายามทำตามขั้นตอนลุล่วงไป
ไม่มีส่วนใดขาดตกบกพร่องแล้ว

** อริยสัจมีอยู่สี่ประการ
สามารถตัดบ่วงมารให้ผ่องแผ้ว
หมดกิเลสสิ้นตัณหาพาเพริดแพรว
ปราศจากวี่แววของมลทิน

** หนึ่ง  “ทุกข์” ความเดือดร้อนใจและกาย
ทรมานมากมายไม่จบสิ้น
ต้องทุรนทุรายเป็นอาจิณ
จะนั่งนอนเดินกินก็กังวล

** อันทุกข์นั้นมีอยู่สองสถานะ
องค์พุทธะตรัสไว้อย่าสับสน
ขอนำมาเผยแพร่แก่ปวงชน
จะได้ยลและเข้าใจไปนานวัน

** “สภาวะทุกข์” คือทุกข์ของสังขาร
มีเกิดแก่วายปราณคอยห้ำหั่น
เป็นปัจจัยปรุงแต่งและผูกพัน
ไม่มีวันที่ใครจะหนีพ้น  

** “ปกิณณกะทุกข์” คือทุกข์จร
ที่เข้ามาหลอกหลอนให้หมองหม่น
เช่นผิดหวังเศร้าใจและร้อนรน
ทั้งท้อแท้เกินทนจนร้อนใจ

** สอง “สมุทัย” เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ไร้ความสุขโศกเศร้าไม่สดใส
เกิดจากความทะยานอยากอยู่ภายใน
เรียกเสียใหม่ว่าตัณหามาครอบครอง

** อกุศลมูลนิวรณ์และกิเลส
ก็เป็นเหตุทำให้ทุกข์หม่นหมอง
อีกมลทินทุจริตผิดทำนอง
เป็นเหตุของการเกิดทุกข์อีกมากมาย

** ตัณหาแบ่งเป็นสามประเภท
จะนำเอาขอบเขตมาขยาย
เพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่งมงาย
ขอบรรยายวิสัชนาจะหายงง

** “กามตัณหา” หมายความว่าความอยากได้
คือปัจจัยทำให้เกิดความหลง
ในโลกีย์วิสัยอย่างมั่นคง
โดยเจาะจงกามคุณหมกมุ่นกาม

** “ภวตัณหา” คือความอยากเป็น
ที่พึงมีพึงเห็นในโลกสาม
อยากเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ทุกยาม
อยากคงอยู่ไม่เป็นตามอนิจจัง

** “วิภวตัณหา” ไม่อยากเป็น
ดังเฉกเช่นไม่อยากพบความผิดหวัง
ไม่อยากแก่ไม่อยากตายอย่างจิรัง
ไม่เจ็บป่วยไม่ภินท์พังจนชั่วกาล

** สาม “นิโรธ” การดับทุกข์ที่รุกเร้า
มาคลอเคล้าให้สิ้นไม่เผาผลาญ
ด้วยทำลายสมุทัยเจ้าตัวการ
ตัดรากฐานของตัณหาพาทุกข์คลาย

** สี่ “มรรค” คือหนทางการดับทุกข์
ให้เกิดสุขชั่วฟ้าดินสูญหาย
คือนิพพานไม่เกิดแก่เจ็บตาย
เป็นการดับสลายนิรันดร์กาล

** “สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นชอบ
ตามระบอบอริยมรรคเป็นแก่นสาร
มีปัญญาเป็นตัวตั้งในหลักการ
และประสานกับความจริงดียิ่งนัก

** “สัมมาสังกัปปะ” ดำริชอบ
ต้องประกอบด้วยคิดดีที่ตระหนัก
ไม่พยาบาทออกจากกามจงประจักษ์
ไม่เบียดเบียนแต่รักซึ่งความดี

** “สัมมาวาจา” เจรจาชอบ
ให้รอบคอบวาจางามตามวิถี
การพูดเท็จพูดคำหยาบต้องไม่มี
พูดส่อเสียดเป็นที่น่าชิงชัง

** “สัมมากัมมันตะ” การงานชอบ
อยู่ในกรอบของธรรมที่ไหลหลั่ง
เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวัง
การฉ้อโกงไม่อินังเพราะเลวทราม

** สัมมาอาชีวะ” เลี้ยงชีวิตชอบ
ต้องนอ้มนอบจิตกุศลคนไม่หยาม
ไม่ผิดธรรมผิดวินัยน้ำใจงาม
ปฏิบัติตามคำสอนองค์สัมมา

** “สัมมาวายามะ” ความเพียรชอบ
จงรอบคอบระวังบาปที่หยาบหนา
ไม่ให้เกิดและละบาปที่เกิดมา
เพียรรักษากุศลกรรมไม่ย่ำยี

** “สัมมาสติ” การระลึกชอบ
เพื่อรู้รอบสติปัฏฐานให้ถ้วนถี่
ว่าร่างกายต้องเน่าเปื่อยไปทุกที
ความสุขทุกข์เกิดมีเป็นอารมณ์

** “สัมมาสมาธิ” ความตั้งใจชอบ
ตามเขตขอบของฌานสี่ให้เหมาะสม
เพื่อวิตกวิจารณ์พาลระทม
ผลาญให้จมเข้าสู่ฌานเบิกบานจริง

** การเห็นอริยสัจเป็นมงคล
เป็นเรื่องที่เลิศล้นกว่าทุกสิ่ง
เข้าถึงเรื่องสังขารไม่ประวิง
ใช้อ้างอิงเรียนรู้ธรรมให้ชำนาญ

** ทำให้ได้เป็นพระอริยะเจ้า
ไม่หมองเศร้าด้วยกิเลสมาเผาผลาญ
เพราะเข้าถึงความดับคือนิพพาน
ทั้งกำจัดตัวมารเกิดแก่ตาย

เรื่อง  ใบประดู่ลายในมือ

** สมัยหนึ่งสมเด็จจอมโมลี
ได้ทรงมีพระทัยอย่างมั่นหมาย
ในการจะเสด็จเยื้องย่างกราย
โกสัมพีเพื่อผ่อนคลายแห่งอารมณ์

** ทรงประทับ ณ สีสปาวัน
ในการนั้นทรงมีแต่สุขสม
จึงประสงค์แสดงธรรมอันอุดม
ให้เป็นที่ชื่นชมตลอดกาล

** ครั้นจะทรงเปรียบเทียบธรรมที่สั่งสอน
ในบวรศาสนามาไขขาน
กับธรรมที่ตรัสรู้มาเนิ่นนาน
ว่าอย่างไหนปริมาณมากกว่ากัน

** ทรงหยิบใบประดู่ลายมาสองใบ
มาวางไว้บนพระหัตถ์หฤหรรษ์
แล้วตรัสถามความเห็นเป็นสำคัญ
กับภิกษุเหล่านั้นในทันที

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจงฟังเรา
เปรียบเทียบเอาใบไม้ในมือนี่
กับใบไม้บนต้นเขียวขจี
ที่ไหนมีมากกว่าจงยืนยัน

** ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่ต้นมีมากเกินจะเสกสรร
บนพระหัตถ์น้อยกว่าเป็นร้อยพัน
ขอจำนรรจ์กราบทูลความที่ถามมา

** อย่างนั้นเหมือนกันภิกษุทั้งหลาย
เราตรัสรู้ธรรมหลากหลายมากหนักหนา
แต่ที่นำมาสั่งสอนทุกเวลา
มีน้อยกว่าที่เรารู้อีกมากมาย

** เพราะเหตุใดจึงไม่นำมาสอนเล่า
เพราะไม่เร้าให้เกิดความเบื่อหน่าย
อีกทั้งความกำหนัดก็ไม่คลาย
ความสงบไม่ย่างกรายมาให้ครอง

** ไม่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้
ไม่ตั้งอยู่เพื่อนิพพานตอบสนอง
เพื่อความรู้ที่ใหญ่ยิ่งสิ่งควรปอง
ตามครรลองความหลุดพ้นผจญมาร

** ดูก่อนบรรดาภิกษุทั้งหลาย
เรามุ่งหมายนำธรรมมาประสาน
ให้ได้รู้นี่คือทุกข์อันร้าวราน
อีกทั้งการดับทุกข์ให้สิ้นไป

** นี่คือทางให้ถึงความดับทุกข์
เกิดความสุขชั่วนิรันดร์อันยิ่งใหญ่
นี้คือสิ่งที่เราสอนอย่างตั้งใจ
ให้ใครใครได้เรียนรู้อยู่ทุกวัน

** เพราะเหตุใดเราจึงเอาสิ่งเหล่านี้
มาแนะชี้เพราะหวังให้สุขสันต์
ได้ก้าวสู่เบื้องต้นพรหมจรรย์
เพื่อรู้ยิ่งสิ่งสำคัญคือดับทุกข์

** ดูก่อนบรรดาภิกษุทั้งหลาย
เราก็ได้อธิบายเพื่อสร้างสุข
เพื่อให้เธอเข้าใจไม่เจ่าจุก
เลิกสนุกละตัณหาจะพ้นภัย

** เมื่อรู้แล้วขอให้จงได้คิด
บำเพ็ญเพียรจนติดเป็นนิสัย
ละกิเลสตัณหาไม่อาลัย
สู่เส้นชัยแห่งชีวิตคือนิพพาน

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #35 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 11:36:20 AM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๔  การทำให้แจ้งพระนิพพาน
(นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** การออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด
เหมือนการตัดพ้นจากเครื่องประหาร
จะร่มเย็นเป็นสุขนิรันดร์กาล
เรียก “นิพพานสัจฉิกิริยา”

** คือการทำนิพพานให้รู้แจ้ง
รู้ถึงแหล่งของทุกข์ที่โถมถา
รู้วิธีการดับทุกข์ที่เกิดมา
ด้วยคำสอนพระศาสดาของปวงชน

** ลักษณะของนิพพานกล่าวขานไว้
เพื่อจะได้เข้าใจไม่สับสน
ขออนุญาตนำเสนอแก่ทุกคน
ตามที่ได้สืบค้นและเล่าเรียน

** หนึ่ง “ความสิ้นตัณหา” ทะยานอยาก
ซึ่งเกิดจากอยากได้คุมบังเหียน
ความอยากเป็นไม่อยากเป็นที่หมุนเวียน
มาเบียดเบียนทำลายให้ร้าวราน

** สอง “จุดจบของความทุกข์” ที่รุกเร้า
เกิดถูกเผาให้มอดไหม้ไร้รากฐาน
ด้วยนิโรธตัวดับทุกข์ให้วายปราณ
ดังตัณหาถูกเผาผลาญสิ้นเชื้อไฟ

** สาม “ความดับแห่งภพชาติ” ไม่มีเหลือ
หมดสิ้นเชื้อการตายแก่และเกิดใหม่
ดับจนสิ้นไม่เหลือแม้เยื่อใย
ครั้นผ่านไปสังขารได้สลายลง

** ภาวะของผู้บรรลุนิพพานแล้ว
มีดวงจิตผ่องแผ้วไม่ไหลหลง
มีสติเป็นพื้นฐานที่มั่นคง
จะดำรงยึดพระรัตนตรัย

** “ภาวะทางปัญญา” สามารถมอง
สิ่งทั้งผองตามเป็นจริงไม่สงสัย
รู้เท่าทันเรื่องสังขารและโพยภัย
ไร้เลศนัยเห็นข้อดีว่าเป็นดี

** “ภาวะทางจิต” มีอิสระ
จากกิเลสที่จะมาเสียดสี
ไม่เป็นทาสของอารมณ์ที่ยวนยี
ไม่หวั่นไหวดุจเสาทีมั่นแข็งแรง

** “ภาวะทางการดำเนินชีวิต”
รักษาศีลเป็นนิจในทุกแห่ง
ให้สมบูรณ์ไม่เสียหายไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เคลือบแคลงเพราะกิเลสเป็นเหตุนำ

** การที่ทำให้แจ้งแห่งนิพพาน
เป็นมงคลในจักรวาลที่คมขำ
ทำให้พ้นจากทุกข์ไม่ระกำ
ปราศจากสิ่งมาตอกย้ำหรือย่ำยี

** เป็นผู้ไม่มีเวรกับใครใคร
ชีวิตดำเนินไปอย่างสุขี
ไม่มีความประมาทในชีวี
สิ้นภพไปไม่มีเกิดแก่ตาย

ความสงบ

** ภิกษุทั้งหลายฟังเรานะ
ในบรรดาธัมมะที่หลากหลาย
ไม่มีความสุขใดจะมากมาย
ที่จะคล้ายหรือเสมอ “สงบ” เลย

** ความสุขนี้มีอยู่ในตัวเรา
เพราะความเขลาจึงทิ้งไปเฉยเฉย
เอาแต่วุ่นวิ่งหาเพราะคุ้นเคย
นิจจาเอ๋ยไม่เคยจะไล่ตามทัน

** จะไม่พบความสุขที่แท้จริง
เพราะมัววิ่งตามอารมณ์เป็นอาถรรพ์
วุ่นกับกามกับกินและเกียรติกัน
จนลืมเรื่องสำคัญคือจิตตน

** ดวงจิตที่ผ่องใสหรือผ่องแผ้ว
ดุจดังแก้วเจียระไนไม่หมองหม่น
สามารถให้ความสุขแก่ทุกคน
ไม่ต้องมัววิ่งวนคอยไล่ตาม

** ผู้มองแต่ความเจริญของวัตถุ
ในใจร้อนระอุอย่างล้นหลาม
ไม่สงบเยือกเย็นเพราะไฟลาม
จมในความเหม็นคาวของโลกา

** เปรียบดังผู้ที่แบกซึ่งของหนัก
วิ่งโดยไม่หยุดพักเหนื่อยหนักหนา
เท้าวิ่งไปปากบ่นไปจนระอา
แต่ไม่วางลงมาเพื่อผ่อนปรน

** ดูกรบรรดาภิกษุทั้งหลาย
ในโลกนี้ที่วุ่นวายและสับสน
ใส่หน้ากากหลอกกันอลวน
โลกหมองหม่นเพราะพิษร้ายจนเรื้อรัง

** ดังอาคารดุจปราสาทแห่งกษัตริย์
มีลมพัดเย็นสบายทั่วทั้งหลัง
มีดนตรีเสียงเพลงกล่อมให้ฟัง
ไพเราะดังคนธรรพ์คอยบรรเลง

** ผู้คนที่อาศัยใจเร่าร้อน
ดุจนั่งนอนในกองไฟด้วยรีบเร่ง
ไม่มีสุขระแวงภัยให้หวั่นเกรง
ใจตัวเองหวาดผวาพาลุกลน

** ไม่สงบจิตใจไม่มีสุข
ต้องเจ่าจุกในปราสาทไร้กุศล
ผู้สงบอยู่โคนไม้ไม่ร้อนรน
มีความสุขมากล้นหาใดปาน

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #36 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 11:44:23 AM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๕  จิตไม่หวั่นไหว
(ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** คำ “จิตตะ” แปลว่านึกหรือคิด
ถ้าคิดถูกคือสุจริตดีไพศาล
ถ้าคิดผิดคือไม่ดีเหมือนมีมาร
คอยล้างผลาญให้โศกเศร้าร้าวระบม

** อันจิตนี้มีหน้าที่สามประการ
ตามหลักฐานบอกไว้อย่างเหมาะสม
มาเถิดหนาศึกษากันและชื่นชม
เพื่อเพาะบ่มจิตใจให้ใฝ่ดี

** หนึ่งทำหน้าที่นึกคิดหรือปรุงแต่ง
ตามวัตถุที่แสดงเป็นสักขี
เช่นสวยหรือไม่สวยที่เกิดมี
มาย่ำยีดวงจิตนิจนิรันดร์

** สองรับรู้อารมณ์ที่ผ่านมา
ทั้งทางหูทางตาพาไหวหวั่น
อีกทั้งลิ้นกายใจก็เหมือนกัน
สัมผัสพลันรับรู้ได้ทันที

** อันอารมณ์ทั้งหกยกมากล่าว
เป็นเรื่องราวต้องสัมผัสในทุกที่
คือรูปรสกลิ่นเสียงที่ยวนยี
โผฏฐัพพะมีธรรมารมณ์มา

** สามสั่งสมหรือเก็บสิ่งที่ทำ
พูดคิดเป็นประจำมากหนักหนา
ทั้งอารมณ์ต่างต่างชั่วชีวา
เก็บสะสมทุกคราตลอดกาล

** “โลกธรรม” ทำให้จิตหวั่นไหว
ซึ่งใครใครหลีกไม่ได้ในสงสาร
มีประจำกับชีวิตมาเนิ่นนาน
เวลาผ่านยังอยู่คู่โลกา

** โลกธรรมมีอยู่รวมแปดข้อ
แต่เมื่อย่อจะเป็นสองต้องศึกษา
คือฝ่ายที่ต้องการทุกเวลา
ภาษาธรรมเรียกว่า “อิฏฐารมณ์”

** คืออารมณ์ที่พีงปรารถนา
แยกออกมาสี่ประการล้วนสุขสม
คือได้ลาภได้ยศน่าชื่นชม
สรรเสริญสุขยอดนิยมของทุกคน

** “อนิฏฐารมณ์” คือธรรมตรงกันข้าม
เรียกตามตามกันว่าอกุศล
คือเสื่อมลาภเสื่อมยศรันทดทน
ถูกนินทาตกทุกข์จนเดือดร้อนใจ

** ธรรมเหล่านี้มีสภาพที่ไม่เที่ยง
ย่อมแปรปรวนสุดจะเลี่ยงไปทางไหน
ไม่แน่นอนแปรผันทุกวันไป
แล้วแต่ใครจะยอมรับกับความจริง

** ท่านผู้ใดมีสติมีปัญญา
ยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้ทุกทุกสิ่ง
ย่อมแปรเปลี่ยนไม่คงอยู่ให้พักพิง
ไม่หยุดนิ่งเป็นธรรมดาอย่ากังวล

** เมื่อใดที่อนิฏฐารมณ์มากระทบ
ก็สยบมันได้ไม่หมองหม่น
มีจิตไม่หวั่นไหวให้ร้อนรน
เรียกว่าคนมีจิตที่ฝึกแล้ว

เรื่อง  หมาจิ้งจอกขี้เรื้อน

** สมัยหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
เสด็จมาประทับอย่างผ่องแผ้ว
ณ พระเชตวันอันเพริดแพรว
ในเมืองแก้วสาวัตถีที่มั่นคง

** ทรงปรารภเรื่องลาภสักการะ
ซึ่งครอบงำหมู่พระภิกษุสงฆ์
ยกตัวอย่างหมาจิ้งจอกโดยจำนง
ซึ่งมันแก่ตัวลงที่เชตวัน

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเอ๋ย
เห็นไหมเอ่ยหมาจิ้งจอกที่ยืนนั่น
อาศัยอยู่ที่นี่มานานครัน
ตัวของมันเป็นขี้เรื้อนเปื้อนทั่วกาย

** มันเป็นสัตว์ที่ดูน่าสงสาร
ยืนตัวสั่นสะท้านน่าใจหาย
เมื่อมันอยู่ลานดินไม่สบาย
จึงได้ย้ายที่นอนเพื่อผ่อนปรน

** ไปอาศัยนอนอยู่โคนต้นไม้
หวังจะให้ดีขึ้นคงได้ผล
แต่ปรากฏว่าคิดผิดที่ดิ้นรน
สุดจะทนเหมือนกันกับวันวาน

** แม้จะเปลี่ยนที่นอนไปหลายที่
ก็ไม่มีที่ใดไม่ร้าวฉาน
ความเจ็บปวดไม่สบายทรมาน
มาก้าวร้าวรุกรานอยู่เหมือนเดิม

** เหมือนภิกษุบางรูปในศาสนา
ใช้ชีวิตกันมาอย่างฮึกเหิม
ติดในลาภสักการะจนเหิมเกริม
ไม่ฝึกเพิ่มความเพียรสิ่งควรทำ

** ผู้ที่ถูกลาภสักการะย่ำยีแล้ว
ก็ไม่แคล้วถูกตัณหามากระหน่ำ
จะนั่งนอนที่ไหนก็ระกำ
ต้องชอกช้ำเพราะทุกข์บุกทำลาย

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเอ๋ย
อย่ามัวเฉยให้ชีวิตล่มสลาย
ลาภสักการะทารุณและหยาบคาย
เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรม

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #37 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 11:53:51 AM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๖  จิตไม่โศก
(อโสกํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** จิตไม่โศกคือจิตไม่แห้งผาก
มีความชุ่มชื้นมากจนเย็นฉ่ำ
ไม่หดหู่ระทมด้วยผลกรรม
เพราะไม่ทำความชั่วตัวอัปรีย์

** จิตไม่โศกคือจิตที่หลุดพ้น
จากวังวนของวัฏฏะมาเสียดสี
ปราศจากราคะละราคี
ทั้งโทสะที่มีก็สิ้นไป

** อีกโลภะก็สละมันจนสิ้น
ไม่มีเหลือให้เกาะกินเกิดหวั่นไหว
จะไม่ติดในกามตัดสายใย
อกุศลบาปใดใดไม่ข้องมัน

** แม้อารมณ์ต่างต่างไม่เกี่ยวข้อง
ปล่อยให้ลอยละล่องไม่ใฝ่ฝัน
ละกิเลสละตัณหาสารพัน
ดังคำภควันต์ได้ตรัสมา

** ผู้ถึงธรรมไม่เศร้าโศกถึงความหลัง
ไม่ฝันเพ้อสิ่งที่ยังอยู่ข้างหน้า
คืออนาคตมองไม่เห็นอยู่ไกลตา
อยู่กับปัจจุบันดีกว่าอย่าดิ้นรน

** อีกนัยหนึ่งความโศกเกิดจากรัก
ถ้าห้ามหักเสียได้ไม่หมองหม่น
ผู้บรรลุนิพพานบันดาลดล
ให้หลุดพ้นจากรักที่ปักใจ

เรื่อง  น้ำตามากกว่าน้ำทะเล

** พระพุทธองค์ทรงประทับอย่างสุขสันต์
ณ พระเชตะวันวิหารใหญ่
ที่กรุงสาวัตถีเรืองวิไล
เพื่อจะได้แสดงธรรมเสริมปัญญา

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
โลกนี้ช่างวุ่นวายเสียหนักหนา
สัตว์ทั้งหลายต้องใช้กรรมที่ทำมา
ไปจนกว่าจะหมดกำหนดกรรม

** สังสารวัฏของสัตว์โลก
มีทั้งโศกทั้งสุขทุกข์ร้องร่ำ
ต้องวนเวียนเปลี่ยนไปเป็นประจำ
ล้วนแต่เป็นสัจธรรมไม่ว่าใคร

** สังสารวัฏยาวไกลตั้งเหลือหลาย
ไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาอยู่ที่ไหน
เพราะสรรพสัตว์เกิดตายมีทั่วไป
นับไม่ได้ว่ากี่ชาติกี่ภพกัน

** ภิกษุทั้งหลายพวกเธอคิดอย่างไร
น้ำตาของสัตว์ที่ไหลเพราะโศกศัลย์
ต้องคร่ำครวญร้องไห้อยู่ทุกวัน
ในแต่ละชาตินั้นมีมากมาย

** มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร
อันกว้างใหญ่ที่สุดไร้จุดหมาย
ซึ่งเกิดจากความทุกข์มากล้ำกราย
เพราะการเจ็บการตายเป็นตัวการ

** พวกข้าพระองค์เคยได้ศึกษา
ตามพระองค์สั่งสอนมาเป็นพื้นฐาน
ว่าน้ำตาสรรพสัตว์ในจักรวาล
มีมากเกินประมาณจะคำนวณ

** ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเกิดแล้วต้องตายสุดถ่ายถอน
เสียน้ำตาเพราะพ่อแม่มาม้วยมรณ์
มากกว่าน้ำในสาครทั่วโลกา

** อีกทั้งญาติหลายหลากก็ไม่น้อย
ที่พวกสัตว์ต้องคอยละห้อยหา
เมื่อพวกเขาละโลกเศร้าโสกา
ก็ต้องเสียน้ำตาด้วยอาลัย

** นอกจากนี้ยังมีอีกนานับ
ความทุกข์โศกที่ได้รับเกินสงสัย
มากัดกินรุมเร้าในฤทัย
จนตลอดอายุขัยไม่สร่างเซา

** ความเสื่อมลาภโรคภัยมาเบียดเบียน
อุตส่าห์เพียรค้าขายก็เงียบเหงา
จะทำไร่ไถนาสุดบรรเทา
เป็นรากเหง้าของการเสียน้ำตา

** ภิกษุเอ๋ย  รู้แล้วไฉนหนอ
จึงไม่หยุดไม่พอเสน่หา
ในสังสารวัฏที่เกิดมา
เพราะมันพาให้หลงวงเวียนมาร

** ด้วยเหตุนี้ควรที่สัตว์ทั้งหลาย
ควรคิดจะเบื่อหน่ายในสังขาร
ที่เกิดเกิดตายตายอีกแสนนาน
อีกกี่ชาติจึงพ้นผ่านทุกข์ทั้งปวง

** จิตไม่โศกเป็นมงคลผลดีนัก
จะประจักษ์ได้ด้วยใจไม่ต้องห่วง
รับรองว่าดีจริงจริงมิใช่ลวง
มีผลพวงอีกมากมายเล่าให้ฟัง

** ทำให้จิตมั่นคงดุจดังเขื่อน
ความทุกข์เลือนการเกิดสิ้นดังที่หวัง
ด้วยกิเลสต้นเหตุเกิดมาภินท์พัง
ผลของมันถูกยับยั้งให้สิ้นเชื้อ

** เป็นที่สักการะและเคารพ
แก่ผู้ที่ได้พบอย่างล้นเหลือ
อีกทั้งเทวดาไม่คลุมเครือ
เพราะเขาเชื่อความหมดจดของจิตใจ

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #38 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 12:02:02 PM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๗  จิตหมดธุลี
(วิรชํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ธุลี คือกิเลสเหตุหมองเศร้า
คอยรุมเร้าให้เดือดร้อนนอนไม่ไหว
ต้องร้อนรุ่มทั้งภายนอกและภายใน
คอยลวกไหม้จนวอดวายตายทั้งเป็น

** ทีสำคัญมีอยู่สามประการ
จะไขขานยกมาให้ได้เห็น
หลีกให้พ้นหนีให้ไกลไม่ลำเค็ญ
ก็จะเป็นผู้หมดจดจากธุลี

** หนึ่ง “โลภะ ความโลภ” หรืออยากได้
ซึ่งทรัพย์สินน้อยใหญ่เป็นเศรษฐี
อันความโลภความอยากได้เมื่อเกิดมี
จะรวมตัวเป็นธุลีคอยกัดกิน

** สอง “โทสะ ความโกรธ” พยาบาท
ความเจ็บแค้นอาฆาตและหยามหมิ่น
คิดปองร้ายเดือดดาลเป็นอาจิณ
ทำลายสิ้นความดีที่เคยทำ

** สาม “โมหะ ความหลง” ความเห็นผิด
เป็นยาพิษตัวร้ายคอยกระหน่ำ
ความถือตัวความฟุ้งซ่านเกิดประจำ
ความไม่รู้สัจธรรมเฝ้ารุกราน

** ใจหมดธุลีคือใจหมดกิเลส
ซึ่งเป็นเหตุทำลายหลายสถาน
ให้หมดสิ้นเปรียบได้ดังตัวมาร
สามประการข้างต้นให้พ้นไป

** การปฏิบัติเพื่อกำจัดธุลี
ต้องศึกษาให้ดีเพราะเรื่องใหญ่
ถ้าทำได้กิเลสหนีไปไกล
คงเหลือไว้ความผ่องแผ้วในกมล

** ไตรสิกขาคือข้อธรรมต้องศึกษา
เพื่อนำมากำจัดจะได้ผล
ธุลีจะหมดไปไม่ร้อนรน
เชิญทุกคนลองมาศึกษากัน

** ไตรสิกขามีอยู่รวมสามข้อ
เป็นรากฐานตัดตอได้คงมั่น
ความวุ่นวายภายในสิ้นไปพลัน
คงมีสุขทุกวันตลอดกาล

** “ศีล” ทำให้กายวาจานั้นเรียบร้อย
ไม่ด่างพร้อยด้วยมลทินสิ้นร้าวฉาน
ชีวิตจะมีสุขทุกวันวาร
เพราะตัวการไม่กล้ามารบกวน

** ศีลสามารถกำจัดกิเลสหยาบ
ไม่ให้มาจ้วงจาบจนผันผวน
ไม่มีศีลกายวาจาถูกลามลวน
ด้วยกิเลสคอยกวนไม่เบิกบาน

** “สมาธิ” คือภาวะจิตที่สงบ
จะได้พบความจริงของสังขาร
ว่าเป็นทุกข์ไม่เที่ยงไม่ยืนนาน
ภาวะกาลไม่แน่นอนเปลี่ยนได้ไว

** ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองไม่ร้อนรุ่ม
คอยควบคุมกิเลสอย่างกลางได้
จะอิ่มเอิบร่าเริงสิ้นเยื่อใย
และอยู่ในภาวะที่สมดุล

** “ปัญญา” ความรอบรู้อริยสัจ
รู้วิธีการตัดความเคืองขุ่น
อีกทั้งตัดกิเลสขาดเป็นจุณ
เป็นธรรมที่ให้คุณกับทุกคน

** ปัญญาขจัดกิเลสอย่างละเอียด
ไม่ให้เฉียดเข้าใกล้ในทุกหน
เพราะรู้เห็นตามเป็นจริงไม่วกวน
จะหลุดพ้นจากกิเลสเหตุรัดรึง

** จิตปราศจากธุลีแสนดีนัก
พบโมกขธรรมพึงประจักษ์ยากเข้าถึง
เป็นผู้ไม่หวั่นไหวไม่พรั่นพรึง
คอยทำลายเครื่องรัดรึงอันตรธาน

เรื่อง  ที่ใดมีความรักที่นั่นมีทุกข์

** ครั้งเมื่อองค์สมเด็จพระชินศรี
ประทับที่บุพพารามพระวิหาร
ใกล้นครสาวัตถีเมื่อมินาน
พร้อมด้วยบริวารติดตามมา

** ในกาลนั้นอุบาสิกาใหญ่
เป็นผู้มีน้ำใจชื่อวิสาขา
เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระศาสดา
ด้วยใบหน้าเศร้าโศกวิโยคครวญ

** เนื่องด้วยหลานรักถึงตักษัย
ประสพภัยเจ็บไข้อาลัยหวน
ยังตัดใจไม่ได้ให้รัญจวน
โอ้เนื้อนวลจากไปไม่กลับคืน

** พระพุทธองค์ตรัสถามเนื้อความว่า
ดูก่อนวิสาขาเธออย่าฝืน
ชีวิตของคนเราไม่ยั่งยืน
เวลาย่อมจะกลืนชีวิตคน

** ได้ยินว่าเธอมีความปรารถนา
ให้ลูกหลานเกิดมาเป็นห่าฝน
มีจำนวนมากมายหลายหมื่นคน
เท่าจำนวนประชาชนในนคร

** ใช่เจ้าค่ะ พระองค์โปรดทรงทราบ
ข้าพระองค์ขอกราบช่วยสั่งสอน
พระองค์โปรดพิจารณาเป็นขั้นตอน
อย่าอาทรความนึกคิดข้าพระองค์

** พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูก่อนวิสาขาเธออย่าหลง
เธอทราบไหมจำนวนคนที่ปลดปลง
ในนครต้องตายลงวันเท่าไร

** วิสาขากราบทูลพระศาสดา
ในพาราสาวัตถีทั้งไกลใกล้
ต้องพบความเศร้าโศกและเสียใจ
เพราะมีคนตายไปทุกทุกวัน

** พระพุทธองค์จึงตรัสวิสาขา
ตามที่เธอกล่าวมาถูกแล้วนั่น
เธอต้องซับน้ำตาชั่วนิรันดร์
เพราะลูกหลานเธอนั้นต้องมาตาย

** เมื่อรักมากความทุกข์ก็มีมาก
ความพลัดพรากเกิดทุกข์ความสุขหาย
ถ้ารักร้อยทุกข์ร้อยไม่ผ่อนคลาย
รักมลายหายสิ้นทุกข์ภินท์พัง

** คนผู้ใดไม่มีสิ่งเป็นที่รัก
ผู้นั้นจักไม่มีทุกข์เป็นบ่อฝัง
ให้ติดในสังสารวัฏทรงพลัง
เป็นทาสของอนิจจังอนัตตา

** เรากล่าวว่าไม่มีทุกข์ไม่เศร้าโศก
เปรียบดังโลกได้รับการรักษา
หมดกิเลสดุจธุลีชั่วชีวา
ทั้งโลกนี้โลกหน้าสุขสำราญ

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #39 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 12:17:10 PM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
มงคลที่ ๓๘  จิตเกษม
(เขมํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** จิตเกษม คือปลอดภัยจากกิเลส
ซึ่งเป็นเหตุให้ผ่องใสไม่เผาผลาญ
เพราะกิเลสถูกทำลายจนแหลกลาญ
ด้วยโยคะสี่ประการถูกตัดไป

** โยคะคือเครื่องผูกให้สังขาร
ต้องวนเวียนทรมานในห้วงใหญ่
คือวัฏฏะสงสารที่กว้างไกล
ต้องขจัดให้ได้จะร่มเย็น

** “กามโยคะ” เครื่องผูกคือความใคร่
หรือพอใจกามคุณวุ่นเหลือเข็ญ
มีความอยากในรูปรสทุกประเด็น
และกลิ่นเสียงก็ไม่เว้นอีกมากมาย

** “ภวโยคะ” เครื่องผูกคือความยินดี
เพราะอยากเป็นอยากมีอย่างเหลือหลาย
ติดในภพคือเกิดแก่และตาย
ต้องวุ่นวายวนเวียนเปลี่ยนไปมา

** “ทิฏฐิโยคะ” เครื่องผูกคือความเห็น
เห็นผิดเป็นเรื่องถูกเศร้าหนักหนา
ตัวอย่างเช่นเห็นสังขารเป็นอัตตา
หรือเห็นว่าสังขารเที่ยงแน่นอน

** “อวิชชาโยคะ” คือความบอด
ขาดปัญญาพาวายวอดสุดทอดถอน
ไม่รู้เหตุไม่รู้ผลทนร้าวรอน
ชีวิตต้องสั่นคลอนนอนไม่ลง

** โยคะนี้เปรียบได้เชือกสี่เกลียว
ผูกรัดอย่างแน่นเหนียวให้ไหลหลง
ในโลกีย์วิสัยอย่างมั่นคง
 หนีจากวงล้อมของภัยไม่ได้เลย

** ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น
จวบสูญฟ้าสิ้นดินอย่านิ่งเฉย
รีบตัดขาดจากโยคะจะเสบย
หวังเกาะเกยสวรรค์ชั้นวิมาน

** จิตเกษมเป็นมงคลกุศลนัก
ปราศจากทุกข์สุขประจักษ์ทุกสถาน
เป็นสาวกที่สมบูรณ์ควรกราบกราน
เป็นแบบอย่างของวงศ์วานองค์พุทธา

** หมดเหตุและปัจจัยแห่งการเกิด
เป็นสิ่งที่ประเสริฐเกินจักหา
พบขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ในโลกา
สูงคุณค่าที่สุดดุจจักรวาล

เรื่อง  ธรรมะมีค่าดังทอง

** อดีตกาลผ่านมาหลายพันปี
ณ กรุงพาราณสีอันไพศาล
มีชาวนาคนขยันทำการงาน
ไม่ปล่อยเวลาผ่านอย่างเลื่อนลอย

** ได้จับจองที่ดินซึ่งรกร้าง
เป็นที่ดินปล่อยว่างไม่ใช้สอย
เพื่อถากถางเป็นที่นาไว้รอคอย
ปลูกข้าวกล้าพอได้พลอยอาศัยกิน

** อันที่ว่างแห่งนี้มีประวัติ
ปรากฏชัดของเศรษฐีดังถวิล
ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบนที่ดิน
จวบจนได้ย้ายถิ่นเมื่อก่อนนั้น

** ชายหนุ่มได้ออกไปเพื่อไถนา
เป็นประจำทุกวันมาอย่างมุ่งมั่น
ครั้นวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์
ผานไถชะงักงันหยุดทันที

** คล้ายกับติดท่อนไม้ที่ฝังอยู่
เพราะอยากรู้รีบขุดอย่างเร็วรี่
พบแล้วจึงรีบคว้าไม่รอรี
เอ๊ะ....มันทองหรือนี่น่าแปลกจัง

** ตามประวัติกล่าวว่าทองคำนี้
เป็นของท่านเศรษฐีในหนหลัง
ด้วยกลัวจะไม่ปลอดภัยต้องระวัง
จึงได้ฝังเอาไว้ให้ไกลตา

** ชายชาวนาตั้งใจเอากลับบ้าน
แต่แท่งใหญ่เกินการราวหินผา
จึงแบ่งเป็นสี่ส่วนด้วยเจตนา
จะจัดสรรให้คุ้มค่าตามสมควร

** ส่วนที่หนึ่งขายนำทรัพย์มาเลี้ยงตัว
พร้อมทั้งเลี้ยงครอบครัวอย่างครบถ้วน
ส่วนที่สองฝังไว้ไม่เรรวน
 ยามขัดสนได้หวนเอาไปกิน

** ส่วนที่สามเป็นทุนเพื่อค้าขาย
หากำไรใช้จ่ายเพิ่มทรัพย์สิน
ส่วนที่สี่ทำบุญล้างราคิน
ให้ตระหนี่สูญสิ้นหมดจากใจ

** ชายชาวนาไม่บอกให้ใครรู้
การเป็นอยู่ก็เหมือนเดิมไม่หลงใหล
ไม่ลืมตัวใช้จ่ายผ่องอำไพ
จนใครใครคิดว่ารวยด้วยทำงาน

** พระพุทธองค์จึงตรัสพระคาถา
ใจความว่าชนใดมีพื้นฐาน
บำเพ็ญธรรมเป็นกุศลอย่างสำราญ
จิตเบิกบานสดใสและร่าเริง

** ชนนั้นพึงบรรลุสิ้นสังโยชน์
เป็นประโยชน์จิตเกษมอย่ามัวเหลิง
อีกโยคะทั้งหลายเปรียบดังเพลิง
จะมอดไหม้สิ้นเชิงหมดเชื้อไฟ

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์

บันทึกการเข้า

นักกลอนตลาด ที่ผิดพลาดเรื่องสัมผัสเป็นนิสัย
คะแนนน้ำใจ 1621
เหรียญรางวัล:
มีความคิดสร้างสรรค์นักโพสดีเด่น
กระทู้: 246
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สร้างความฝันอันละไมในบทกลอน"
อีเมล์
   
« ตอบ #40 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2559, 12:25:51 PM »

Permalink: Re: *** มงคล ๓๘ ประการคำกลอน ***




มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
บทส่งท้าย

** หลังจากที่องค์สมเด็จพระศาสดา
จบการแสดงเทศนาทรงผ่องใส
รัศมีแผ่ดังทองเป็นยองใย
เป็นที่พึ่งของเวไนยสัตว์ทั้งปวง

**อันหมู่เทวดาและมนุษย์
รับประโยชน์สูงสุดอย่างใหญ่หลวง
ได้กระทำมงคลชื่นฉ่ำทรวง
จนสำเร็จลุล่วงมีในตน

** จึงเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในทุกที่
กิเลสตัณหาไม่มีเป็นกุศล
จิตสะอาดผ่องใสไร้กังวล
ความมืดมนเพราะโอฆะก็มลาย

** ถึงความสุขสดใสในชีวิต
ปลอดภัยจากมลพิษบาปทั้งหลาย
เจริญธรรมสั่งสมบุญไม่วุ่นวาย
นรกไม่กล้ำกรายหมายนิพพาน

** ทั้งหมดนี้ประโยชน์ของมงคล
จะให้ผลสูงค่ามหาศาล
แสนประเสริฐเลิศล้นจักรวาล
พระพุทธองค์ทรงประทานเพื่อโลกา

** พระพุทธองค์ได้ตรัสเพื่อทิ้งท้าย
การที่สัตว์ทั้งหลายปรารถนา
ได้กระทำมงคลดังกล่าวมา
เป็นผู้ปราบปัจจาให้พ่ายแพ้

** ถึงความสวัสดีทุกสถาน
จะชนะหมู่มารได้เป็นแน่
มีความสุขเริงรื่นชื่นดวงแด
เป็นเพชรแท้ของชาวโลกโชคอำนวย

** ขอขอบคุณที่อ่านผลงานนี้
ดีไม่ดีชมว่าสำนวนสวย
ขอให้ท่านผู้อ่านจงร่ำรวย
อุดมด้วยธัมมะพระพุทธองค์

** ปรารถนาสิ่งไหนได้สิ่งนั้น
สำเร็จพลันตามที่ใจประสงค์
มีฐานะการงานที่มั่นคง
เงินทองจงมากมีตามที่ปอง

** ตั้งมั่นในองค์ธรรมคำสั่งสอน
ของบวรพุทธศาสนาอย่าเป็นสอง
ให้แสงธรรมนำส่องใจใสเรืองรอง
บรรดาผองชาวไทยจงไพบูลย์

ด้วยความปรารถนาดี  จาก
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา


สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา

ข้อมูล : ๑. มังคลัตถทีปนี  เล่ม ๑–เล่ม ๒  ๒. มงคล ๓๘ ประการ  สำหรับนักเรียน  สำนักพิพ์ธรรมสภา  ๓. มงคลแห่งชีวิต  โดย ศิลาแลง  หจก. อรุณการพิมพ์


บันทึกการเข้า

หน้า: 1 2 [3]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: