-/> โรค เบาจืด

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: โรค เบาจืด  (อ่าน 2484 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
คะแนนน้ำใจ 2774
เหรียญรางวัล:
นักอ่านยอดเยี่ยม
กระทู้: 201
ออฟไลน์ ออฟไลน์
   
« เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2560, 04:28:18 PM »

Permalink: โรค เบาจืด


โรคเบาจืด
เบาจืด (Diabetes insipidus – DI) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายได้ จึงทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะออกครั้งละมาก ๆ ร่วมกับมีอาการกระหายน้ำมากคล้ายโรคเบาหวาน

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดทางสมองมากกว่า โดยจะพบได้ประมาณ 1 ราย ต่อประชากร 25,000 คน หรือประมาณ 3 ราย ต่อประชากร 100,00 คน สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน ส่วนมากมักพบเกิดในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นเด็กโต

สาเหตุของโรคเบาจืด
การควบคุมปริมาณของปัสสาวะในภาวะปกติจะขึ้นอยู่กับฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะที่มีชื่อว่า “เอดีเอช” (Antidiuretic hormone – ADH) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เวโซเพรสซิน” (Vasopressin) ซึ่งปกติแล้วฮอร์โมนเอดีเอชนี้จะสร้างจากสมองส่วนลึกในชั้น “ไฮโปทาลามัส” (Hypothalamus) และถูกนำมาเก็บไว้ที่กลีบหลังของต่อมใต้สมองส่วนหลัง (Posterior lobe of the pituitary gland) เพื่อหลั่งออกมาควบคุมการทำงานของไตให้ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายให้อยู่ในระดับสมดุล ไม่ปล่อยออกมาเป็นปัสสาวะทั้งหมด แต่ทั้งนี้การทำงานของกระบวนการนี้จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อไตมีสภาพเป็นปกติด้วย เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอชได้

จะเห็นได้ว่ากลไกการกักเก็บน้ำของร่างกายจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของไตและฮอร์โมนเอดีเอชจากต่อมใต้สมอง แต่เมื่อสมดุลในกระบวนการนี้เกิดเสียไป โดยที่ตัวใดตัวหนึ่งเกิดบกพร่องในหน้าที่หรือทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนเอดีเอชได้น้อยกว่าปกติ (เกิดจากความผิดปกติในสมอง ซึ่งพบได้เป็นส่วนมาก) หรือเกิดจากเซลล์ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอช (เกิดจากความผิดปกติในไต ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย) ไตก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำเข้ากลับเข้าสู่ร่างกายได้ ปริมาณของปัสสาวะจึงเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ส่วนปริมาณของปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค




โดยสาเหตุของโรคเบาจืดเกือบทั้งหมดจะมาจากความผิดปกติทางสมอง ซึ่งในกลุ่มนี้
ประมาณ 30% จะไม่ทราบสาเหตุ
ประมาณ 25-30% จะเกิดจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง (รวมทั้งของต่อมใต้สมอง)
ประมาณ 20% จะเกิดจากการผ่าตัดสมองบริเวณใกล้ต่อมใต้สมองเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ
ประมาณ 15% จะเกิดจากอุบัติเหตุทางสมอง
และที่เหลืออีกประมาณ 5-10% จะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้าง (พบได้น้อย) เช่น

เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (พบได้ทั้งเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติทางสมองหรือความผิดปกติทางไต)
โรคไตอักเสบชนิดเรื้อรัง เช่น กรวยไตอักเสบ โรคถุงน้ำในไตชนิดหลายถุง (Polycystic kidney disease)
โรคมะเร็งบางชนิดที่แพร่กระจายมาสมอง เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งปอด
สมองอักเสบติดเชื้อ เช่น จากวัณโรค โรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม (Lithium) ซึ่งเป็นยารักษาโรคทางจิตประสาท, ยาเมทิซิลลิน (Meticillin) ซึ่งเป็นยารักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย, ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) ซึ่งเป็นยากันชัก, ยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น
การขาดสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ร่างกายมีแคลเซียม (Calcium) ในเลือดสูง หรือมีโพแทสเซียม (Potassium) ในเลือดต่ำ
การตั้งครรภ์ ดังที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป

ชนิดของโรคเบาจืด
เบาจืดสามารถแบ่งตามกลไกการเกิดออกได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้
ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง (Central/Neurogenic diabetes insipidus) เป็นชนิดที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากพยาธิสภาพหรือโรคในสมองที่ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเอดีเอชลดน้อยลง เช่น การผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือจากอุบัติเหตุทางสมอง มีเนื้องอกในบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น (ชนิดนี้ในบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้)

ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในไต (Nephrogenic diabetes insipidus) เป็นชนิดที่พบได้น้อยและสำคัญรองมา ทำให้ไตไม่ตอบสนองหรือตอบสนองได้น้อยต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนเอดีเอช (ทั้ง ๆ ที่ต่อมใต้สมองยังสร้างได้เป็นปกติ) จึงทำให้มีการขับปัสสาวะออกมามาก เช่น เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (ไตผิดปกติมาแต่กำเนิด โดยที่แพทย์เองก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และพบว่าบ่อยครั้งที่คนในครอบครัวเดียวกันมีอาการไตผิดปกติ ส่วนมากผู้ป่วยกลุ่มนี้ตอนแรกเกิดมักจะไม่แสดงอาการของเบาจืดเท่าใดนัก โดยมากมักจะมาแสดงอาการตอนเมื่ออายุได้ประมาณ 1-3 ขวบ หรือบางรายก็มาแสดงเอาตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็มี), กรวยไตอักเสบเรื้อรัง, ภาวะไตวายเรื้อรัง, โรคถุงน้ำในไตชนิดหลายถุง (Polycystic kidney disease) หรือจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น

ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus) เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก ๆ โดยเกิดจากความผิดปกติของสมองไฮโปทาลามัส ซึ่งนอกจากจะสร้างฮอร์โมนเอดีเอชและฮอร์โมนอีกหลายชนิดแล้ว ยังมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์และจิตใจด้วย ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติทางอารมณ์หรือจิตใจที่ก่อให้เกิดการกระหายน้ำอย่างมาก ผู้ป่วยก็จะดื่มน้ำในปริมาณมหาศาล จึงส่งผลให้ปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป

ชนิดที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus) เป็นชนิดที่พบได้น้อยมากเช่นกัน โดยเกิดจากในขณะตั้งครรภ์รกจะสร้างเอนไซม์ชื่อ Vasopressinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายฮอร์โมนเอดีเอช ซึ่งหากร่างกายมีการสร้างเอนไซม์ชนิดนี้ในปริมาณมาก ๆ ก็จะส่งผลให้ปริมาณฮอร์โมนเอดีเอชลดลงด้วย จึงทำให้ไตดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายน้อยลง ปัสสาวะจึงมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งโรคเบาจืดจากสาเหตุนี้จะหายได้เองภายหลังการคลอดบุตรแล้ว

อาการของโรคเบาจืด
ผู้ป่วยเบาจืด (ไม่ว่าจะเกิดจากเบาจืดชนิดใดก็ตาม) จะมีอาการปัสสาวะปริมาณมากและบ่อยครั้ง ร่วมกับกระหายน้ำมากและดื่มน้ำมาก ชอบดื่มน้ำเย็นเป็นพิเศษ และปากมักแห้งอยู่เสมอ โดยจะมีอาการอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ในช่วงนอนหลับตอนกลางคืนก็มักจะลุกขึ้นมาปัสสาวะและดื่มน้ำอยู่หลายครั้ง ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะวันละเกิน 5 ลิตร ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจถึงวันละ 20 ลิตร (ซึ่งคนปกติจะปัสสาวะเพียงวันละประมาณ 1-2 ลิตร) โดยปัสสาวะที่ออกมาจะไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และมีรสจืด จึงเรียกโรคนี้กันว่า “โรคเบาจืด” (สาเหตุมาจากการดื่มน้ำในปริมาณมากจนส่งผลให้สารต่าง ๆ ที่ก่อสีและกลิ่นในปัสสาวะเจือจางลงมากจนปัสสาวะเกือบมีลักษณะเหมือนน้ำแท้ ๆ)




นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ

อ่อนเพลีย เพราะต้องตื่นมาปัสสาวะบ่อยครั้ง ทำให้ขาดการพักผ่อน และมาจากการเสียเกลือแร่ไปในน้ำปัสสาวะ (ถึงแม้ปัสสาวะจะเจือจางลง แต่ผลรวมทั้งหมดจะมีปริมาณเกลือแร่ในปัสสาวะสูง)
ปัสสาวะรดที่นอน เนื่องจากกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากการมีปัสสาวะในปริมาณมาก
อาการปวดบริเวณเอวและท้องน้อย บางครั้งเมื่อปัสสาวะที่รอการขับถ่ายออกจากร่างกายมีปริมาณมาก ๆ จะไปคั่งอยู่ในระบบขับถ่ายปัสสาวะแถวบริเวณท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ทำให้อวัยวะเหล่านี้ถ่างและโตขึ้น ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดบริเวณเอว ท้องน้อย ร่วมด้วยก็ได้
อาการที่เกิดจากภาวะขาดน้ำ เพราะสูญเสียน้ำมากจากการปัสสาวะ ทำให้ตาลึกโหล ปากคอแห้ง ผิวแห้ง มึนงง วิงเวียนศีรษะ อาจสับสน ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
อาการที่เกิดจากภาวะร่างกายขาดสมดุลของเกลือแร่ คือ วิงเวียนศีรษะ สับสน ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว
อาการที่เกิดจากสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาจืด โดยอาการจะขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุที่เป็น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น อาการจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง, อาการจากโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่แพร่กระจายมายังสมองดังที่กล่าวไปแล้ว, อาการจากโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
ความรุนแรงของโรคเบาจืดนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น อาการจะหายได้เมื่อเกิดจากการแพ้ยา หรือถ้าไม่ทราบสาเหตุก็เพียงแต่จะทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลงโดยไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ถ้าเกิดจากเนื้องอกและมะเร็งสมอง หรือโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่แพร่กระจายมายังสมอง ความรุนแรงของโรคก็จะสูงมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาจืด
ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงจนภาวะช็อกหรือหมดสติ หรือทำให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูง (Hypernatremia) ได้
ตราบใดที่ผู้ป่วยยังคงสามารถดื่มน้ำทดแทนได้เพียงพอก็จะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น เว้นแต่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกหรือเกิดความรำคาญบ้างที่ต้องดื่มน้ำ และปัสสาวะบ่อย ๆ
เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำไปมาก ผลที่ตามมาคือ ผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำมาก และถ้าดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไปไม่ทัน ร่างกายก็จะเกิดภาวะขาดน้ำ อาจจะมีอาการซึม ไม่รู้สึกตัว ช็อกหรือหมดสติไปในที่สุด แต่โดยธรรมชาติแล้วร่างกายสามารถทดแทนได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น ผู้ป่วยจึงมักไม่มีภาวะขาดน้ำมากจนถึงขั้นช็อกหรือหมดสติ ส่วนในรายที่สลบไปด้วยสาเหตุอื่น เช่น การวางยาสลบในขณะผ่าตัดหรือเกิดจากอุบัติเหตุทางสมองโดยไม่รู้ตัว โดยที่แพทย์ผู้ดูแลก็ไม่ทราบมาก่อนว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาจืด ผู้ป่วยรายนั้นอาจจะขาดน้ำไปมากทางปัสสาวะ จนความดันโลหิตต่ำ และช็อกไปก็ได้

การวินิจฉัยโรคเบาจืด
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการสอบถามประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาโรคต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการรับประทานยาต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด (เพื่อแยกจากโรคเบาหวาน ดูค่าเกลือแร่ต่าง ๆ และดูค่าฮอร์โมนเอดีเอช) และจากการตรวจปัสสาวะ (เพื่อดูค่าความถ่วงจำเพาะ ซึ่งมักจะพบว่ามีความถ่วงจำเพาะต่ำ (< 1.010) ในภาวะเบาจืด)

นอกจากนั้น อาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อแยกชนิดของเบาจืด เช่น การการตรวจเลือดและปัสสาวะในภาวะอดน้ำ (Water deprivation test) หรือฉีดฮอร์โมนเอดีเอช (Vasopressin test) กระตุ้นเพื่อดูการตอบสนองของไต ส่วนในรายที่สงสัยว่ามีสาเหตุเกี่ยวกับสมอง อาจต้องตรวจสมองด้วยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อดูรอยโรคหรือก้อนเนื้องอกในสมอง ทั้งนี้การตรวจด้วยวิธีเฉพาะเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์
สำหรับการทดสอบ Water deprivation test นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล โดยให้อดน้ำแล้วตรวจดูออสโมลาริตี (Osmolarity) ของเลือดและปัสสาวะ รวมทั้งความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะเป็นช่วง ๆ แล้วทำการฉีดฮอร์โมนเอดีเอช หลังจากนั้นตรวจเลือดและปัสสาวะซ้ำเพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงของผลการตรวจเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยเบาจืดโดยส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ นอกจากในรายที่ดื่มน้ำน้อย ที่อาจมีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือมีไข้ได้ ส่วนในรายที่เป็นเบาจืดที่มีสาเหตุมาจากเนื้องอกในสมอง อาจมีอาการแสดงของการขาดฮอร์โมนตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนต่อมหมวกไต หรือฮอร์โมนเพศ เป็นต้น

เบาจืดกับเบาหวานต่างกันอย่างไร ?
เบาจืด (Diabetes insipidus) เป็นคนละโรคกับเบาหวาน (Diabetes mellitus) เพียงแต่มีชื่อพ้องกันเพราะมีความผิดปกติในปัสสาวะด้วยกันทั้งคู่ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาจืด ซึ่งการแยกโรคทั้ง 2 นี้ ในเบื้องต้นสามารถกระทำได้โดยการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบลักษณะจำเพาะของโรคแต่ละโรค ถ้าเป็นเบาจืดจะตรวจไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะและปัสสาวะจะมีความถ่วงจำเพาะอยู่ระหว่าง 1.001-1.005 (ซึ่งคนปกติทั่วไปจะมีความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1.015) ปัสสาวะไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่ได้มีเกลือแร่ และมีรสจืด ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานนั้นจะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ (ซึ่งคนปกติจะไม่มีน้ำตาลในปัสสาวะ) และตรวจเลือดพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง

วิธีรักษาโรคเบาจืด
หากสงสัยว่าเป็นโรคเบาจืด (มีอาการปัสสาวะมากและบ่อย ร่วมกับกระหายน้ำมาก) ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากตรวจพบว่าเป็นโรคเบาจืด ถ้าแพทย์ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจนและสามารถแก้ไขได้ แพทย์ก็ให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น การรักษาเนื้องอกและมะเร็งสมอง การรักษากรวยไตอักเสบเรื้อรัง การรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การหยุดยาหรือเปลี่ยนยาเมื่อเบาจืดเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น

การรักษาไปตามชนิดของเบาจืด เช่น
การให้ยาที่ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอดีเอช ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทาน ฉีด และพ่นจมูก เมื่อเบาจืดมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางสมองและมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนเอดีเอชมีปริมาณลดลง
การให้ยาขับน้ำเมื่อเป็นเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในไต โดยตัวยาจะมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นให้เซลล์ไตตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอชได้ดีขึ้น
การจำกัดน้ำดื่มร่วมกับการรักษาทางจิตเวชเมื่อเป็นเบาจืดชนิดที่เกิดจากการกระหายน้ำมาก ๆ
การรักษาภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ เมื่อเบาจืดมีสาเหตุมาจากการเสียสมดุลของเกลือแร่
ในกรณีที่แพทย์ตรวจหาสาเหตุไม่พบ การรักษาจะเป็นเพียงการรักษาไปตามอาการ
ในรายที่มีอาการปัสสาวะไม่บ่อยมาก คือประมาณวันละ 2-3 ลิตร แนะนำให้ดื่มน้ำทดแทนให้เพียงพอก็พอแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
ถ้ามีอาการรุนแรง ปัสสาวะบ่อยมาก กระหายน้ำบ่อย กรณีนี้จำเป็นต้องใช้ยาช่วยเพื่อลดปริมาณและจำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะ โดยอาจให้ยาชนิดรับประทาน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide), โคลไฟเบรต (Clofibrate), ยาขับปัสสาวะไทอะไซด์ (Thiazide diuretics), อินโดเมทาซิน (Indomethacin) เป็นต้น หรือใช้ยาในกลุ่มฮอร์โมนเอดีเอชหรือเวโซเพรสซิน (Vasopressin) ชนิดฉีดเข้ากล้ามหรือพ่นจมูก ซึ่งต้องใช้เป็นประจำทุกวันตลอดไป ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาจืด ควรปฏิบัติดังนี้

ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
รับประทานยาหรือใช้ยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ้ามหยุดยาหรืองดยาเองเมื่ออาการหายไป เพราะโรคนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้เลยถ้ายังไม่แก้ที่สาเหตุ ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาควบคู่อยู่เสมอ
ผู้ป่วยควรสอบถามถึงผลข้างเคียงของยาจากแพทย์ด้วย เพราะยาที่ใช้รับประทานควบคุมอาการเบาจืดหลายตัวอาจมีผลแทรกซ้อนบางอย่าง ถ้าเรารู้ผลแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะได้เตรียมปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เช่น ยาบางตัวมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และอาหารที่รับประทานควรมีแป้งและน้ำตาลอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นจะทำให้ร่างกายขาดน้ำตาลได้ หรือยาบางตัวมีผลทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
ผู้ป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำสะอาดบริสุทธิ์ให้เพียงพอ ไม่มากไปหรือน้อยไป และพกน้ำเอาไว้ติดตัวอยู่เสมอ โดยให้ดื่มในช่วงเช้าและกลางวันให้มากกว่าช่วงเย็นและช่วงกลางคืน และถ้าเมื่อใดก็ตามที่ต้องออกไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด (ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก) หรือผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย ท้องเดิน ก็ต้องพยายามดื่มน้ำทดแทนให้มากพอ ซึ่งคำว่ามากพอในที่นี้หมายถึง ดื่มน้ำจนหายกระหายน้ำ หรืออาจจะให้แพทย์แนะนำว่าในผู้ป่วยแต่ละรายควรดื่มน้ำมากน้อยเพียงใดจึงจะพอ






หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไปมาก ทำให้ขาดน้ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อาการของเบาจืดก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
พักผ่อนให้เพียงพอ ด้วยการดื่มน้ำให้น้อยลงหรืองดดื่มน้ำก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งในการตื่นมาปัสสาวะ
ผู้ป่วยควรพกบัตร ข้อความ หรือเอกสารที่ระบุว่าตัวเองเป็นใคร เป็นโรคอะไร รับประทานยาอะไร และรักษาอยู่ที่ไหนติดตัวไว้อยู่เสมอ เผื่อเกิดภาวะฉุกเฉินจากการขาดน้ำจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
รับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้เกลือแร่ที่เพียงพอ
ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรืออาการต่าง ๆ เลวลง หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
โรคนี้เมื่อได้รับการรักษาแล้ว อาการมักจะทุเลาได้ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ส่วนการรักษาจะนานเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาไม่นานและรักษาจนหายขาดได้ แต่บางรายก็อาจต้องใช้ยารักษาไปตลอดชีวิต

วิธีป้องกันโรคเบาจืด
เมื่อรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรคเบาจืดแล้วก็จะทราบว่าโรคนี้ค่อนข้างจะป้องกันได้ยาก เพราะจะเกิดจากความผิดปกติทางสมองเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่เราทำได้ในเบื้องต้นก็คือ การป้องกันที่สาเหตุดังกล่าวที่เราสามารถป้องกันได้ เช่น การระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางสมองหรือที่ศีรษะ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง การป้องกันการติดเชื้อในสมองและในไต การป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต เป็นต้น ร่วมไปกับการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและรักษาสุขภาพจิตให้ดี

ขอบคุณที่มา....MedThai


บันทึกการเข้า
ผู้บริหารเว็บ
คะแนนน้ำใจ 65535
เหรียญรางวัล:
PJ ดีเด่นนักอ่านยอดเยี่ยมผู้ดูแลเว็บ
กระทู้: 18,136
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สาวหวาน กับ ความฝันไม่รู้จบ "
   
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2561, 09:50:25 AM »

Permalink: Re: โรค เบาจืด
303
บันทึกการเข้า


♪♪♪ รวมบทกลอนน้องจ๋า คลิกค่ะ ...

ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจากYouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: